1/03/2555

ทำแท้ง มาตรา 21 มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ เหลือบสังคมกลัวบ้านเมืองจะสงบสุข

           จากสถิติการกระทำความผิดในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้กระทำความผิดและหลบหนีคดีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่  และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลงผิดหรือกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองตามขั้นตอน เพื่อกลับมาร่วมกันพัฒนาถิ่นฐานบ้านเมือง  พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑  มาตรา ๒๑  จึงได้ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ ๔ อำเภอในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอจะนะ  นาทวี เทพา  สะบ้าย้อย  และจังหวัดปัตตานีในพื้นที่อำเภอแม่ลาน  ทั้งนี้เพื่อเป็นกฏหมายทางเลือกให้ผู้หลบหนีคดีแต่ได้กลับตัวกลับใจเข้ามามอบตัวต่อทางราชการด้วยความสมัครใจและได้รับความเห็นชอบจากศาล  และพร้อมที่จะเข้ารับการอบรมตามที่กำหนดไม่เกิน ๖ เดือนแทนการจำขัง  ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมแล้วผู้ต้องหาเหล่านั้นก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขดังเดิม

           ห้วงที่ผ่านมาผู้ต้องหาชุดแรกจำนวน ๔ คน ประกอบด้วย นายมะซับรี  กะบูติง นายซุบิร์  สุหลง  นายสะแปอิง  แวและ  และนายอับริก  สหมานกูด ได้สมัครใจเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา ๒๑ โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้ารับการอบรมแทนการจำขัง  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ  ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าว หน้ามาโดยลำดับ จนถึงวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องเพื่อให้ผู้ต้องหายืนยันต่อศาลว่า จะเข้ารับการอบรมแทนการจำขัง ปรากฏว่า ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง ๔ ซึ่งเป็นทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้แถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอรับการอบรมตามมาตรา ๒๑ และขอต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ 

           การกลับคำให้การและขอถอนตัวจากกระบวนการตามมาตรา ๒๑ ดังกล่าวโดยทั่วไปแล้วถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาเอง  แต่กรณีของผู้ต้องหาทั้ง ๔ ซึ่งก่อนหน้านี้มีความสมัครใจและให้การรับสารภาพตามเงื่อนไขของมาตรา ๒๑ แล้ว กลับตัดสินใจเลือกที่จะต่อสู้คดีโดยใช้ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ขณะที่ผู้ต้องหารายหนึ่งระบุว่าช่วงแรกไม่เข้าใจว่ากระบวนการเป็นอย่างไร  เมื่อได้รับการอธิบายจากทนายความแล้วจึงเปลี่ยนใจ  นั่นแสดงให้เห็นว่าทนายความเป็นผู้ชี้นำให้ผู้ต้องหากลับคำให้การ  จึงกลายเป็นคำถามว่า      ทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิมซึ่งเป็นผู้รู้กฏหมาย  และรู้ดีว่าจากการรับสารภาพของ ผู้ต้องหาในขั้นต้น หากต่อสู้คดีตามกฏหมาย ป.วิอาญา อาจนำไปสู่การถูกพิพากษาให้จำคุกตามเหตุแห่งการกระทำผิดได้   แล้วทำไมถึงต้องชี้นำให้ผู้ต้องหาใช้หนทางนี้  ทั้งๆ ที่หน้าที่ของทนายความตามจรรยานั้นต้องช่วยเหลือลูกความให้ได้รับประโยชน์และความเที่ยงธรรมสูงที่สุดแม้ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดก็ตาม  

            เป็นที่ทราบกันดีถึงความพยายามของผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะใช้ทุกวิถีทางทั้งการเกลี้ยกล่อมและข่มขู่เพื่อให้แกนนำแนวร่วมอยู่ภายใต้การควบคุม  ไม่ให้หันไปให้ความร่วมมือกับทางราชการ  สำหรับผู้ต้องหาทั้ง ๔ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นผู้ที่อยู่ในขบวนการแต่กลับตัวกลับใจมาพิสูจน์ตัวเองโดยใช้กระบวนการทางกฏหมาย  และมาตรา ๒๑ ก็เป็นกฏหมายที่ให้โอกาสกับผู้หลงผิดได้มากที่สุดในขณะนี้      จึงเป็นไปได้ว่าหากปล่อยให้ผู้ต้องหาชุดแรกนี้ผ่านกระบวนการไปได้  จะเป็นเหตุให้สมาชิกอื่นๆ  หันมาให้ความร่วมมือกับทางราชการมากขึ้น  และแน่นอนว่าด้วยจำนวนแกนนำแนวร่วมที่ลดลงด้วยการสมัครใจเข้าสู่กระบวนการตาม มาตรา ๒๑ ย่อมส่งผลกระทบต่อขบวนการเป็นอย่างมาก จึงเป็นสาเหตุที่จะต้องทำให้กระบวนการนี้สะดุดลงด้วยวิธีที่น่ารังเกียจเดิมๆ คือ ข่มขู่ผู้ต้องหาทั้ง ๔ และครอบครัวของเขาเหล่านั้นไม่ให้เข้าสู่กระบวนการ  ซึ่งฟังดูสอดคล้องกับความต้องการของทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิมที่พยายามจะทำแท้งมาตรา ๒๑ นี่ให้ได้  โดยไม่สนใจว่าลูกความในความดูแลของตนนั้น ในท้ายที่สุดของการตัดสินคดีตาม ป.วิอาญา จะต้องติดคุกหรือไม่อย่างไร  หรือว่ากลุ่มคนสองกลุ่มที่มีความต้องการคล้ายๆ กันนี้  จะเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่แบ่งงานกันทำก็เป็นเรื่องน่าคิด

             หันมามองในมุมของผู้ต้องหาทั้ง ๔ ที่ขณะนี้เปรียบเสมือน “เหยื่อ” ของความพยายามล้มกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมโดยมาตรา ๒๑ ในครั้งนี้   ความพยายามของกลุ่มบุลคลที่ทำให้เขาเหล่านั้นต้องปฏิเสธโอกาสที่จะได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคมด้วยการเข้ารับการอบรมด้านศาสนาและอาชีพเพียง ๖ เดือน  ซึ่งนอกเหนือจากการที่จะได้ใช้เวลาในการศึกษาด้านศาสนาตามวิถีของมุสลิมที่ดีแล้ว  ยังจะได้รับการฝึกฝนอาชีพตามที่ตนเองถนัดและต้องการ  เพื่อเป็นความรู้ติดตัวไว้ประกอบอาชีพหลังได้รับการปล่อยตัวด้วย   แต่กลับต้องมาต่อสู้คดีตามกระบวนยุติธรรมปกติ  ซึ่งในขั้นต้นอาจไม่ได้รับการประกันตัวเนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิต  และโดยปกติต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายปีซึ่งมากกว่าระยะเวลา ๖ เดือนที่เข้ารับการอบรมอย่างแน่นอน  ซ้ำร้ายกว่านั้น  หากศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริงและพิพากษาให้จำคุก  ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตัดสินใจครั้งนี้   มูลนิธิทนายความมุสลิมจะรับผิดชอบต่อชีวิตของเหยื่อทั้ง ๔ ที่ต้องถูกจองจำอยู่ในคุกเป็นสิบหรือยี่สิบปีได้หรือไม่  

             น่าเสียดายที่มาตรา ๒๑ ซึ่งเป็นกฏหมายที่ดีที่ทางราชการประกาศใช้เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างผู้หลงผิดกับเจ้าหน้าที่ และค่อยๆ ช่วยกันนำความสงบสุขกลับมาสู่พื้นที่อย่างยั่งยืน  กลับมีกลุ่มคนไร้สมองพยายามที่จะทำให้เสื่อมคุณค่าลงไป  ทุกอย่างกำลังไปได้ดีแล้ว  อย่าทำลายบ้านเมือง ทำลายบ้านเกิดที่พวกเรารักต่อไปอีกเลย  หรือหากไม่รู้สึกรู้สาอะไรก็อย่าเอาเท้าราน้ำเลยนะ....ขอร้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น