หลังการตัดสินใจไม่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของผู้ต้องหาฯชุดแรก 4 คนประกอบด้วย นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด ซึ่งได้ยืนยันต่อศาลนาทวีว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 เดือน แต่จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ได้สร้างความกังขาอย่างมากมายให้เกิดขึ้นแก่หน่วยงาน องค์กรภาคประชาชน และหน่วยงานด้านความยุติธรรมที่ได้สนับสนุนการใช้มาตรา 21 มาตลอดห้วง 6 เดือนตั้งแต่เริ่มให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 เข้าสู่กระบวนการ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ กระบวนการทั้งหมดซึ่งมี 6 ขั้นตอน ได้ถูกดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่ายมาตามลำดับ และการขอคำสั่งศาลเป็นขั้นตอนที่ 5 หากผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไม่สมัครใจเข้าร่วมกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น เหตุใดจึงมาปฏิเสธในชั้นศาลซึ่งเกือบเป็นขั้นตอนสุดท้าย ?
ขอย้อนข้อมูลให้ทราบอย่างสั้นๆ อีกนิดว่ามาตรา 21 นั้น เป็นกฏหมายทางเลือกที่อาจเรียกได้อย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า “การนิรโทษกรรม” กับผู้ที่ได้พิสูจน์แล้วว่าได้กระทำผิดไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลงผิดได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองตามขั้นตอน ให้โอกาสที่จะได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคมด้วยการเข้ารับการอบรมด้านศาสนาและอาชีพเพียง ๖ เดือนแทนการถูกจำขัง ซึ่งนอกเหนือจากการที่จะได้ใช้เวลาในการศึกษาด้านศาสนาตามวิถีของมุสลิมที่ดีแล้ว ยังจะได้รับการฝึกฝนอาชีพเป็นความรู้ไว้ประกอบอาชีพหลังจากการฝึกอบรมด้วย หากพิจารณาดูให้ดีกระบวนการตามมาตรา 21 เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดกลับตัวกลับใจ แต่การต่อสู้คดีภายใต้ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามากขนาดนี้
เป็นที่รู้กันว่างานนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรนำในเรื่องการต่อต้านการใช้กฏหมายพิเศษใน จชต. และอยู่เบื้องหลังความพยายามล้มมาตรา 21 มาโดยตลอดได้เผยแพร่ใบแจ้งข่าวชี้แจงกรณีผู้ต้องหาปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 ซึ่งก็เป็นเพียงข้ออ้างลอยๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามีข้อเท็จจริงเพียงใด และเกิดจากความต้องการของผู้ต้องหาจริงหรือไม่
คำชี้แจงของ 2 มูลนิธิระบุว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้ร้องขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม โดยอ้างว่าถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการโดยไม่สมัครใจและไม่เข้าใจขั้นตอน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมทั้งขอเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในคดีอาญาตามปกติเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนต่อไป
อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่ามูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้แสดงบทบาทในการเป็นองค์กรนำต่อต้านการใช้กฏหมายพิเศษใน จชต. มาโดยตลอด ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะประกาศต่ออายุการใช้ พรก.ฉุกเฉินเมื่อเดือน ธ.ค.54 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 มูลนิธิก็ใช้ความพยายามทั้งทางเปิดและวิชามารหลอกล่อมากมาย นำเอาผู้ได้รับผลกระทบออกมาสร้างกระแสให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินให้จงได้ โดยหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องคง พรก.ฉุกเฉินไว้ แต่สุดท้ายก็แพ้ภัยตัวเองเพราะมีประชาชนผู้เสียหายร้องเรียนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่าเรียกรับเงินจากชาวบ้านเพื่อช่วยดำเนินการทางคดี ซึ่งขัดแย้งกับคำแถลงของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่าให้การช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ด้วยขั้นตอนที่ล่าช้าของกระบวนการศาลต่างหากที่ทำให้ส่งผลเสียมากมาย ทั้งที่จริงแล้วเรื่องทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุผลอะไร ชาวบ้านทั่วไปที่เดือนร้อนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแล้วมูลนิธิกระหายเงินในคราบนักบุญนี้ เสนอตัวเข้ามาช่วยเค้ารู้และโดนแบบนี้กันทั่วหน้า ซึ่งงานนี้มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมก็ “เสียรังวัด” ไปเยอะที่โดนสาวไส้ ถึงขนาดออกมาฟาดหัวฟาดหางจะฟ้องร้องผู้ที่มาร้องเรียน ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกลัวจะโดนหางเลขไปด้วยก็เลยต้องหัวหดลดบทบาทลง จนถึงกับต้องดันกลุ่มนักศึกษาให้ออกโรงคัดค้าน พรก.ฉุกเฉินแทน แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 3 เดือนในวันที่ 20 ธ.ค.54
เช่นเดียวกัน การเข้ามาแสดงบทบาททำทีจะให้การช่วยเหลือผู้ต้องหาของ 2 มูลนิธิในครั้งนี้ใครก็เดาได้ว่าย่อมมีอะไรแอบแฝงตามสไตล์ “ไม่ยุ่งถ้าไม่มีผลประโยชน์” เช่นเดิม แล้วผลประโยชน์ที่ว่านี้คืออะไร ? น่าคิดมั้ยล่ะ
ย้อนกลับมาที่คำชี้แจงของ 2 มูลนิธิฯ ว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้ร้องขอความช่วยเหลือมาเองและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีความเป็นห่วงว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนอาจต้องเผชิญกับการคุกคาม บีบคั้น จากการปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 โดยเจ้าหน้าที่หรือบุคคลต่างๆ นั้น ลองพิจารณาอย่างเป็นกลางโดยใช้สติรอบคอบดูว่า จะมีเหตุผลใดที่ผู้ต้องหาซึ่งกำลังจะพ้นความผิดหลังเข้ารับการการอบรมเพียง 6 เดือน แล้วก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขดังเดิม ต้องเรียกร้องให้มาช่วยเหลือเพื่อนำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการตาม ป.วิอาญา ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลที่แน่นอนว่าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เสียค่าใช้จ่ายขณะต่อสู้คดี เสียเวลาประกอบอาชีพ และยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประกอบกับมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการติดคุกตามเหตุแห่งความผิดที่อาจจะติดคุกสิบถึงยี่สิบปี และด้วยเหตุผลนี้คำถามคือ ใครกันแน่ที่เป็นผู้ดึงเอาผู้ต้องหาทั้ง 4 ออกมาจากกระบวนการตามมาตรา 21 ใครกันแน่ที่ไปคุกคาม บีบคั้นเขาเหล่านั้น
ข้อกล่าวอ้างที่ว่าผู้ต้องหาไม่ทราบขั้นตอนและถูกบังคับ ซ้อมทรมานนั้นยิ่งมีความเป็นไปไม่ได้มากที่สุด เพราะเมื่อครั้งที่ผู้ต้องหากลุ่มนี้ถูกจับกุมทั้งหมด 8 ราย แต่มีการตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 เพียงแค่ 4 ราย ส่วนอีก 4 รายไม่สมัครใจ และขอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งการตัดสินใจของผู้ต้องหาทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ผ่านขั้นตอนการชี้แจงกระบวนการนี้ให้ทั้งตัวผู้ต้องหาเองและญาติได้เข้าใจอย่างชัดเจนแล้ว และให้ผู้ต้องหาตัดสินใจว่าจะเลือกใช้กฏหมายใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการนี้ไม่มีการข่มขู่บังคับอย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นผู้ต้องหา 4 คนที่ตัดสินใจใช้กฏหมาย ป.วิอาญา คงต้องเข้ามาร่วมในกระบวนการมาตรา 21 ตั้งแต่แรกแล้ว อีกประการหนึ่งคือการเข้ากระบวนการนี้ประโยชน์เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ไม่ได้เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใด และนี่คือแนวทางการแก้ไขด้วยสันติวิธี เพื่อป้องกันเงื่อนไขด้านความยุติธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่ผ่านมาความพยายามของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในการอาศัยช่องโหว่บนชะตากรรมของผู้ต้องหาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ในกรณีต่างๆ เพื่อหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงคือเม็ดเงินบริจาคจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกประเทศที่หลับหูหลับตาบริจาคให้โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง และทางอ้อมคือเรียกรับจากคู่กรณีในคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่กรณีที่เป็นประชาชนและหน่วยงานของรัฐ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งตอนแรกทางราชการได้ชดใช้ให้จำนวนกว่า 3 ล้านบาทและญาติก็ยินดีที่จะรับเงินชดเชยจำนวนนั้น แต่ภายหลังเมื่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเข้ามาแทรกแซงและเรียกร้องเพิ่มเติมเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านบาท ทำให้คดีต้องเสียเวลายืดยาวออกไปอีก จึงเป็นคำถามว่า เงินส่วนที่เกินนั้นใครจะเรียกร้องเอาบุญคุณ และคงหนีไม่พ้นเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาของทนายความใช่หรือไม่
การกลับคำให้การและขอถอนตัวจากกระบวนการตามมาตรา ๒๑ ดังกล่าวถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา แต่การเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาทั้ง 4 ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ปุถุชนย่อมคิดได้ด้วยสามัญสำนึก ความพยายามใดๆ ที่ 2 มูลนิธิฯ กำลังทำอยู่ ใครก็ไม่มีสิทธิห้ามปราม แต่หากเรื่องนั้นไปก้าวล่วงโดยผิดศีลธรรม นำชะตาชีวิตของเขาเหล่านั้นมาแสวงหาประโยชน์เพื่อกลุ่มบุคคลหรือองค์กรใดๆ คงเป็นเรื่องน่าอับอายและไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่มีความรู้จะหากินบนความทุกข์ยากของผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นพี่น้องร่วมศาสนา จริยธรรมของพวกท่านหายไปไหน หรือว่ามันไม่เคยมีอยู่เลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น