5/03/2555

ระเบิดที่ยะลาและหาดใหญ่ : ความท้าทายที่มุสลิมควรหันมองตนเอง

               ที่มา :  ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
           โดย : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

             ถึงแม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะยังไม่ทราบผู้ลงมืออย่างชัดเจน แต่หลายหน่วยงาน หลายคนพุ่งเป้าความสงสัยไปที่ผู้ก่อการที่ต้องการสถาปนารัฐปาตานีจากกลุ่มบีอาร์เอ็น (แต่ไม่ควรตัดปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ได้รับประโยชน์จากอุตสาหกรรมความมั่นคง) 

         ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม และมุสลิมเองคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายเหตุการณ์ที่ภาคใต้เกิดจากน้ำมือมุสลิม บางคน บางกลุ่ม โดยเฉพาะขบวนการยาเสพติด (ไม่ใช่มุสลิมส่วนใหญ่ที่รักสันติและเข้าใจหลักศาสนา) ดังนั้นหลักการศาสนากับบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องแยกแยะ

            ในขณะเดียวกันมุสลิมเองควรกลับมามองและกล้าวิจารณ์ศาสนิกตนเองเมื่อทำผิดถึง แม้ต้นสายปลายเหตุทุกคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอันเนื่องมาจากมุสลิมถูกกระทำก่อนด้วยเช่นกัน ความอยุติธรรมที่ถูกรังแกก่อนและถูกสั่งสมในชายแดนใต้เป็นสาเหตุที่เติมเชื้อไฟ ในขณะเดียวกันหลักศาสนาอิสลามเองสนับสนุนให้มุสลิมจงพิจารณาตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

             แนวคิดสุดโต่งด้านศาสนาในหมู่มุสลิมย่อมมีปัจจัยเกื้อหนุน  ศ.ดร.ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ (ชาวอียิปต์)ประธานของสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (IAMS) ยอมรับในแนวคิดสุดโต่งในหมู่มุสลิมเองและกล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ ของแนวคิดสุดโต่งและชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามาจาก

 1.การขาดแนวคิดสายกลาง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้แนวคิดอิสลามสายกลางเป็นที่แพร่หลายในหมู่คนหนุ่มสาว เพื่อที่พวกเขาจะพบวิถีทางที่ถูกต้องแทนที่พวกเขาจะทำตัวไม่เปิดเผย ซึ่งการขาดแนวคิดเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้แนวคิดสุดโต่งแทรกเข้ามา

         2.การขาดอุละมาอฺ (นักปราชญ์อิสลามศึกษา) ที่แท้จริง ซึ่งสามารถให้ความเชื่อมั่น (ต่อแนวทางสายกลาง) ด้วยหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ (วจนศาสดา) พวกเขาได้หายไปจากสนามแห่งนี้ จึงเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติที่ถูกเรียกว่าอุละมาอฺซึ่งทำงานเพื่อผู้ที่มีอำนาจ ดังนั้น คนหนุ่มสาวจึงสูญเสียความเชื่อมั่นไป และได้ตั้งตัวพวกเขากันเองให้เป็นชัยคฺ (คือเป็นโต๊ะครูหรือนักปราชญ์อิสลามศึกษา) ในการฟัตวา (วินิจฉัยหลักศาสนา) ประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน

           3.การแพร่กระจายของความชั่วร้ายและเพิ่มขึ้นของการกดขี่ในสังคมเป็นเหตุผลที่สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงดังนั้นในชุมชนมุสลิมจะต้องให้ความเข้าใจในหลักการศาสนาที่ถูกต้องแก่คนรุ่นหนุ่มสาว และคนที่ต้องแบกภาระดังกล่าวคืออุลามาอฺหรือปราชญ์ด้านศาสนา เพราะผู้นำศาสนาคือผู้รับมรดกจากศาสดา

     ความเป็นจริงหลักคำสอนของอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติ มันไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนที่จะถือว่าอิสลามเป็นที่มาของคำว่า "ลัทธิก่อการร้าย" หรือ "ลัทธิสุดโต่ง" ศาสดาแห่งอิสลามได้กล่าวว่า "ศาสนาที่ถูกประทานแก่ฉันเป็นศาสนาแห่งความกรุณาปราณีและใจกว้าง"

   ศ.ดร.มะฮฺมูด ฮัมดี ซักซูก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติ แห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ กล่าวว่า อิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้มีความกรุณาปราณี และส่งเสริมให้มีความยุติธรรมและสันติภาพ นอกจากนั้นอิสลามยังพิทักษ์รักษาเสรีภาพ เกียรติยศ และความมีศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นเพียงคำขวัญ แต่เป็นหลักการที่อิสลามยึดเหนี่ยวอยู่ด้วย       

         พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ส่งศาสดามุฮัมมัด ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันบิยาอฺ โองการที่ 107 ความว่า"และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย" และศาสดาทรงตรัสเช่นเดียวกันว่า "ตัวฉันเองได้ถูกส่งมาเพื่อทำให้จรรยาบรรณที่สูงส่งนั้นสมบูรณ์ยิ่ง"

            มีการเปรียบเทียบกันระหว่างความศรัทธาในศาสนาอิสลามและสันติภาพ ในภาษาอาหรับ ทั้งสองคำคือ"อิสลาม" และ "สลาม" แปลว่า "สันติภาพ" และมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกล่าวถึงพระองค์เองในคัมภีร์อัลกุรอานว่า สันติภาพเมื่อบรรดามุสลิมทักทายกันก็จะทักทายกันด้วยการให้สลาม (อัสลามุอะลัยกุม แปลว่าขอความสันติจงประสบแด่ท่าน) เสมือนเป็นการเตือนอยู่เสมอว่า ความสันตินั้นเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญของอิสลามที่จะต้องเก็บรักษาไว้ในจิตใจของมุสลิมทุกคน มุสลิมทุกคนเมื่อละหมาดวันละ เวลาก็จะจบการละหมาดลงด้วยการให้สลามโดยการหันหน้าไปทางขวา และหันหน้าไปทางซ้ายพร้อมกับกล่าวสลาม (ความสันติ)

           อิสลามเป็นศาสนาที่รักความสันติโดยไม่เปิดช่องให้ใช้ความรุนแรง ความบ้าระห่ำ การก่อการร้าย หรือการโจมตีบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม คำสั่งสอนและหลักการของอิสลามมุ่งที่จะพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งหมายรวมถึงสิทธิในชีวิต ครอบครัว ความเชื่อ ความคิด และทรัพย์สิน หลักการศรัทธาในอิสลามห้ามไม่ให้มีการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งการทำร้ายผู้อื่นนั้นเปรียบเสมือนการทำร้ายมนุษยชาติ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮฺมาอีดะฮฺ  โองการที่  34  ความว่า        
    "แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่ทดแทนอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล"

        
          ดังนั้นปัจเจกชนจึงเป็นเรื่องของมนุษยธรรมและความห่วงใยของศาสนาอิสลามในเรื่องการพิทักษ์รักษามนุษยธรรม จึงปรากฏอยู่ในการที่มนุษย์คนหนึ่งให้ความเคารพต่อมนุษย์อีกคนหนึ่งโดยการเคารพถึงเสรีภาพ ความมีศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนของเขา ศาสดาได้ทรงตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า "มุสลิมนั้นห้ามที่จะมีการนองเลือด ลักทรัพย์ หรือทำลายเกียรติภูมิของมุสลิมด้วยกัน"

          นอกจากนั้นศาสดายังได้ทรงตรัสอีกว่า "ผู้ใดที่ทำลายล้างผู้ซึ่งนับถือพระผู้เป็นเจ้า จะไม่ได้รับการให้อภัยในเรื่องของการทำร้ายนั้นในวันพิพากษา"

           ศาสนาอิสลามได้เรียกร้องให้ทุกๆ ประชาชาติและเชื้อชาติอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี อีกทั้งให้มุสลิมปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมด้วยความยุติธรรม ดังมีหลักฐานปรากฏใน ซูเราะฮฺที่ 60 โองการอัลกุรอานที่ ความว่า "พระองค์อัลลอฮฺ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม"

          ความรับผิดชอบที่จะรักษาสมาชิกของประชาคมใดๆ เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในประชาคมนั้นๆ การรับผิดชอบร่วมกันจึงเป็นหนทางเดียวที่จะให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพ เพื่อที่จะไม่ให้มีการโกงกินกัน มีอันตรายมาคุกคาม และเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมทรามลง
     
           ในอีกตอนหนึ่ง ศาสดาได้ทรงเปรียบเทียบพวกเราทุกคนเสมือนกับบุคคลที่นั่งอยู่เต็มเรือ โดยมีคนจำนวนหนึ่งอยู่บนดาดฟ้าของเรือ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ภายในเรือลำนั้น เมื่อคนที่อยู่ในเรือต้องการน้ำดื่ม จึงขึ้นไปหาคนที่อยู่บนดาดฟ้าแล้วบอกว่า เขาสามารถหาน้ำดื่มได้โดยการเจาะรูที่ท้องเรือ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นเขาไม่ต้องการที่จะทำลายบุคคลที่อยู่ข้างบน แต่หากบุคคลที่อยู่บนดาดฟ้าอนุญาตให้เจาะรูที่ท้องเรือได้ ทุกคนก็จะต้องจมน้ำตายหมด

              ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าในคำภีร์กุรอานของอิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้ เพื่อปลดปล่อยตัวเอง และสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่และได้รับความ เดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด แต่การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาดในภาษาอาหรับ" (การก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม
    
           มีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆ ไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเอง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุน เพราะอัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า "เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่า 'จงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดินพวกเขากล่าวว่า 'เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆ ต่างหากแท้จริงพวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่" (ซูเราะฮฺอัลบาเกาะเราะ :11-12)

     ที่ประชุมภายใต้วัตถุประสงค์พิเศษของผู้นำชาติมุสลิมที่นครมักกะฮ์  ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตามคำร้องขอของ กษัตริย์อับดุลเลาะห์ บิน อับดุล อาซิส แห่งซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 7-8 ธ.ค.2548 ได้ประกาศ "ปฏิญญาเมกกะฮ์" ยอมรับว่ามีมุสลิมหลายคนและหลายกลุ่มมีแนวคิดสุดโต่ง

                 เป้าหมายของการประชุมเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย ทั้งนี้ผู้นำของ 57 ชาติสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) ได้เน้นแนวทางสันติของอิสลาม โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาวิธีคิดแบบสุดขั้วของกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งพยายามตอบคำถามกรณีที่มีผู้พยายามนำศาสนาอิสลามไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย โดยที่ประชุมเน้นเป็นพิเศษถึงเรื่องการ "ฟัตวา" (Fatwas) หรือการชี้ขาดปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามว่า ต้องดำเนินการโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับเท่านั้น
        
               ซาอุด อัล-ไฟซาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดิอา ระเบีย เสนอให้จัดตั้ง "สถาบันนิติศาสตร์อิสลาม" ของโอไอซี "ให้เป็นองค์กรอ้างอิงสูงสุด....เพื่อกำหนดวิธีการที่จะระงับการตีความและการชี้ขาดที่แตกต่างกัน จนขยายกลายเป็นความขัดแย้ง"

                ใน "ปฏิญญาเมกกะฮ์" ดังกล่าวได้เรียกร้องให้ชาติมุสลิม "ต่อสู้อย่างแข็งขันกับคำสอนที่บิดเบือนหลักการสันติของอิสลาม"  และสร้าง "สามัคคีมหาประชาชาติ"  เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายและสนับสนุนข้อ เสนอของซาอุดิอารเบีย ให้จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
    
                การระเบิดที่หาดใหญ่หรือที่ไหนๆ ที่ทำให้ผู้บริสุทธิเสียชีวิตจะเรียกว่าญิฮาดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสงครามใดในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นที่ภาคใต้ของไทยหรือต่างประเทศ หากไม่ได้อยู่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฏเกณฑ์ญิฮาดตามหลักศาสนบัญญัติ ย่อมหมายถึงการก่อการร้าย (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐหรือผู้ก่อการ)
     
               เหตุการณ์ระเบิดที่หาดใหญ่ไม่เพียงว่าไม่เรียกว่าญิฮาด และไม่สมควรเรียกว่านักรบเพื่อพระเจ้าหรือศาสนา แต่จำเป็นต้องออกมาประณามดังที่ปราชญ์โลกมุสลิมเคยประณามการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ของมุสลิมเอง เช่น ชัยคฺซัลมาน อัลเอาดะฮฺ ได้ประณามผุ้ระเบิดทำลายผู้บริสุทธิ์อย่างรุนแรงถึงแม้จะเป็นต่างศาสนิกผ่านเว็บไซต์www.islamtoday.net ของท่าน

                  "... เรื่องราวได้เกินเลยขอบเขตของความสมเหตุสมเหตุผลโดยที่ไม่ต้องกล่าวถึงกฏหมายของอิสลาม(ชะริอะฮฺ)เลย...พวกเขาไม่ได้ทำความเสื่อมเสียเฉพาะแก่ตัวพวกเขาเองเท่านั้น แต่จะเกิดแก่มุสลิมทั่วทั้งโลก ผลการกระทำของพวกเขาทำให้เกิดความอับอาย...ฉันเรียกร้องผู้ที่ทำสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดคือ การพิจารณาถึงเกียรติยศและศักดิศรีของมุสลิม..."
     
                   ชัยคฺ ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ เรียกร้องให้มุสลิมหยุดใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งมันจะทำความหม่นหมองให้กับภาพลักษณ์ของอิสลามและนำอิสลามข้องเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้าย        

             "ฉันขอเรียกร้องให้พวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ ซบ. และหยุดการกระทำของพวกเขาเถิด ซึ่งมันจะตีตราอย่างอธรรมต่ออิสลามและเป็นการเสียหายแก่ผู้ที่ยึดมั่นอิสลาม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น