โจรใต้เหิมเกริมขึ้นเรื่อย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 5,469 ราย และบาดเจ็บอีก 9,653 ราย {1} รัฐบาลใช้เงินแก้ปัญหาไปถึง 145,000 ล้านบาท ณ ปี 2554 {2} เมื่อถึงสิ้นปี 2555 อาจใช้เงินถึง 200,000 ล้านบาท จะแก้ปัญหาโจรใต้อย่างไรดี
ปัญหาโจรใต้มองได้ในหลายแง่มุม บ้างก็ว่าเป็นปัญหาเชื้อชาติและศาสนา แต่ในประวัติศาสตร์พื้นที่นี้ก็ไม่มีใครผูกขาด เปลี่ยนคนเปลี่ยนศาสนามาหลายครั้งแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีปัญหารุนแรงทางเชื้อชาติ ศาสนาเช่นที่เกิดขึ้นในมาเลเซียหรืออินโดนีเซียที่กดขี่ เข่นฆ่าและขูดรีดคนจีนและคนฮินดู นอกจากนี้หลายคนยังตั้งข้อสังเกตว่าปัญหานี้แก้ไม่ตกก็เพราะการ “เลี้ยงไข้” คือพยายามให้ปัญหาคงอยู่นานๆ เพื่อกอบโกยงบประมาณแผ่นดินเข้าตัว ฯลฯ
แต่เศรษฐกิจก็เป็นแง่มุมหนึ่งที่พึงพิจารณา มาเลเซียมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าไทยถึงเกือบเท่าตัว ในสมัยที่ไทยมีฐานะดีกว่า ตนกู อับดุล ระห์มัน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังเคยมาศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ {3} ถ้ามาเลเซียจนเช่นพม่า ลาว กัมพูชา ปัญหาคงไม่เกิด ชาวมาเลย์คงเต็มใจอยู่และทำงานในไทยเช่นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอื่น
ทางออกของปัญหาโจรใต้ก็มองได้ในหลายแง่มุม บางท่านไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามเพราะเกรงปัญหาลุกลาม กลัวละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ประสบการณ์ทั่วโลกชี้ว่าการปราบเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหา
1. กรณีกบฎอาเจะห์ ชาวอาเจะห์เคยเป็นอิสระและสมัครใจรวมกับอินโดนีเซียในปี พ.ศ.2502 แต่พอต้องการแยกตัว ซึ่งพวกเขามีความชอบธรรมที่จะทำเช่นนั้น อินโดนีเซียกลับไม่ยอม ส่งทหารเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 15,000 คน หลายคนเข้าใจผิดว่ากบฏอาเจะห์สงบลงเพราะการเจรจาและการล้างปัญหาโดยสึนามิ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า ในช่วงปี พ.ศ.2545-2547 กบฎถูกปราบหนักจนแทบราบคาบ ผู้นำใหญ่เสียชีวิต และพอเกิดสึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ.2547 ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปราว 200,000 คนจาก 4,400,000 คน ไฟกบฎก็มอดสนิทในที่สุด {4}
2. กรณีกบฎพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ระหว่างชาวทมิฬผู้นับถือศาสนาฮินดูกับชาวสิงหลผู้นับถือศาสนาพุทธจนลุกลามเข้ากรุงโคลอมโบ มีอยู่ช่วงหนึ่งตำรวจต้องถือปืนกลคอยตรวจตราตามสี่แยกเพราะอาจถูกโจมตีได้ตลอดเวลา สนามบินก็ปิดในช่วงค่ำด้วยฝ่ายกบฏซึ่งมีสนามบินของตนเอง อาจใช้ความมืดลอบบินมาถล่มได้ มีการเจรจาสงบศึกในประเทศไทย 2-3 หน แต่ในที่สุดรัฐบาลศรีลังกาก็ส่งทหารเข้าปราบเด็ดขาด หัวหน้ากบฎและพลพรรคถูกปลิดชีพเป็นจำนวนมาก ในครั้งนั้นองค์การสหประชาชาติ “เต้น” อยู่พักหนึ่ง หาว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แต่ก็เงียบไปและศรีลังกาก็คืนสู่ความสงบในที่สุด {5}
3. กรณีคอมมิวนิสต์ไทย นับแต่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในปี พ.ศ.2508 คอมมิวนิสต์ไทยก็ขยายตัวต่อเนื่อง ยิ่งเกิดกรณีการปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ยิ่งทำให้มีแนวร่วมเพิ่มขึ้น แต่ไม่กี่ปีต่อมาการต่อสู้ก็จบสิ้นลง หลายคนเข้าใจว่าความสงบเกิดจากนโยบาย 66/2523 {6} ที่ประนีประนอม แต่ความจริงคอมมิวนิสต์ไทยหมดโอกาสชนะแล้วเพราะเกิดความขัดแย้งในหมู่ประเทศสังคมนิยม และรัฐบาลไทยยังสามารถเจรจากับรัฐบาลจีนได้สำเร็จ ดังนั้นพวกเขาจึงยอมวางอาวุธในที่สุด
ต่อกรณีโจรใต้ของไทย การใช้ไม้นวม-เจรจาเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่อย่าไปหลงใหลเพราะเป็นการซื้อเวลาบ่มเพาะโจรให้เติบใหญ่ คนไทยต้องสามัคคีกันให้เกิดพลังเข้มแข็ง หากอ่อนแอตีกันเอง ก็จะเกิดการแยกตัวเช่นกรณีรัสเซีย หรือยูโกสลาเวีย หากจีนอ่อนแอ ป่านนี้คงมีการแยกเป็นประเทศทิเบต ซินเกียง หรือมองโกเลียในไปแล้ว
ในปัจจุบันประเทศตะวันออกกลาง ก็ไม่ได้มีเอกภาพเช่นแต่ก่อน ไม่ได้ส่งเสริมการก่อการร้ายเช่นพวกผู้เผด็จการเดิม และต่างพยายาม “กวาดบ้านตนเอง” มากกว่าที่จะมาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องปราบโจรใต้อย่างเด็ดขาด แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้อริราชศัตรูเพื่อนบ้านที่หนุนหลังโจรใต้ครั่นคร้าม ไม่กล้าเสี่ยงกับสงครามโดยไม่จำเป็น และทำให้โจรใต้หมดไปในที่สุด
ที่มา ดร.โสภณ พรโชคชัย