พลันที่การเริ่มใช้แนวทางสันติวิธีโดยการพูดคุยสันติภาพระหว่าง
สมช. และผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 28 ก.พ.56 กระแสวิพากษ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะนำความสงบสุขกลับมาสู่ภาคใต้ของประเทศไทย
โดยเฉพาะความหวังในการใช้ชีวิตแบบปกติสุขของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุรุนแรงที่ยื้ดเยื้อมาถึง
9 ปี พร้อมด้วยหลายพันชีวิตที่ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตไปก็เริ่มต้นขึ้น แต่ถึงวันนี้การพูดคุยสันติภาพผ่านไปแล้วถึง
3 ครั้ง
เค้าลางแห่งสันติภาพที่หลายฝ่ายคาดหวังยังคงไม่ปรากฏแต่อย่างใด ตรงกันข้ามการเรียกร้องซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้คำว่า
“ข้อเสนอ”
กลับเป็นเหมือนสิ่งฉุดรั้งไม่ให้กระบวนการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 ฝ่ายได้
ด้วยข้อเสนอทั้ง
5 ข้อที่ฝ่ายขบวนการเสนอต่อรัฐบาลไทยนั้น หลายฝ่ายทั้งนักวิชาการในและนอกพื้นที่
ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนหรือแม้แต่การพูดคุยในร้านน้ำชายังคงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปไม่ได้ในหลายประเด็น
โดยเฉพาะข้อเสนอข้อ 4 ให้ปล่อยตัวแนวร่วมที่ถูกคุมขังโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะนอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนแล้วยังขัดต่อความรู้สึกของประชาชนซึ่งเป็นผู้สูญเสียด้วย
ลองจินตนาการดูซิว่า
คนที่ฆ่าพ่อแม่พี่น้องของประชาชนในพื้นที่
สร้างความสูญเสียให้กับบ้านเมืองอย่างสุดประมาณ
แทนที่จะต้องชดใช้กรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำอย่างเลวทรามไว้
แต่สามารถรอดพ้นอาญาบ้านเมืองเหมือนไม่ได้เคยกระทำผิด ประชาชนผู้สูญเสียเหล่านั้นจะมีความรู้สึกอย่างไร
สภาพจิตวิทยาสังคมจะย่ำแย่ขนาดไหน
สำคัญที่สุดไม่ว่าอาชญากรเหล่านี้จะกระทำด้วยอุดมการณ์ตามที่กล่าวอ้างหรือด้วยเหตุผลใดๆ
แต่สิ่งที่กลุ่มขบวนการนี้ได้กระทำคือผู้สังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์
ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องคงรับรู้จากการแสดงทัศนะของส่วนต่างๆ
ได้จากการนำเสนอของทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกว่าไม่มีใครเห็นด้วย เพราะแม้แต่สื่อที่มีพฤติกรรมสนับสนุนฝ่ายขบวนการเองก็ยังแสดงความเห็นแบบแบ่งรับแบ่งสู้
การชิงความได้เปรียบอย่างน่ารังเกียจของขบวนการก่อนการพูดคุยในวันที่
13 มิ.ย.56 โดยผู้แทนขบวนการได้เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านเว็ปไซต์ยูทูปติดต่อกันหลายตอน
ดูจะยืนยันความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกันของขบวนการได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ชี้ชัดคือการพูดคุยที่เกิดขึ้นนี้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องใช้การพูดคุยบนโต๊ะตามกระบวนการที่จัดวางไว้เท่านั้น แต่ขบวนการกลับใช้วิธีเปิดเผยผ่านสื่อด้วยข้อมูลหลักคือ
ย้ำความต้องการในข้อเสนอ 5 ข้อ
และกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในพื้นที่โดยเฉพาะการยิง 6
ศพที่ปัตตานี สิ่งนี้ชี้ชัดถึงความไม่จริงใจใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรกข้อเสนอทั้ง
5 ข้อของขบวนการไม่มีข้อใดเลยที่กล่าวถึงแนวทางในการลดการใช้ความรุนแรงการหยุดก่อเหตุร้ายที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งๆ ที่ขบวนการเองเป็นฝ่ายกระทำมาอย่างต่อเนื่อง
ตรงกันข้ามกลับเร่งเพิ่มความถี่ในการก่อเหตุมากขึ้น เพื่อกดดันฝ่ายรัฐบาลให้ยอมรับข้อเสนอที่นอกจากไม่มีใครเห็นด้วยแล้วยังเอื้อประโยชน์ให้กับขบวนการและแนวร่วมเพียงฝ่ายเดียว
และที่น่าจะเข้าตัวผู้แถลงคือนายฮาซัน ตอยิบ กรณีกล่าวว่ากระบวนการสันติภาพควรเป็นวาระแห่งชาติ
ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อล้างบาปหรือความโลภของคนใดคนหนึ่ง แล้วข้อเสนอข้อที่ 4 มิใช่เครื่องมือล้างบาปให้กับกลุ่มขบวนการหรือ
นี่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างแท้จริง
ประเด็นที่สอง ความพยายามในการบิดเบือนข้อมูลการก่อเหตุผ่านโซเซียลมีเดียเพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาคมโลก
เช่น กรณียิง 6 ศพ ก็ปรากฏชัดเจนแล้วว่าอาวุธที่คนร้ายใช้นั้นมีหลักฐานการเชื่อมโยงคดีโดยเฉพาะกระสุนและปลอกกระสุน
พบว่าปืนที่ใช้จำนวน 1 กระบอก มีหลักฐานปรากฎเคยใช้ก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง
รวมถึงการใช้ยิงนายยะโก๊ป หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีและบุตรสาว
เมื่อ 11 ต.ค.53 รวมทั้ง 6 ศพล่าสุดซึ่งมีเด็กอายุเพียง
2 ขวบเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม ดังนั้นการกล่าวในลักษณะข่มขู่ตอบโต้ กล่าวหารัฐไทยว่าใช้ความรุนแรงกับประชาชนปาตานี
จึงเป็นเพียงต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อยกระดับกลุ่มของตนให้ได้รับการยอมรับเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงขบวนการบีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่นๆ
ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยความแตกแยกภายในขบวนการนั้นเองที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงโดยไม่เลือกเป้าหมายมาโดยตลอด
จากบทเรียนการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในโลกนั้นบางแห่งต้องใช้เวลายาวนาน
และด้วยความจริงที่ว่าการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ทั้งสองฝ่ายหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ การใช้วิธีเยี่ยงผู้มากด้วยเล่ห์กลของผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็น
ด้วยข้อเสนอที่เห็นแก่ตัวและการกล่าวหาโดยให้ข้อมูลด้านเดียวย่อมมิใช่วิถีของผู้ต้องการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีของผู้ที่เจริญแล้ว หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความแข็งกร้าวไม่ใช้กระบวนการพูดคุยอย่างถูกต้อง
บทบาทและการกระทำของบีอาร์เอ็นวันนี้จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความพยายามในการสร้างสันติภาพ
แต่เป็นความอหังการชอบใช้ความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องบาดเจ็บล้มตายมากกว่า
ซอเก๊าะ นิรนาม
ซอเก๊าะ นิรนาม