สถานการณ์ความรุนแรงในช่วง “เดือนรอมฎอน”
ปีนี้ มีเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงเพียงกี่เหตุการณ์ ซึ่งก่อนหน้าที่เข้าสู่เดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมหลายฝ่าย
โดยเฉพาะหน่วยข่าวความมั่นคง ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าว่า
จะเกิดเหตุของความรุนแรงมากขึ้น โดยมีสาเหตุจาก “โต๊ะพูดคุยสันติสุข”
ที่ต้องหยุดชะงัก เพราะฝ่ายไทยไม่ยอมลงนามใน “โอทีอาร์”
ตามที่ “กลุ่มมาราปาตานี” ต้องการ
แต่สุดท้ายเหตุร้ายในช่วงเดือนรอมฎอนของปีนี้ก็ลดจำนวนการก่อเหตุลง
ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีในพื้นที่ เพราะไม่ต้องสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ
และประชาชน รวมทั้งทรัพย์ทั้งของทางราชการและของประชาชน
สาเหตุของสถานการณ์การก่อเหตุร้ายในช่วงเดือนรอมฎอนที่ลดลง
อาจจะไม่ใช่เป็นความต้องการของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่
เนื่องจากที่ผ่านมา แนวร่วมในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวที่จะพยายามก่อ “เหตุร้ายรายวัน”
เพื่อให้เห็นถึง “ความขัดแย้ง” ในพื้นที่จนเกิดความรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้
การที่สถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้เหตุร้ายลดลง และก็เป็นเช่นเดียวกับปี 2558
ที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการทำงานหนังของเจ้าหน้าที่ 2 ฝ่ายด้วยกัน
ฝ่ายที่ทำงานหนักในพื้นที่เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย
ทั้งในเขตเมือง และในอำเภอรอบนอก คือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ซึ่งมี
“พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์” แม่ทัพภาคที่
4 ทำหน้าที่
ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือเป็น “โต้โผใหญ่”
ในการใช้ยุทธวิธีทั้งการควบคุมพื้นที่ ควบคุมความเคลื่อนไหวของ “แกนนำ”
และ “แนวร่วม” และติดตามตรวจค้น
ไล่ล่า กองกำลังติดอาวุธของ “บีอาร์เอ็น” ในเทือกเขาต่างๆ
ในพื้นที่
ซึ่งถือว่าได้ผล
เพราะมีการจับกุม ตรวจค้น ยึดอาวุธ
และยุทโธปกรณ์ที่แนวร่วมใช้ในการก่อเหตุร้ายได้จำนวนหนึ่ง
และสามารถทำให้การเคลื่อนไหวของแนวร่วมอยู่ในวงจำกัด จนสุดท้ายแนวร่วมต้องใช้วิธีการเดิมที่เคยใช้มาแล้วเมื่อ
2 ปีก่อน นั่นคือ “ปฏิบัติการทางน้ำ” วางระเบิดเรือประมง
เป็นการก่อเหตุร้ายเพื่อการ “เลี้ยงกระแส” เอาไว้
และส่วนที่
2 ที่อยู่เบื้องหลังในการทำให้เหตุร้ายลดลงคือ “คณะพูดคุยสันติสุข”
ที่มี “พล.อ.อักษรา เกิดผล” ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งยังคงเดินหน้าในการพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะไม่มี “การลงนาม” ในร่างที่โออาร์ตามความต้องการของกลุ่มมาราปาตานีก็ตาม
เพราะการที่ไม่ได้มีการลงนามในร่างทีโออาร์
ไม่ได้หมายความว่า การพูดคุยจะจบสิ้นไปแล้วตามที่มีการ “ตีความ”
หรือเข้าใจกัน
เพราะฝ่ายของกลุ่มมาราปาตานีเองก็เข้าใจถึงสาเหตุของการที่ยังไม่สามารถลงนามในทีโออาร์ดังกล่าว
เพราะหลังจากที่มีการพูดคุย
และไม่ได้ลงนามในร่างทีโออาร์ในฉบับดังกล่าว กระบวนการพูดคุยที่มี พล.อ.อักษรา
เป็นหัวหน้าคณะยังคงมีการประสานงาน และพูดคุย 3 ฝ่ายต่อเนื่อง แม้เป็นการพูดคุยแบบ
“ไม่เป็นทางการ” แต่สามารถที่จะ
“ขับเคลื่อน” ให้การพูดคุยมีความก้าวหน้า
เพื่อที่จะทำการพูดคุยอย่าง “เป็นทางการ” อีกครั้ง
หลังจากที่ทุกฝ่าย หรือทุกกลุ่มมีความเข้าใจตรงกัน
โดยข้อเท็จจริงของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
และความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่สันติสุขของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วิธีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอาจจะมีประโยชน์ที่ดีกว่าการพูดคุยแบบเป็นทางการ ซึ่งบางครั้งการพูดคุยเพื่อ
“ออกทีวี” ให้ทั่วโลกเห็นนั้น
อาจจะเป็นเพียงเรื่องของ “การสร้างภาพ” เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม
การพูดคุยยังคงดำเนินต่อไป เพราะการพูดคุยคือ “ทางออก”
จากความขัดแย้ง จากความรุนแรงที่ดีที่สุด
เพราะเป็นการหยุดความรุนแรงโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เสียชีวิต
และไม่ต้องมีการบาดเจ็บล้มตายทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน
และที่สำคัญนั่นคือ
เป็นการ “ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน” ซึ่งงบประมาณที่ว่านี้ไม่ได้เป็นของรัฐบาล
ไม่ได้เป็นกองทัพ แต่เป็นเงินภาษีของคนไทยทุกคน และที่สำคัญวันนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างสนับสนุนให้รัฐบาล
และกองทัพแก้ปัญหาความรุนแรง หรือ “ดับไฟใต้” ด้วย
“การพูดคุย” มากกว่า
“การสู้รบ”
หากในที่สุดถ้าถึงจุดสุดท้ายแล้ว
การพูดคุยหรือการใช้ “ยุทธศาสตร์ทางการเมือง” หรือ
“ยุทธการน้ำลาย” บนโต๊ะเจรจาไม่ได้ผล
เพราะเกิดจาก “ความไม่จริงใจ” ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ซึ่งก็น่าจะไม่ใช่ “ฝ่ายเรา” วิธีการดับไฟใต้ด้วยการใช้
“การทหาร” คือวิธีการสุดท้ายที่ต้องทำ
ซึ่งหากถึงวันนั้นจริงคงจะไม่มีใครในพื้นที่แสดงความ “ไม่เห็นด้วย”
เพราะคนในพื้นที่ต่างต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้น
ยกเว้นก็แต่ผู้ที่แสวงหา
“กำไร” หรือ “แสวงหาผลประโยชน์”
บนหยาดเลือด คราบน้ำตา และซากศพของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน
ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ที่วันนี้ยังคง “ลอยนวล”
อยู่บน “ความร่ำรวย” บนความ
“เสดสา” ของคนในพื้นที่
นั่นคือ
“ภาพรวม” ของสถานการณ์ความรุนแรงที่มีแนวโน้มไปในทิศทางของการเป็น
“บวก”
แต่ก็ยังมีปรากฏการณ์เล็กๆ
ในพื้นที่ ซึ่งเกิดจาก “ความไม่เข้าใจ” กันระหว่างกลุ่มคนที่ทำงาน
“ด้านสิทธิมนุษยชน” กับ
“กองทัพ” ที่มีการทำรายงานสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการ
“ซ้อม” และ “ทรมาน”
จนในที่สุดทั้ง
2 ฝ่ายไม่สามารถที่จะ “พูดคุย” กันด้วย
“ภาษาดอกไม้” รู้เรื่อง
และลงเอยด้วยการที่กองทัพต้องพึ่ง “กระบวนการยุติธรรม” ในการ
“พิสูจน์” ความจริง
ด้วยการ “แจ้งความดำเนินคดี” ต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
น่าจะเป็น
“ครั้งแรก” ที่กองทัพดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากที่เคยมีเหตุของความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน โดยมี “ชุดความจริง”
คนละชุดในมือของทั้ง 2 ฝ่าย
ทางออกของเรื่องดังกล่าวนั้น
เมื่อมาถึง “จุดนี้” คงยากที่จะไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อหาข้อยุติว่า
สิ่งที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนทำรายงาน และเผยแพร่ไปทั่วเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ
ในขณะที่กลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเองก็ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้กระบวนการยุติธรรมเห็นว่า
สิ่งที่ได้สืบค้น และนำไปเผยแพร่จนกองทัพเห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นเรื่องจริง
แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างคนทำงานในกลุ่มสิทธิมนุษยชนกับกองทัพ
เป็นสิ่งที่ทำให้บรรยากาศของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “อึมครึม”
มากขึ้นไปอีก
แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่
“เป็นประโยชน์” ต่อ
“ทุกฝ่าย” เพราะถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ยังมีการซ้อมทรมานผู้ที่ถูกกล่าวหา
และผู้ต้องหาจริง
กองทัพจะต้องรับผิดชอบทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน
ต้องรับผิดต่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย และรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
แต่ถ้าบทสรุปจากกระบวนการยุทธิธรรมว่า
รายงานดังกล่าว “เกินเลย” จากข้อเท็จจริง
คนทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนก็จะได้มองเห็น “ความบกพร่อง” ของกระบวนการในการทำหน้าที่
และนำไปสู่ “การแก้ไข” ในที่สุด
เพียงแต่ในขณะนี้ในระหว่างที่กระบวนการยุติธรรมเพิ่มเริ่มต้นและยังไม่จบ
ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ควรที่จะ “เคลื่อนไหว” เพื่อชิง
“ความได้เปรียบ-เสียเปรียบ” จนสร้าง
“ความสับสน” ให้คนในพื้นที่
และสังคมส่วนร่วม
เพราะวิธีการดังกล่าวคือ
การ “ซ้ำเติม” สถานการณ์ในพื้นที่ให้มองดูเหมือนว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น
และกำลังจะเป็นเรื่อง “บานปลาย” ออกไปสู่ภายนอกประเทศ
ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด
-----------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น