12/15/2560

ตีแผ่!! คำให้การ.. อาชญากรชายแดนใต้เมื่อถูกซักถาม

"แบมะ ฟาตอนี"


          อีกเพียงไม่กี่วันปีเก่าก็กำลังจะผ่านไปปีใหม่กำลังย่างเข้ามา แม้จะก้าวสู่ปีที่ 14 ของเหตุการณ์ไฟใต้ แต่เหตุร้ายยังคงเกิดขึ้นไม่เว้นวัน แต่ในภาพรวม ณ วันนี้สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นมากแล้ว และกำลังจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้สิ่งที่นับเป็นความสำเร็จของเจ้าหน้าที่รัฐคือ “กลุ่มอาชญากรชายแดนใต้” ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถูกจำคุกไปแล้วถึง 70% จากในอดีตที่อาชญากรชายแดนใต้ส่วนใหญ่จะถูกศาล “ยกฟ้อง” หรือถูก “สั่งไม่ฟ้อง” เพราะพยานหลักฐานอ่อน จนมีผู้ได้รับโทษไม่ถึง 30% ด้วยซ้ำ จากความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ “กลุ่มอาชญากรชายแดนใต้” พยายามดิ้นและได้หยิบยกวันครบรอบแห่งการสูญเสียมารำลึก เพื่อเป็นการ “ตอกย้ำ” ให้คนในพื้นที่คิดถึงเรื่องราวในอดีตที่เคยเกิดขึ้น โดยหวังผลให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังเจ้าหน้าที่รัฐ

จากในอดีตที่อาชญากรชายแดนใต้ส่วนใหญ่จะถูกศาล “ยกฟ้อง” หรือถูก “สั่งไม่ฟ้อง” เป็นเหตุให้ “คนผิด” ที่ถูกปล่อยตัวลอยนวล แนวร่วมสื่อนำมาโฆษณาชวนเชื่อ นี่คือ “แพะ” ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใส่ความ กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับคนมุสลิมที่ได้รับ กล่าวหาเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมของมลายูมุสลิม ส่งผลให้นักสิทธิมนุษยชนนำไปขยายผลบนเวทียูเอ็นและโอไอซี ที่แน่ๆ คือกลุ่มอาชญากรชายแดนใต้ยังคงเคลื่อนไหว และมีการ “สร้างเซลล์ใหม่” ขึ้นมาเพื่อทดแทนคนเก่าที่เสียชีวิตหรือติดคุกเพื่อดำรงในการก่อเหตุ

“อาชญากรชายแดนใต้” ที่ถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกได้ไม่เกิน 7 วัน และควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ไม่เกิน 30 วัน วันนี้!! เรามาเปิดปากคำให้การของคนเหล่านี้กันว่า เมื่อถูกซักถาม!! จะให้การกับเจ้าหน้าที่ว่าอย่างไร? ตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนได้ติดตามข่าวสารชายแดนใต้ เมื่อ “อาชญากร” ที่กระทำความผิดไม่ว่าจากเหตุลอบวางระเบิด ทำการซุ่มยิง หรือก่อเหตุในลักษณะใดก็แล้วแต่ เมื่อเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุม มีการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว มีการควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการซักถามหรือสอบสวน พบว่าส่วนใหญ่จะให้การยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ แต่จะให้การต่อเจ้าหน้าที่ในลักษณะ “เป็นแค่คนดูต้นทาง เป็นผู้ชี้เป้า เป็นคนขับรถให้ผู้ก่อเหตุ เป็นผู้คอยดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ขับรถที่ประกอบระเบิดเสร็จแล้วไปส่งเท่านั้น” ซึ่งไม่เคยมีเลยที่จะยอมรับความจริงว่า เป็นผู้ลงมือก่อเหตุด้วยตัวเอง เป็นผู้กดระเบิด เหนี่ยวไกปืนยิงสังหารผู้บริสุทธิ์ นอกเสียแต่ว่าจนมุมด้วยหลักฐานจริงๆ จนดิ้นไม่หลุดจึงจะยอมรับว่าเป็นผู้กระทำ อย่างกรณีล่าสุดเจ้าหน้าที่จับกุม นายหามะ หะยีมะ บุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญา คดีลอบวางระเบิดรถบัสรับ-ส่งนักเรียน ยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับเหตุความรุนแรง 2 เหตุด้วยกัน คือเหตุลอบวางระเบิดรถบัสรับ-ส่งนักเรียน ซึ่งนายหามะฯ ยอมรับว่าทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์  พ่วงข้างประกอบระเบิดไปจอด ณ จุดเกิดเหตุ อีกทั้งยังมีส่วนร่วมก่อเหตุลอบวางระเบิด 2 จุด ในบริเวณตลาดบ่อทอง อ.หนองจิก ซึ่งนายหามะฯ ยอมรับเป็นแค่ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ก่อนลงมือก่อเหตุเท่านั้น นั่นคือเสียงของคนร้ายที่ยอมปริปากพูด แต่ดูเหมือนว่าคำให้การของอาชญากรเหล่านี้ นับตั้งแต่ปี 47 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน จะให้การในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากมีการอบรมให้ความรู้ในข้อกฎหมายจากองค์กร ในพื้นที่ เพื่อเลี่ยงบาลีให้การในชั้นสอบสวน และจะทำอย่างไร? เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดจนนำไปสู่ศาล “ยกฟ้อง” หรือถูก “สั่งไม่ฟ้อง”

จะเห็นได้ว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งตนขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้เปิดศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย แต่เชื่อเถอะ! ถึงแม้อาชญากรชายแดนใต้จะให้การเช่นไร!! หากพยานหลักฐานเพียงพอก็หนีไม่พ้นผิดอยู่ดี ยิ่งในปัจจุบันมีการนำหลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการตรวจหาพันธุกรรม DNA ส่งผลให้ศาล “ยกฟ้อง” หรือถูก “สั่งไม่ฟ้อง” เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอเหมือนสมัยก่อนมีน้อยมากหรือไม่ค่อยมีให้เห็น การที่ “แกนนำอาชญากรชายแดนใต้” ได้พยายามบิดเบือนและปลูกฝังให้สมาชิกหลงเชื่อ “งมงาย” ในการก่อเหตุ ลองคิดไตร่ตรองดูจะมีใคร    ที่ไหนต้องการ “พลีชีพ” หรือต้องการที่จะ “ติดคุก” เพราะทั้งสองอย่าง อาชญากร ทุกคนต้องการที่จะมีชีวิตรอด “หลีกเลี่ยง” ดังนั้นหากหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ร้ายได้อย่างทันท่วงที และบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง จะทำให้บรรดา “อาชญากร” เหล่านั้นเกิดเกรงกลัว จนนำไปสู่การเกิดเหตุที่ลดน้อยลง และจะส่งผลดีต่อสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน.

----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น