ขบวนการพูโล แตก 2 ขั้ว ‘กัสตูรี่-กาบีร อับดุลเราะห์มาน’ ชิงธงนำ หลังผู้นำคนเก่า ‘ตวนกูบีรอ’ เสียชีวิตเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เผยกระบวนการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้เปิดพื้นที่มากขึ้น หลังอดีตรัฐบาลอภิสิทธิ์ เดินเกมประสานแกนนำ จับตารัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์’ ว่าเกมนี้จะเดินหน้าอย่างไร
ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวความเคลื่อนไหวของขบวนการชายแดนใต้หลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศผู้นำคนใหม่ของขบวนการพูโล
เวบไซต์ของขบวนการพูโล ได้ออกแถลงการณ์แต่งตั้งผู้นำคนใหม่ โดยในคำแถลงการณ์ในเวบไซต์ได้แถลงการณ์ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาอารบิก และภาษาไทย ลงวันที่ 3/11/2554 ที่ผ่านมา
โดยเวบไซต์ (http://puloinfo. net/Statements.asp?ID=32)ระบุว่า เนื่องจากมีสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันและเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจของเราให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการณ์ท้าทายมากมายและใหม่ๆ ต่อการต่อสู้เพื่อกำหนดชะตาตนเองของชาวมลายูมุสลิมปาตานีในปัจจุบัน
เรามีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบ ณ วันนี้ ที่ 27 ตุลาคม 2011 ว่า นาย Kasturi Mahkota อดีตรองประธาน PULO ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน PULO อย่างสมบูรณ์ โดยได้รับความไว้วางใจตามคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกคณะกรรมการกลาง PULO
สำหรับเส้นทางของ กัสตูรี่ อดีตเขาเคยนั่งในตำแหน่งโฆษกของขบวนการ และเขาเป็นผู้ให้ข่าวกับสื่อไทยและต่างประเทศหลายครั้ง จนเป็นที่รู้จักค่อนข้างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นการเจรจากับรัฐบาล
พูโลออกแถลงการณ์ค้าน "กัสตูรี่" สถาปนาตัวเอง
หลังข่าวนี้ออกสู่สาธารณะไม่นาน ก็มีแถลงการณ์ใหม่อีกหนึ่งฉบับที่อ้างว่ามาจากขบวนการพูโลอีกขั้วหนึ่ง ที่ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และลงนามโดย นายกาบีร อับดุลเราะห์มาน ตำแหน่ง เลขาธิการ ส่งถึงสื่อมวลชนสำนักต่างๆ โดยระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2544 เป็นต้นไป กลุ่มพูโล ได้เห็นพ้องกันในการก่อตั้ง Dewan Syura Pimpinan PULO (DSPP) ซึ่งจะเป็นองค์กรชั่วคราวเพื่อการบริหารกิจกรรมของกลุ่มพูโล
โดย นายนูร อับดุล เราะฮฺมาน (ประธาน - POLU MKP) และนายลุกมาน บิน ลิมา (รองประธาน – PULO MKP Perpaduan) เชื่อมั่นว่า ทางกลุ่มมีอำนาจเต็ม และจะจัดตั้งผู้บริหารใหม่ในเร็ววัน การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้เกิดการแบ่งแยกปัตตานี ออกเป็นอิสระจะยังคงดำเนินต่อไป
พร้อมกันนี้ DSPP ขอประกาศว่า จะไม่มีการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ หรือ การออกแถลงการณ์อื่นใดในขณะนี้
ในนามของ DSPP และสมาชิกในคณะกรรมการระดับรากหญ้าของกลุ่มพูโล ขอประกาศไว้ ณ ที่นี้ว่า แถลงการณ์ที่จัดทำขึ้นโดย นายกัสตูรี มาห์โกตา ซึ่งแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นประธาน เมื่อวันทื่ 27 ตุลาคม 2554 ไม่ได้รับการรับรอง หรือ ยอมรับโดยกลุ่ม ซึ่งมีการพิจารณาว่าเป็นของปลอม และอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดได้
แกนนำ "พูโล" ชิงการนำ
แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักวิชาการในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของขบวนการในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบุว่า การออกมาเคลื่อนไหวของขบวนการในครั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงของไทยมากนัก แต่ก็ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างในพื้นที่
อย่างไรก็ตามการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เป็นไปได้ที่คนในระดับขบวนการเองต่างแย่งชิงการนำ และส่งสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับการเจรจาอยู่ในขณะนี้ด้วย
ขณะที่นายทหารที่เคยไปเจรจากับอดีตผู้นำขบวนการพูโล บอกว่า การจะปรับเปลี่ยนหัวขบวนของขบวนการในพื้นที่ชายแดนใต้ อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องภายใน เชื่อว่าคงไม่มีนัยยะอะไรกับรัฐบาลไทย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ยอมรับขบวนการ ทำให้ขบวนการพูโล เป็นขบวนการนอกกฎหมาย
ส่วนการปรับโครงสร้างต้องมองกลับเข้าไปว่าคนในขบวนการของเขาเองยอมรับกันหรือไม่เพราะเท่าที่ทราบขบวนการพูโล เองก็มีมากถึง 3 กลุ่ม ซึ่งปัจจุบันขบวนการพูโลเองก็แทบไม่มีกองกำลังในพื้นที่ แต่เป็นเพียงกลุ่มเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ขณะที่กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ ยังมีขบวนการอื่นนอกจาก กลุ่มพูโลอีกหลายกลุ่ม จึงไม่มั่นใจว่า การปรับโครงสร้างของพูโลจะมีผลต่อสถานการณ์ชายแดนอย่างไร อันนี้ต้องติดตาม ต่อไป
“สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตคือรัฐบาลชุดนี้เปิดช่องในการเจรจามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง มาตรการทางกฎหมายก็ว่าไป แต่ในเชิงการทูตก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ปิดช่องการเจรจา เพราะประสบการณ์และอดีตชี้ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีการศึกใดที่ยุติด้วยปืนและการสู้รบ ดังนั้นแนวทางการเจรจาต้องดำเนินการควบคู่จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายในที่สุด” นายทหารในกองทัพบก กล่าว
เปิดช่องเจรจาลับสู่สันติภาพชายแดนใต้
แหล่งระดับสูงในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ความเห็นกับ ‘พับลิคโพสต์’ ว่า จากการติดตามกลุ่มนี้มาร่วม10 ปี โดยเฉพาะ7 ปีให้หลัง เขาเดินทางไปพบระดับแกนนำขบวนการหลายกลุ่มหลายคน ในหลายประเทศ พบว่าแนวคิดของแกนนำขบวนการเกือบเริ่มเปลี่ยน แปลง จากเดิมที่แสดงจุดยืนชัดเจนเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่ปัจจุบันเขาเริ่มเพิ่มคำว่า...สันติภาพที่ยั่งยืน ...ซึ่งว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น
“จากการติดตามสถานการณ์พบว่าในอดีตยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยมีการตั้งคณะทำงานติดตาม เพื่อเจรจากับกลุ่มขบวนการ ทั้งพูโลและบีอาร์เอ็น โดยจะผ่านทาง นาย กัสตูรี่ มะโกตา ซึ่งอดีตเป็นโฆษกขบวนการพูโล ปัจจุบันเป็นประธานขบวนการคนปัจจุบัน ส่วนขบวนการบีอาร์เอ็น จะติดต่อผ่านอุสตาสฮารูน รวมถึงสมาชิกอีกประมาณ 10 คน”
เขาบอกว่า คนที่รับผิดชอบหลักคือ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้ทาบทาม นักวิชาการที่มีบทบาทเรื่องสันติภาพ ชื่อย่อว่า ม. โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก 2 หน่วย คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ องค์กรเอกชนนอกประเทศแห่งหนึ่ง หรือ SBC (มีสำนักงานใหญ่ที่กรุง เจนีวา) ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลในการช่วยเจรจา โดยมีนาย ไมเคิ้ล ซึ่งปัจจุบันอยู่สิงคโปร์ เป็นผู้ประสานงานกับขบวนการ และเคยเจรจากับระดับแกนนำหลายครั้ง ทั้งที่ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
“ทุกครั้งที่มีการพบปะกันองค์กรเอกชนแห่งนี้จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดูแลแม้กระทั่งความปลอดภัย เนื่องจากองค์กรนี้นับได้ว่ามีบทบาทและมีอิทธิพลใกล้ชิดกับรัฐบาลหลายประเทศ ทั้งยุโรป และในเอเชีย“
เขาบอกว่าในอดีตเคยมีการเจรจากันหลายรอบแต่ผู้ที่อยู่ในวงการเจรจามีประมาณ 2 กลุ่ม จากกลุ่มขบวนการอื่นๆอีกประมาณ 11กลุ่ม โดยในจำนวนนั้นคือ ซัมซูดิน คาล หัวหน้าขบวนการพูโล อีกกลุ่มไม่ยอมเข้าเจรจาด้วย ทำให้การเจรจาในยุคของพรรคประชาธิปัตย์ไม่คืบหน้า
หลังจากที่ประเมินการเจรจาไม่คืบหน้า ล่าสุดทีมเจรจาเริ่มหันมาดึงภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ เข้าไปช่วยแต่ในที่สุดยังไม่คืบหน้า
ด้านแหล่งข่าว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสภาความมั่นคง (สมช.) ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้มีความพยายามเปิดเจรจากับกลุ่มขบวนการชายแดนใต้จริง แต่ไม่ขอเปิดเผยว่า เจรจากับใคร และที่ไหนส่วนความคืบหน้าในการเจรจานั้น ไม่มีการเปิดเผยเช่นกัน
เกมจากชายแดนใต้สู่ระดับชาติ
การแก้ปัญหาชายแดนใต้ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่าสุดได้มีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก ภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ โดยให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ลงไปทำหน้าที่แทน ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า รัฐบาลส่งคนของตัวเองไปนั่งแบบ โดดเดี่ยวและตามลำพัง ท่ามกลางพลพรรคของพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตามยังมีการวิเคราะห์ต่อว่า จากนี้ไปจะมาปรับเปลี่ยน เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่เริ่มเปลี่ยนโฉมแล้วคือตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นและองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐก็จะทยอยปรับเปลี่ยนเป็นระลอกๆ เพื่อให้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ สามารถทำงานได้คล่องมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้มีการนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักว่า พ.ต.อ.ทวี ได้ดอดพบนายทหารที่มีประสบการณ์การเจรจากับขบวนการพูโล และ คาดว่าจะทาบทามมาทำงานร่วมกัน ซึ่งนายทหารคนดังกล่าวออกมาปฏิเสธกับ ‘พับลิกโพสต์’ และระบุว่า การพบกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเพียงบังเอิญที่เจอกันที่สนามบินหาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากเป็นคนที่รู้จักและรักใคร่กันมาก่อน จึงมีการทักทายกันตามประสาคนรู้จัก และเป็นเพื่อนร่วมรุ่น วปอ. เท่านั้นและไม่มีการพูดถึงนโยบายชายแดนใต้และไม่มีการเชิญมาร่วมทำงานแต่อย่างใด
ขณะที่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับแกนนำขบวนการชายแดนใต้คนหนึ่ง วิเคราะห์การชิงธงนำของขบวนการพูโลว่า ขณะนี้บางกลุ่มในขบวนการมีความพยายามที่จะเจรจากับรัฐบาลไทย แต่อีกฝ่ายไม่ยอมรับการเจรจา โดยยังยึดแนวทางเดิมคือการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขบวนการพูโล จึงอาจกระทบกับแนวทางการเจรจาของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพราะไม่แน่ใจว่า คนที่รัฐบาลกำลังเจรจาจะเป็นตัวจริงหรือไม่
แหล่งข่าวบอกว่า เพื่อนสนิทของกัสตูรี่ คนหนึ่งที่อยู่ในต่างประเทศสนิทสนมกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่กำลังลี้ภัยในต่างประเทศ และเคยรับงานเป็นล็อบบี้ยิสต์ หลายเรื่อง จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า กัสตูรี่ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะมีความใกล้ชิดกันแค่ไหนหรือไม่
ดังนั้นการชิงนำในขบวนการพูโล อาจเป็นอีกเกมหนึ่งกำลังเดินสู่กับดักของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นความพยายามที่จะชิงธงนำ เพื่อนำมาสู่การเจรจา แสวงหาสันติภาพชายแดนใต้ ที่ต้องจับตาว่า...เป็นไปได้จริงแค่ไหน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น