และแล้วแผนความพยายามล้มมาตรา 21 ซึ่งบุคคลและกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าจะให้การช่วยเหลือผู้ต้องหา 4 รายแรกให้หลุดพ้นจากการดำเนินการคดีก็พังลงอย่างไม่เป็นท่า หน่ำซ้ำผู้ต้องหาทั้ง 4 ซึ่งประกอบด้วย นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด ยังถูกผู้เสียหายซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของพวกเขาจำนวนถึง 28 ราย รุมฟ้องร้องดำเนินคดีในหลายข้อหาหนักตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ถอนตัวออกจากกระบวนการตามมาตรา 21 ตามคำยุยงของผู้ไม่หวังดีแล้ว เหตุการเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น
ที่กล่าวว่าคงไม่เกิดขึ้นเพราะกระบวนการตามมาตรา 21 นั้นมีลำดับขั้นตอนอย่างรอบคอบชัดเจนตั้งแต่การเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ จนถึงการพิจารณาของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทุกขั้นตอนมีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ และตลอดกรรมวิธีก็มีญาติของผู้ต้องหา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่าม นายอำเภอ และอีกหลายภาคส่วนเข้าร่วมสังเกตการณ์ จนถึงขั้นตอนในชั้นศาล ก่อนที่ศาลจะพิจารณาให้เข้ารับการอบรมในเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการจำคุก หรือการลงโทษอื่นๆ
ที่สำคัญยังมีขั้นตอนการไกล่เกลี่ยกับผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดนั้นๆ ด้วย ในกรณีของผู้ต้องหาทั้ง 4 นี้ ทางราชการได้ชดเชยโดยการช่วยเหลือเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบแล้วทั้งหมดนับล้านบาท เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือกันในการใช้กฎหมายทางเลือกนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างความสงบในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน แต่เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 4 ถอนตัวไม่เข้าร่วม ผู้เสียหายทั้งหมดก็สามารถฟ้องร้องในฐานะผู้เสียหายตาม ป.วิอาญาได้เช่นเดิม
กรณีของผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ครั้งนี้นับว่าเป็นอุทาหรณ์ในความไม่รู้จักแยกแยะระหว่างความพยายามร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ กับผลประโยชน์ที่แอบแฝงของกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มหลายองค์กรที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยใช้ผู้ต้องหาทั้ง 4 รายนี้เป็นเครื่องมือ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของแต่ละองค์กร ทั้งการยกเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาบังหน้า การอ้างเรื่องการต่อสู้เรียกร้องความชอบธรรมเพื่อผู้ต้องหาที่เป็นพี่น้องมุสลิมถึงแม้จะเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งในท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นผลประโยชน์ที่จะได้กับกลุ่มและพวกพ้องของตน โดยไม่คำนึงถึงว่าสุดท้ายแล้วผลที่เกิดขึ้นกับ “เหยื่อ” ทั้ง 4 จะเป็นเช่นไร ซึ่งตอนนี้ด้วยข้อหาหนักที่ถูกฟ้องร้องก็คงจะคาดเดาได้ว่าคงหนีไม่พ้นการติดคุก และคงไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่ต้องเป็นหลายสิบปีแน่นอน ซึ่งมองอย่างเป็นธรรมแล้วก็สาสมกับกรรมที่พวกเขาได้ก่อไว้ นอกจากนี้เงินเยียวยาของรัฐทั้งหมดที่ได้ชดเชยให้กับผู้เสียหายไปแล้ว ทั้ง 4 คนนี้ก็ต้องรับผิดชอบชดใช้คืนให้แก่ทางราชการด้วย
งานนี้องค์กรที่เป็นตัวตั้งตัวตีแสดงบทพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยตั้งแต่แรกเริ่ม คือ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงฉาวโฉ่ด้วยการทำคนที่กำลังจะพ้นผิดให้ติดคุกว่าจะทำอย่างไร จะช่วยเหลือพวกเขาต่อไปตามที่อ้างแต่ต้นหรือไม่ ที่แน่ๆ ข่าวแจ้งว่าทั้ง 2 พระเอกที่แปลงร่างเป็นมารร้ายกำลังโยนเผือกร้อนๆ ให้กันและกันไปมาทำนองว่าข้าพเจ้ามิได้ตั้งใจอย่างจ้าละหวั่น โถ...ช่างน่าสมเพชเสียนี่กระไร แต่เอาเถอะน่า ท่านทั้งหลายไม่ใช่คนที่กำลังจะติดคุก แต่เหยื่อ 4 คนนั้นต่างหาก แล้วจะกลัวไปทำไม ?
งานนี้นอกจากจะทำให้กระบวนการมาตรา 21 สะดุดลงไปได้บ้างแล้วยังสร้างความกังขาถึงเจตนาที่แท้จริงขององค์กรนี้ไปสู่ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง สำคัญที่สุดคือความเสื่อมเสียของวงการทนายความอย่างไม่อาจแก้ตัวที่ได้ถูกรังสรรค์โดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม น่าสงสารคณาจารย์ของสถาบันการศึกษาทางกฎหมายที่สู้อุตส่าห์ประสิทธิประสาทวิชาให้ท่านเหล่านั้นมาใช้เพื่อช่วยเหลือดูแลลูกความตามจริยธรรมที่ควรจะเป็น แต่ศิษฐ์ของท่านกลับมาทำการเพื่อผลประโยชน์และพวกพ้องจนทำให้ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงเสียหายป่นปี้
ส่วนสภาทนายความซึ่งเป็นสถาบันที่ดูแลรับผิดชอบควรจะต้องเข้ามาตรวจสอบจริยธรรมของทนายความกลุ่มนี้ซะหน่อยเป็นไง....
ลองกำหนดมาตราการควบคุมอีกชั้นหนึ่ง ไม่ปล่อยให้ทำตามอำเภอใจแบบมีอะไรแอบแฝงอย่างนี้อีก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาของพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดให้กลับคืนมาสู่องค์กร หากยังทำเป็นเสือกระดาษเช่นนี้ต่อไปน่าจะไม่เป็นผลดีต่อภาพพจน์ของสภาทนายความแน่นอน เพราะตอนนี้สังคมและประชาชนเขากำลังช่วยกันตรวจสอบอยู่อีกทางหนึ่งด้วยนะ....จะบอกให้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น