10/16/2557

รอยร้าวทางความคิดประตูสู่ความแตกแยกของขบวนการ

 ชะบา สีขาว

ข่าวคราวที่เกิดขึ้นภายในของขบวนการ ได้มีการหลุดกระเด็นออกมาสู่หูของพวกเราเป็นระยะพวกเราเองก็คิดอยู่เสมอว่า “ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนเป็นไปตามประสงค์ของอัลลอฮ์ ผู้ที่ไม่ยึดมั่นและไม่ปฏิบัติตามแนวทางของอัลกุรอ่านย่อมไม่ได้รับการโปรดปราน ความเมตตา ดังเช่นขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือที่รัฐเรียกว่า “บีอาร์เอ็น.” ผู้หวังผลประโยชน์บนแผ่นดิน  โดยมิได้มองเห็นความทุกข์ ความโศกเศร้า หรือการสูญเสียของผู้อื่น”



ที่ผ่านมา มีบรรดาสมาชิกระดับแก่นนำของขบวนการที่หันหลังให้ขบวนการ  สาเหตุหนึ่งมาจากความแตกต่างทางความคิด  ต่างก็มีความเห็นไปคนละทิศละทางอย่างหลากหลาย จนกลายเป็นความแตกแยก หลายคนเห็นว่าการต่อสู้ของขบวนการอย่างที่ทำอยู่ไม่มีทางชนะ  เพราะขบวนการเองก็ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่  แล้วจะมีโอกาสชนะเพื่อแบ่งแยกประเทศได้อย่างไร  จุดนี้ทำให้แกนนำแต่ละกลุ่มคิดกันไปต่างๆ นานา  ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ชัยชนะ หรือวางจังหวะทิศทางเพื่อก้าวเดินต่อไปอย่างไร  ซึ่งแต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน การแบ่งพรรคแบ่งพวกจึงเกิดขึ้นตามมา


         เรื่องของผลประโยชน์ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ขบวนการปฏิวัติรัฐปัตตานีเดินไปไม่ได้ แต่การที่ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่  เพราะยังมีแนวร่วมคอยก่อเหตุ  ซึ่งการจะยับยั้งแนวร่วมเหล่านี้ทำได้ยากมาก  เพราะพวกเขาถูกใส่ความเชื่อเข้าไปแล้วก็จะไม่รับฟังคนอื่น  เนื่องจากทางกลุ่มขบวนการเขาปลูกฝังอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อมากว่า 20 ปี ใครก็เปลี่ยนความคิดความเชื่อไม่ได้นอกจากคนในขบวนการเท่านั้น

          นอกจากนั้นแล้ว  ปัญหาใหม่ที่สำคัญไม่แพ้ปัญหาความแตกแยกทางความคิดของกลุ่มระดับแกนนำ   นั่นคือปัญหากลุ่มติดอาวุธ หรือ “อาร์เคเค.”  ซึ่งขณะนี้กลุ่มอิทธิพลในพื้นที่รู้ช่องทาง  จึงสร้างฐานอำนาจโดยนำ อาร์เคเค. มาเลี้ยงไว้  แล้วต่างฝ่ายต่างก็พึ่งพากัน  กลุ่มอิทธิพลได้ใช้ อาร์เคเค.เป็นกองกำลังส่วนตัว โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง  โจมตีปรปักษ์ของตนเองบ้าง  ขณะที่ อาร์เคเค.ก็ได้เงิน ได้อาวุธ ได้กระสุน และมีคนคอยปกป้อง ที่แย่ก็คือเมื่อก่อนกลุ่มติดอาวุธมักอยู่ในป่า ปฏิบัติการในเขตป่า แต่วันนี้มาอยู่ในเมืองซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะสามารถก่อเหตุ  ก่อวินาศกรรมได้ทุกเวลา  แต่ก็ยังพบว่าเมื่อไปปฏิบัติจริง กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากปีกแนวร่วมเพื่อรับประกันความปลอดภัย 100% เหมือนเมื่อก่อน  ทำให้เริ่มมีความสูญเสีย     จึงสะท้อนให้เห็นว่า  ขบวนการหรือกลุ่มอิทธิพลปัจจุบันไม่สามารถพูดคุยหรือขอความร่วมมือจากชาวบ้านได้มากเหมือนเดิม


ถึงวันนี้แม้จะมีปัญหาความขัดแย้งในขบวนการเข้ามารุมเร้าและมีกลุ่มอิทธิพลเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก อาร์เคเค. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเดินทางถึงจุดเปลี่ยน เพราะภาครัฐยังไม่สามารถเปลี่ยนจาก "ฝ่ายรับ" มาเป็น "ฝ่ายรุก" ได้ดังที่ทุกคนเห็นกันอยู่
“ประชาคมอาเซียน”น่าจะทำให้สถานการณ์เบาบางลง เนื่องจากเยาวชนจะเริ่มให้ความสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น กลุ่มขบวนการหมดน้ำยาที่จะโน้มน้าว ข่มขู่หรือบังคับ  การเกิดประชาคมอาเซียนจะเป็นเหมือนกับการแยกสายน้ำ หรือเส้นทางออกเป็น 2 สาย จากเมื่อก่อนมีเพียงสายเดียว ทำอะไรก็ไปในแนวทางเดียวกัน  แต่เมื่อแยกเป็นสองแล้วจะทำให้มีตัวเปรียบเทียบว่าฝ่ายไหนจะดำรงอยู่ได้ แม้ฝ่ายที่เลือกแนวทางก่อความไม่สงบจะยังก่อเหตุได้ แต่ก็เชื่อว่าจะค่อยๆ ลดจำนวนลง



ส่วนแนวทางที่บางฝ่ายพยายามรณรงค์ให้เกิดโมเดลปกครองตนเองหรือ “เขตปกครองพิเศษ” นั้น  ในทางปฏิบัติยังเร็วเกินไปยังไม่ถึงเวลา เพราะชาวบ้านยังไม่มีความรู้พอ หากตั้งเขตปกครองพิเศษ ประโยชน์จะไปตกอยู่กับคนแค่บางกลุ่ม และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นเบี้ยล่างเหมือนเดิม

             แนวคิดที่แตกต่างของระดับแกนนำ  นำไปสู่ความแตกแยก  การเอาตัวรอดของ อาร์เคเค.ที่หันไปพึ่งพาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่  ด้วยเหตุผลขบวนการเริ่มเอาตัวไม่รอด  ชาวบ้านเองก็เห็นธาตุแท้ของขบวนการ  นี้คือจุดเปลี่ยนและความล้มเหลวของอุดมการณ์ที่มุ่งหวังผลประโยชน์เฉพาะตนมากจนเกินไป   จนลืมไปว่าอุดมการณ์ที่ประกาศไปคืออะไร…….
---------------------------- 
    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น