12/30/2557

เมื่อมีคนเล่าว่า“บันนังสตา”คือเมืองหลวงรัฐปัตตานี

อิมรอน

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวบรวมสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวและนำมาสังเคราะห์และจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลเพื่อเป็นฐานในการอธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรงอย่างเป็นวิชาการ


          โดยจะมีการเผยแพร่ข้อมูลและบทวิเคราะห์อยู่เป็นระยะ ทั้งนี้ การประมวลผลข้อมูลเป็นสถิติในหลายมิติ  อาทิเช่น สถิติจำนวนของเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บล้มตาย องค์ประกอบของเหตุการณ์อย่างวันเวลา พื้นที่ รูปแบบ ผู้กระทำการ เหยื่อหรือเป้าหมายในการก่อเหตุ

          กระบวนการจัดเก็บโดยเก็บรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทางเปิดอย่างสื่อมวลชนและได้รับความอนุเคราะห์จากฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการหลายแห่ง ได้แก่ ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) งานการข่าว ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) และศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ จังหวัดยะลา

          ในส่วนของรอบปี 2557 มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น  793 เหตุการณ์ เฉลี่ยเดือนละ 66 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 330 คน เฉลี่ยเดือนละ 28 คน และบาดเจ็บทั้งสิ้น 663 คน เฉลี่ยเดือนละ 55 คน

          เดือนที่เกิดเหตุสูงสุด : พฤษภาคม จำนวน 128 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 26 คน และได้รับบาดเจ็บ 135 คน

          เดือนที่เกิดเหตุต่ำสุด : ธันวาคม จำนวน 44 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 7 คน และได้รับบาดเจ็บ 16 คน

          ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ deepsouthwatch.org ตามลิ้งค์นี้ครับ  http://www.deepsouthwatch.org/node/6596



          ข้อมูลที่น่าสนใจ 10 อำเภอที่มีเหตุการณ์สูงสุดในรอบปี 2557 อำเภอที่เป็นอันดับต้นๆ คงจะหนีไม่พ้นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือจะมองอีกแง่มุมหนึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มขบวนการคงจะไม่ผิด เรามาดู 10 อันดับกันว่าอำเภอไหน จังหวัดไหนติดอันดับกันบ้าง

            อันดับที่ 1 อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จำนวน 54 เหตุการณ์ เสียชีวิต 17 คน บาดเจ็บ 30 คน

            อันดับที่ 2 อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 44 เหตุการณ์ เสียชีวิต 18 คน บาดเจ็บ 29 คน

            อันดับที่ 3 อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 44 เหตุการณ์ เสียชีวิต 20 คน บาดเจ็บ 27 คน

            อันดับที่ 4 อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา จำนวน 42 เหตุการณ์ เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บ 50 คน

            อันดับที่ 5 อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี จำนวน 41 เหตุการณ์ เสียชีวิต 15 คน บาดเจ็บ 85 คน
            อันดับที่ 6 อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จำนวน 40 เหตุการณ์ เสียชีวิต 23 คน บาดเจ็บ 38 คน
            อันดับที่ 7 อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จำนวน 36 เหตุการณ์ เสียชีวิต 16 คน บาดเจ็บ 17 คน

            อันดับที่ 8 อำเภอรามัน จังหวัดยะลา จำนวน 32 เหตุการณ์ เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 7 คน
            อันดับที่ 9 อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส จำนวน 30 เหตุการณ์ เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 19 คน

            อันดับที่ 10 อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี จำนวน 29 เหตุการณ์ เสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บ 54 คน

ทำไม? อำเภอบันนังสตา ติดอันดับ 1 และติดอยู่ในโผตลอด

          หลายคนอาจตั้งคำถามสงสัยว่าทำไม บันนังสตา อำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดยะลาถึงได้เกิดเหตุมากที่สุดในรอบปี มาดูการสนทนาของผู้เขียนกับผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งซึ่งพื้นเพเป็นคนในพื้นที่แห่งนี้ เขาได้ซึมซับข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นจากการเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปากในร้านน้ำชา ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเรามาอ่านและวิเคราะห์กันครับ

          เคยรู้ไหม..โจรใต้ฟาตอนี เขาคิดจะตั้งเมืองหลวงที่ไหนเป็นเมืองหลวงของรัฐปัตตานี..ผมกล่าวขึ้นลอยๆ ในเช้าของวันหนึ่งหลังจากนั่งดูข่าวทีวี โจรใต้เผาโรงเรียน 6 แห่งในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง และอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี

          อามีนบอกว่าได้ยินยิ่งกว่าได้ยิน..เขารู้แล้วด้วยซ้ำว่าพวกนั้นจะตั้งที่ไหนเป็นเมืองหลวงของรัฐปัตตานี.....
          “อ้าวจริงหรอ? ที่คนทั่วไปรู้ผมมีความตื่นเต้นใคร่รู้ แต่ก็ต้องรีบเก็บอารมณ์ให้เป็นปกติให้มากเท่าที่จะทำได้
          รู้สิครับหัวหน้า เขาวางแผนเอาไว้ทั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าจะตั้งที่ไหน..” “ปัตตานีนะซี”..ผมชิงพูดขึ้นมาก่อนที่อามีนยังพูดไม่ทันจะจบ
          เปล่าเลย..หัวหน้ารู้มาแบบผิดๆอามีนมองดูหน้าผมในขณะที่สีหน้าอมยิ้มอย่างผู้รู้
          อ้าว..แล้วที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่ปัตตานีผมมองตาของเขาอย่างสงสัย

          อามีนเอากระดาษพร้อมดินสอมาขีดเขียนแผนที่อย่างคร่าวๆ พร้อมทั้งอธิบายให้ผมฟัง มือเขียนไปปากก็พูดไป ตรงนี้นะ อำเภอธารโต..ฝั่งตรงกันข้าม คือ รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ถ้าย้อนขึ้นมาด้านนี้จะเป็นเส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองยะลา แล้วตรงไปสี่สิบกว่ากิโลเข้าตัวเมืองปัตตานี วกขวามือจะเป็นแนวชายฝั่งทะเล เป็นเส้นทางไปยังนราธิวาส ออกจากนราธิวาสจะเป็นตากใบ แล้วเข้าสู่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย..

          “อามีน..พูดมาตั้งนาน ยังไม่รู้เลยว่าเมืองหลวงของเขาจะตั้งที่ไหน..?ผมกล่าวขึ้นขัดจังหวะอามีนหลังจากนำกระดาษแผ่นดั่งกล่าวขึ้นมาดูอย่างละเอียดแล้ววางกลับไปบนโต๊ะ
          นี่ไง..หัวหน้า..ตรงนี้เรียกว่า..อำเภอบันนังสตา ตรงนี้แหละเมืองหลวงของเขา..เขาชี้ไปยังจุดๆ หนึ่งในแผ่นกระดาษ

          ผมอึ้ง..คาดไม่ถึงว่าจะเป็นอำเภอบันนังสตา ทั้งๆ ที่ผมเข้าใจมาโดยตลอดว่าหากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนสำเร็จ เมืองหลวงจะตั้งที่ปัตตานี มันไม่น่าเป็นไปได้ เพราะว่าชื่อของปัตตานีดังมาก..โลกอิสลามรู้จักเป็นอย่างดี ทำไมจึงไม่ตั้งเมืองหลวงที่ปัตตานี ทำไมจึงเลือกอำเภอเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงอะไรเลย..แต่เมื่ออามีนบอก และคนในพื้นที่รู้ดีที่สุดกว่าผม..ผมก็รับฟังไว้

          เอาเถอะ..ไม่ว่าโจรใต้ฟาตอนีจะเลือกบันนังสตาหรือที่ไหนก็ตามแต่เราก็ได้แต่รับฟัง..ผมลองเข้าไปดูแผนที่ใน Google จะพบว่าทางตอนใต้ของบันนังสตา คือเขื่อนบางลาง และลงใต้ไปคืออำเภอเบตง พวกโจรใต้ฟาตอนีคงจะคิดในด้านความมั่นคงในระยะยาว ถ้าเขาได้ปัตตานีมาเป็นประเทศของเขา เมืองหลวงที่ตั้งจึงจะต้องมีภูมิศาสตร์ที่ดี

          ถ้าเอาปัตตานีเป็นเมืองหลวง รัฐบาลไทยก็จะส่งกองทัพเรือยกพลขึ้นบกได้ในชั่วพริบตา แต่ถ้าเลือกเอาบันนังสตา..เต็มไปด้วยขุนเขา ป่าฮาลาบาลาที่รกทึบเป็นที่หลบซ่อนตัว ซึ่งเป็นยุทธภูมิที่ดีมาก อีกอย่างถ้าจะอาศัยกองกำลังที่สะสมเอาไว้ที่ต่างประเทศ จะได้พึ่งพาอาศัยได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผมคิดไปถึงกองกำลังจากอินโดนีเซีย เข้ามายังบันนังสตาได้ง่ายยิ่งนัก

          อำเภอบันนังสตา มีเนื้อที่ประมาณ 629 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 57,700 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 82.20 นับถือพุทธศาสนาร้อยละ 17.80 อยู่ห่างจากจังหวัดยะลา 39 กิโลเมตร เส้นทางสาย 410 ตัดผ่านภูเขาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ โจรใต้ฟาตอนีมีความเข้มแข็งมากกว่าที่อื่น เชื่อว่ามีการส้องสุมกองกำลังในป่าภูเขาแถบนี้มานานแล้ว

          อามีนเปิดเผยชื่อหัวหน้าใหญ่ในพื้นที่บันนังสตาให้ฟังว่ามีหลายคนทั้งมีชีวิตอยู่และได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางได้แก่ อาหมัด ตืองะ หรืออุสตาซมะ เป็นครูผู้สอนศาสนาที่โด่งดังมาก ตามด้วย อุสตาซ อีกหลายคนไม่ว่าจะเป็น สการีนา หะยีซาเมาะ, อีสมาแอล รายาหลง (ชื่อเล่นอุสตาซโซ๊ะ), อุสมานเด็งสาแม (อุสตาซสมัง), รอเซะ ดอเลาะ ซึ่งแต่ละคนจะมีกองกำลังเป็นของตนเอง

          กลุ่มขบวนการโจรใต้ฟาตอนีได้มอบความไว้วางใจให้หัวหน้าโจรทำการเคลื่อนไหวต่อสู้เร่งการปลดปล่อยบันนังสตา เสริมเขี้ยวเล็บ ลอบโจมตีสร้างความสูญเสียให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มขบวนการ จนยอดการก่อเหตุติดอันดับต้นๆ ของปัญหาไฟใต้

          นี่คือกุศโลบายของแกนนำขบวนการ ที่ได้หลอกล่อสมาชิกแนวร่วม รวมทั้งประชาชนได้หลงเชื่อมาโดยตลอด เหตุการณ์ได้ผ่านมา 10 กว่าปี สถานการณ์ภาคใต้ก็ยังไม่คลี่คลาย เพราะความเพ้อฝันของนักรบฟาตอนียังไม่สูญสิ้น หลงเชื่อว่ารัฐปัตตานีจะต้องเกิดขึ้นในสามจังหวัด แต่..ประชาชนมลายูเองไม่ต้องการเอกราช อยากอยู่อย่างสงบสันติเหมือนดั่งเช่นที่ผ่านมา และไม่อยากเห็นความสูญเสียของพี่น้องประชาชนไปมากกว่านี้ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัด ทุกคนหมดกำลังใจ ต่างรู้สึกเศร้าเสียใจ จนพูดไม่ออก เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ หลายชีวิตที่ต้องสูญเสียส่วนใหญ่นั้นจะเป็นเด็ก ผู้หญิง คนชรา และผู้บริสุทธิ์  พอกันที...กับการเพ้อฝันกับสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เพราะการต่อสู้ดังกล่าวไม่มีทางประสบความสำเร็จและแยกตัวเป็นเอกราชได้ เหตุการณ์ยาวนานถึง 10 ปี ได้บ่งชี้แล้วว่า...นักรบฟาตอนีหมดหนทางต่อสู้ ถึงสู้ก็ไม่มีหนทางที่จะชนะ...

----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น