"แบดิง โกตาบารู"
การสรุปสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
มีหน่วยงาน องค์กร ที่จัดเก็บข้อมูล
เมื่อสิ้นปี หรือรอบเดือน รอบสามเดือน รอบหกเดือนก็แล้วแต่ จะเป็นธรรมเนียมที่มีการนำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน
เพื่อต้องการเปรียบเทียบเชิงสถิติของการก่อเหตุ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายปีที่ผ่านมาข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน และองค์กรที่รับผิดชอบ
จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน…
อีกทั้งการสร้างกระแสของบางองค์กร ที่มุ่งนำสถิติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง
“เหตุความมั่นคง”เสียส่วนใหญ่ สูงถึงหนึ่งเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลฝ่ายทหารและตำรวจ
ที่ผ่านมาตำรวจผู้ทำสำนวนคดีได้มีการแยกแยะเหตุความมั่นคง ออกจากคดีอาชญากรรมทั่วไป
ส่งผลให้ตัวเลขจากการเก็บข้อมูลเหตุความมั่นคง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นลดต่ำลงในทุกปีตามลำดับ
เพราะสาเหตุอะไร? องค์กรที่เป็น “เหลือบริ้นชายแดนใต้”จึงต้องพยายามให้ “ความรุนแรง” เป็นเหตุความมั่นคง ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว
ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ รวมถึงความขัดแย้งในเรื่องการเมืองท้องถิ่น
อย่าลืมว่าองค์กรเหล่านี้มีความสนิทชิดเชื้อกับกลุ่มขบวนการ
แต่ในอีกมิติหนึ่งต้องทำงานร่วมกับทุกกลุ่มทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ
องค์กรภาคประชาสังคมไม่เว้นแม้กระทั่งหน่วยงานความมั่นคง
แต่ที่สร้างกระแสให้เห็นว่าเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความมั่นคงเสียส่วนใหญ่เพื่อพยายามรักษาความชอบธรรมของการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้เอาไว้ต่อไป
ข้อมูลความเชื่อมโยงของกลุ่มขบวนการกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายทุกชนิดได้มีการกล่าวถึงและเปิดโปงให้เห็นมาโดยตลอด
ซึ่งค่อนข้างมีความชัดเจนว่าท่อน้ำเลี้ยงไฟใต้จะต้องมีการส่งผ่านเพื่อหล่อเลี้ยงในการความไม่สงบในพื้นที่
ในขณะเดียวกันความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัว เรื่องการเมือง และผลประโยชน์ มีการเช็คบิลตามเก็บหมายชีวิตแต่มีการควบรวมว่าเป็น
“เหตุความมั่นคง”
แต่ที่เป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องค้นหาความจริงคือ
“อาวุธปืน” ที่กลุ่มขบวนการใช้ มีการชี้ชัดว่าเป็น “ปืนกลาง” ไม่ใช่ปืนของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง แต่อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุจะเคลื่อนที่ไปโผล่ที่โน่นที่นี้ตามแต่แกนนำจะสั่งการ
ซึ่งหลายๆ ครั้งที่มีการแจ้งเบาะแสแหล่งซุกซ่อนจนกระทั่งยึดกลับคืนมาได้จำนวนมาก
ซึ่งนั่นหมายความว่าการซ่อน “อาวุธปืน”
เพื่อรอให้สมาชิกนำไปใช้ก่อเหตุตามสั่งการของแกนนำ
มีการอนุมานของสำนักสื่อดังว่า
สถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดขึ้นมาหลายปี อิทธิพลท้องถิ่นก็อาจเอาปืนมาใช้
หรือดึงคนจากขบวนการมาใช้ หรืออาจว่าจ้างบ้าง
ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงก็อาจมีบางคน บางกลุ่มรับจ้างก่อเหตุ
โดยใช้ปืนของขบวนการ เพื่อโยนเหตุการณ์ให้เป็นประเด็นแบ่งแยกดินแดน ระดับแกนนำของขบวนการจะชอบหรือไม่ชอบ!!...ตอบยาก
เพราะในบางมุมก็อาจสมยอมเพื่อผลประโยชน์เมื่อเหตุรุนแรงเกิด แต่กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น
อำนาจมืดธุรกิจเถื่อนชอบแน่!! เนื่องจาก ได้เช็คบิลกันเองแล้วโยนความผิดให้ผู้ก่อเหตุรุนแรง...
การก้าวข้ามความขัดแย้ง ผ่านกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ที่รัฐดำเนินการอยู่กับกลุ่ม
“มารา ปาตานี”การตั้งคำถามโต้กันเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งจะมีพื้นที่นำร่อง แต่ประเด็นที่ท้าทายต่ออำนาจรัฐ และเป็นตัวแปรต่อการแก้ปัญหาที่น่าสนใจคือ
“ภัยแทรกซ้อนไฟใต้” ซึ่งจะหนุนเสริมปัญหาความรุนแรง
หากความเชื่อมโยงระหว่างอิทธิพลท้องถิ่นกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนมีจริง
เปรียบเสมือนไฟใต้ที่ถูกสุม...ด้วยเหตุร้ายรายวันที่เกิดจากภัยแทรกซ้อนแล้วโยนให้เป็น“เหตุความมั่นคง”….สถานการณ์ไฟใต้ก็ยังคงลุกโชนไม่มอดดับต่อไป...
-------------------------