สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในต้นปี
2547 โดยทวีความรุนแรง จากเหตุการณ์การบุกโจมตีที่ตั้งหน่วยกองพันพัฒนาที่
4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้าปล้นอาวุธปืนสงครามไปจำนวนมาก
พร้อมสังหารเจ้าหน้าที่อย่างโหดเหี้ยม 4 ศพ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานเกือบ
9 ปี
ในช่วงแรกของสถานการณ์นั้นเป้าหมายในการลอบทำร้ายคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะทหารและ ตำรวจ
ด้วยข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า
ต้องการตอบโต้รัฐไทยที่ไม่ให้ความยุติธรรมต่อประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเป็นคนมลายูและที่สำคัญ
คือ การแบ่งแยกดินแดนตอนใต้ของไทยใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่ออิสระในการปกครองตนเอง พร้อมๆ กับการปลุกระดมสร้างความหวาดกลัว
และหวาดระแวงให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนไทยต่างศาสนามาเป็นเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง
โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ได้ใช้ประเด็นที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา
วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และขยายแนวร่วม
จากกลุ่มมุสลิมในพื้นที่โดยการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเรื่องชาติพันธุ์การเป็นคนมลายูปัตตานี
และบีบบังคับให้คนต่างศาสนาออกนอกพื้นที่โดยวิธีการข่มขู่ต่างๆนานา
เข่น ก่อเหตุรุนแรงใช้อาวุธสงครามฆ่าคนไทยพุทธอย่างโหดเหี้ยม และระเบิดในสถานที่ขุมชนสร้างความสะพรึงกลัวให้กับคนไทยพุทธในพื้นที่จนต้องตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นออกนอกพื้นที่
โดยเฉพาะการบิดเบือนคำสอนอันดีงามของศาสนาอิสลามว่าการทำร้ายคนต่างศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิด
จึงกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้สถานการณ์ภาคใต้ของไทยกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นและขยายขีดความรุนแรงขึ้นตามลำดับ
ถึงวันนี้รูปแบบของสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงได้มีการพัฒนาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในลักษณะการบ่อนทำลาย
การก่อวินาศกรรมด้วยการลอบวางระเบิดขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเขตชุมชนเมือง
การลอบสังหาร และลอบวางเพลิง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต
ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและมุสลิมจนถึงปัจจุบันมีจำนวนตัวเลขพุ่งสูงขึ้นตามลำดับ
ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมจิตวิทยา ระบบเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่และของประเทศโดยรวมอย่างมาก
และแน่นอนว่าสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยกำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายทั้งภายในและนอกประเทศว่าบทสรุปของความรุนแรงนี้จะจบลงได้หรือไม่
เมื่อไหร่และอย่างไร
สำหรับคำถามนี้เชื่อว่าผู้ที่อยากรู้คำตอบมากที่สุดคงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธที่ต้องทนอยู่กับการก่อเหตุรุนแรงสารพัดชนิด เห็นภาพของความสูญเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซ้ำร้ายหลายคนต้องประสบพบเจอกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ในขณะที่ไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ได้เพราะที่นี่เป็นเสมือนบ้านที่อยู่มาตั้งแต่ปู่ยาตายาย การอพยพออกนอกพื้นที่จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่สมควรกระทำในขณะที่สามารถทำให้ปัญหาความรุนแรงนี้ลดน้อยลงหรือหมดไปได้ด้วยวิถีทางอื่น
จากความยืดเยื้อยาวนานของปัญหาความรุนแรง ความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน การอยู่ร่วมกันแบบหวาดระแวงทำให้กระแสความเบื่อหน่ายและไม่สนับสนุนการก่อเหตุเริ่มปรากฏทุกหย่อมหญ้าไม่เว้นแม้แต่พี่น้องมุสลิมที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงอ้างกับเขาเหล่านั้นว่าทำเพื่อปกป้องศาสนา
แต่สุดท้ายก็ยังไม่วายที่ต้องถูกเข่นฆ่าไปด้วยเมื่อไม่ให้ความร่วมมือ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงได้สร้างผลกระทบด้านลบต่อพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นส่วนรวมในทุกด้าน
และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างออกมานำเสนอข่าวสารความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสร้างสรรค์เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ
ด้วยการสะท้อนภาพที่แท้จริงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วน รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน
เพื่อหาหนทางช่วยกันทำให้เหตุการณ์ยุติลงโดยเร็วซึ่งดูจะเป็นเค้าลางที่ดีหากได้รับความร่วมมือในลักษณะนี้ต่อไปในฐานะสื่อที่เปี่ยมล้นด้วยจรรยาบรรณ
ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ที่รู้เห็นปัญหานี้มาโดยตลอดจึงอยากใช้เวทีนี้ขอบคุณไปยังท่านสื่อมวลชนเหล่านั้นด้วยความจริงใจ
เพราะการปล่อยให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียวไม่สามารถทำให้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้จบลงได้ เพราะปัญหาที่เป็นรากเหง้าฝังลึกนั้นมิได้มีเพียงกลุ่มขบวนการเท่านั้น หากยังมีตัวแปรส่งเสริมอื่นๆ
อีกที่เป็นปัจจัยสนับสนุน
การยุติความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ยังดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าสิ้นสุดลงนี้ ได้ปรากฏ เสียงเรียกร้องต้องการความสงบสุขจากพี่น้องประชาชนมาโดยต่อเนื่อง ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ด้วยการลุกขึ้นร่วมกันต่อต้านโดยไม่แบ่งแยก
ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงอย่างสิ้นเชิง
ด้วยความสามัคคีร่วมกันสอดส่องดูแลและแสดงพลังของประชาชนออกมา ภายใต้การใช้บทบาทนำของผู้นำท้องถิ่นเท่านั้นที่จะช่วยให้ฝันร้ายนี้จบสิ้นลง เพราะวันนี้ในต่างประเทศยังเข้าใจสถานการณ์และความเป็นไปของภาคใต้ของไทย หลายฝ่ายทั้งองค์กรระดับชาติรวมถึงสื่อมวลชนในต่างประเทศยังพร้อมใจกันประณามการก่อเหตุด้วยข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ลองนึกดูว่าหากไฟกำลังไหม้บ้านเรา แล้วพวกเราซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันไม่ช่วยกันตักน้ำมาดับไฟแล้วจะรอให้ใครมาช่วย เราคงไม่อยากให้บ้านของเรามอดไหม้ไปกับตาทั้งๆ
ที่ยังสามารถช่วยกันได้มิใช่หรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องร่วมมือกัน ตอบได้เลยตอนนี้ว่าพลังของพวกเราประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่จะยุติไฟที่กำลังเผาไหม้บ้านของเราลงได้ คำถามต่อไปคือ
เราจะรออะไรอยู่
ซอเก๊าะ นิรนาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น