3/06/2558

คืบหน้าจับกุมโจรใต้ต้องใช้ผลตรวจสารพันธุกรรม(DNA)

อิมรอน

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ต้นปีใหม่ยังคงเกิดขึ้นประปราย ผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงสร้างความเดือดร้อนต่อเป้าหมายอ่อนแอที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และนานๆ ครั้งจะมีการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแสดงศักยภาพให้เห็นว่า RKK ยังเข้มแข็งอยู่และพร้อมที่จะทำการก่อเหตุทุกเมื่อทุกเวลา เมื่อได้รับคำสั่งจากระดับแกนนำให้ลงมือทำการก่อเหตุในพื้นที่

นั่นคือแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการ BRN ที่ต้องการดำรงความต่อเนื่องเพื่อยึดพื้นที่ข่าวสารในสื่อสารมวลชน แต่แทบทุกครั้งที่โจรใต้ฟาตอนีเหล่านี้ได้ลงมือก่อเหตุกลายเป็นกับดักให้กับตัวเองและพวกพ้องด้วยการทิ้งร่องรอย หลักฐานที่เชื่อมโยงไปยังตัวบุคคล จนสามารถติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุและผู้ต้องสงสัยได้เป็นจำนวนมากนับได้ว่าเป็นผลสำเร็จในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในห้วงที่ผ่านมาเลยทีเดียว

อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ กรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าตรวจค้นโรงเรียนปอเนาะนะห์ฎอตุลอิสลามฮียะห์ ในพื้นที่ ตำบลสะดาวา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2558 หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมช่วยส่วนรวม ได้รับแจ้งจากประชาชนผู้หวังดีในพื้นที่ว่านายอับดุลเลาะ สาแม ผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการในพื้นที่ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และเป็นบุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญา ได้เข้ามาหลบซ่อนพักพิงภายในสถาบันศึกษาปอเนาะนัฮฏอตุลอุลูมิดดีนียะฮ์ (ปอเนาะประตูช้าง)

เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสามารถยึดอาวุธปืน AK-102 ได้ จำนวน 2 กระบอก และอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลายรายการแต่ไร้วี่แววบุคคลเป้าหมาย ส่วนของกลางที่ทำการตรวจยึดได้แก่ ศูนย์ปรับระยะแบบพับได้ติดปืนยาว จำนวน 1 ชุด, กล้องช่วยเล็งติดปืน จำนวน 1 ชุด, หมวกแก๊ป เจ้าหน้าที่ EOD, สายไฟ 1 ม้วน ยาวประมาณ 800 เมตร, ดีเลย์สวิต (คล้ายอุปกรณ์ใช้กดระเบิดแสวงเครื่อง 2 ตัว) และปุ๋ยยูเรีย ประมาณ 0.5 กิโลกรัม พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ชุดนิติวิทยาศาสตร์ได้เก็บหลักฐานในสถานที่ดังกล่าวไว้ด้วยเพื่อทำการตรวจสารพันธุกรรม (DNA)


และในที่สุดเมื่อ 5 มีนาคม 2558 ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ได้สรุปผลการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) บุคคลที่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ จำนวน 2 คนด้วยกันคือ นายอับดุลเลาะ สาแม และนายอาฮามะซู เจะหะ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า สถาบันศึกษาปอเนาะนัฮฏอตุลอุลูมิดดีนียะฮ์ เป็นแหล่งซ่อนตัวและซุกซ่อนอาวุธปืนของโจรใต้ฟาตอนี

และที่สำคัญอย่างยิ่งกับกรณีนายอาฮามะซู เจะหะ ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สามารถตรวจเจอสารพันธุกรรม (DNA) เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเนื่องจากนายอาฮามะซูฯ เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกันแต่ได้รับการปล่อยตัวหลักฐานไม่เพียงพอศาลพิพากษายกฟ้อง

ถูกควบคุมตัวครั้งที่ 1 เมื่อ 15 กันยายน 2550 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวพร้อมบิดา และพี่ชาย ตามกฎอัยการศึกฯ ณ ศูนย์สมานฉันท์ฯ เนื่องจากต้องสงสัยเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ผลการซักถามให้การปฏิเสธและได้รับการปล่อยตัวไป และบิดาถูกคนร้ายลอบยิงโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อ 16 เมษายน 2551

ครั้งที่ 2 เมื่อ 24 ธันวาคม 2551 ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว โดยตรวจพบระเบิดแสวงเครื่องในตะกร้าหน้ารถจักรยานยนต์ ผลการซักถามให้การปฏิเสธ มีการออกหมายจับ ป.วิอาญา ฝากขังเรือนจำจังหวัดปัตตานี ประมาณ 4 ปี จนในที่สุดศาลพิพากษาคดียกฟ้อง ได้รับการปล่อยตัวเมื่อต้นปี 55

ครั้งที่ 3 เมื่อ 15 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ในพื้นที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เนื่องจากสารพันธุกรรม DNA ตรงกับ เหตุการณ์ จำนวน ๒ เหตุการณ์ และผลการซักถาม ณ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้ลอบวางเพลิง สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลตันหยงดาลอ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2556 เจ้าหน้าที่ได้ออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งนายอาฮามะซูฯ อยู่ในระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ณ สถานีตำรวจภูธรยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีแต่ได้หลบหนีไป เมื่อ 21 กรกฎาคม 2557 เวลา 21.31 น. และกล้อง CCTV จับภาพได้ขณะนายอาฮามะซูฯ ทำการหลบหนี

นายมาฮามะซูฯ มีพี่ชายชื่อ นายซอบือรี เจะหะ เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ระดับหัวหน้า Regu เคลื่อนไหวในพื้นที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และล่าสุดถูกออกหมายจับ กรณีเหตุลอบยิงครูไพรัตน์  จิตรเสน เสียชีวิต เหตุเกิดในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลควน อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เมื่อ 7 พฤษภาคม 2557


ส่วนกรณีควบคุมตัว นายสาการิยา  สาตำ ในพื้นที่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อ 3 มีนาคม 2558 ได้อุปกรณ์ผลิตระเบิดและอาวุธปืนหลายรายการนั้นผลการซักถาม นายสาการิยา สาตำ ให้การยอมรับว่าตนเป็นมือประกอบระเบิดในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และยังทำการก่อเหตุในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

ความคืบหน้ากรณีควบคุมตัวนายฮาแว มะยะเด็ง ในพื้นที่ตำบลปะกาฮารัง  อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อ 1 มีนาคม 2558 ผลการซักถาม นายฮาแว มะยะเด็ง ให้การยอมรับว่าเคยผ่านการฝึกร่างกายโดยนายมะซอเร ดือรามะ เป็นผู้ฝึก จำนวน 3 คืน และเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา ระดับแกนนำได้สั่งการให้ตนออกไปก่อความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี โดยทำหน้าที่ปาสีใส่ป้ายต่างๆ และเผายางรถยนต์ และหลังจากนั้นได้พาตนไปทำการฝึกในพื้นที่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อีก 1 คืน อีกทั้งนายฮาแว มะยะเด็ง ได้ทำการสาธิตการใช้อาวุธ และแสดงท่ายิงปืนที่ตนเคยได้รับการฝึกมา


ส่วนความคืบหน้าเหตุการณ์สุดท้าย กรณีควบคุมตัวผู้ก่อเหตุรุนแรง จำนวน 2 คน และตรวจยึดอาวุธปืนพก จำนวน 1 กระบอก ในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นบุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญา 1 คน คือ นายมูฮัมหมัด วาเฮง จากการซักถามได้ให้การยอรับว่าได้ผ่านการซูมเปาะ และการฝึกหลักสูตร RKK และเป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในกลุ่มนายอับดุลเลาะ ตาเป๊าะโต๊ะ ผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับหัวหน้าพลาตง แต่ให้การปฏิเสธการก่อเหตุรุนแรงทุกกรณี

นายอับดุลเลาะ ตาเป๊าะโต๊ะ มีพฤติกรรมก่อเหตุค่อนข้างจะใช้ความทารุณ เคลื่อนไหวในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มีหลักฐานเชื่อมโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์นายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เสียชีวิต เมื่อ 5 เมษายน 2556

จากกรณีการติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา คือ นายมูฮัมหมัด วาเฮง ส่วนนายอับดุลฮาดี  ดาโอะ (ผู้ให้ที่พักพิง) ได้ให้ข้อมูลถึงขั้นตอนการปฏิบัติในการเข้าติดตามจับกุม โดยเริ่มจากเบาไปหาหนัก และไม่มีการทำร้ายร่างกาย หากมีการมอบตัว จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่มีการเจรจาให้มอบตัวเพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามแต่ ซึ่งในครั้งแรกผู้ต้องสงสัยขัดขืนและไม่ยินยอมมอบตัว
หลังการจับกุมตัวนายมูฮัมหมัด วาเฮง ผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่อำเภอบันนังสตา เจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิงได้เปิดเผยว่าสังเกตเห็นอาการผิดปกติของผู้หญิงเจ้าของบ้าน จึงได้เข้าไปสอบถามจนทราบว่าผู้ต้องสงสัยที่เป็นเป้าหมายได้ทำการข่มขู่บังคับให้ผู้หญิงเจ้าของบ้าน เอาปืนมาหลบซ่อนไว้ที่ตัว ทั้งนี้เพื่อเป็นการตบตาเจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำการตรวจค้นเจอของกลาง

นี่คือผลสำเร็จของการปฏิบัติงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้มีการปฏิบัติงานอย่างรัดกุมขึ้น นำบทเรียนการสูญเสียที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นบทเรียน อีกทั้งการรวบรวมหลักฐาน วัตถุพยานของกลางต่างๆ เป็นระบบยิ่งขึ้น มีการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ที่นานาชาติให้การยอมรับเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการตรวจหาสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อยืนยันตัวบุคคลนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษดำเนินคดีตามกฎหมาย

เพราะฉะนั้นกลุ่มองค์กร NGOs ที่พยายามเคลื่อนไหวชี้ให้เห็นว่ามีการจับแพะ จับผิดตัว ละเมิดสิทธิมนุษยชนคงจะต้องคิดใหม่ และที่สำคัญคือตัวผู้ก่อเหตุรุนแรงเองหากยังคงเคลื่อนไหวก่อเหตุอยู่ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องโดนจับกุมตัวมาลงโทษหรือหากมีการปะทะกันขึ้นอาจจะต้องมีการสูญเสียถึงแก่ชีวิต และวันนั้นคงจะสายเกินแก้ต้องทิ้งครอบครัวให้อยู่ตามลำพัง หากยังไม่คิดกลับใจ กลับตนเป็นคนดีของสังคม...โครงการพาคนกลับบ้านยังคงเปิดโอกาสให้เสมอกับผู้ที่หลงผิดให้กลับมาอยู่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวอย่างมีความสุข...หันหลังให้กับขบวนการเพื่อลูกหลานของท่านเอง เปิดพื้นที่แห่งนี้ให้ปลอดภัย สงบ สันติสุข อย่างยั่งยืนที่แท้จริง...

-----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น