6/20/2558

ทลายฐานโจรใต้ไอร์ปาแย นำไปสู่ยึดคืนอาวุธปืนปล้นจากพันพัฒนา 4

แบดิง โกตาบารู
กลุ่มขบวนการโจรใต้ฟาตอนียังคงมีการแฝงตัวปะปนกับผู้คน และหลบซ่อนตัวในหมู่บ้านเพื่อเป็นแหล่งพักพิง โดยมีแนวร่วมที่คอยสนับสนุนเป็นผู้จัดหาที่พักให้ อีกส่วนหนึ่งยังมีสมาชิกแนวร่วมได้ใช้สถาบันการศึกษาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ จชต. เป็นที่หลบซ่อนตัว ซ่องสุมอาวุธปืน สารประกอบระเบิด และทำการฝึกทางยุทธวิธี ควบคู่กับการบ่มเพาะแนวร่วมรุ่นใหม่ขึ้นมา
จากการปฏิบัติงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ ทั้งงานการเมือง และการบังคับใช้กฎหมายในการติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัย โดยใช้กฎหมายพิเศษ มีการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายในหลายพื้นที่ด้วยกัน จนสามารถควบคุมตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ที่หนีรอดการจับกุมได้หลบหนีเคลื่อนย้ายไปหลบอาศัยในพื้นที่ป่าเขา และมีบางส่วนหลบหนีไปกบดานยังประเทศมาเลเซีย
การปฏิบัติการเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ในการเข้าพิสูจน์ทราบฐานปฏิบัติการในป่าเขา นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งนอกเหนือจากการปิดล้อมตรวจค้นบ้านเป้าหมายในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการกดดันและจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวในการก่อเหตุของสมาชิกแนวร่วมขบวนการ และการเก็บหลักฐานนับว่ามีความสำคัญ ซึ่งเป็นประโยชน์ใช้ในการหาความเชื่อมโยงเพื่อนำไปใช้ในการขยายผลติดตามจับกุมตัวบุคคลเป้าหมาย และพิสูจน์ทราบแหล่งซุกซ่อนอาวุธปืน
อย่างเช่นเมื่อ 12 มิถุนายน 2558 เจ้าหน้าที่ได้บุกทลายฐานที่มั่นผู้ก่อเหตุรุนแรง บนเทือกเขาไอร์ปาแย บ้านไอร์ปาแย ม.8 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ก่อนจะมีการปะทะเดือด และสามารถรวบ 2 ผู้ต้องสงสัย และกลุ่ม ผกร.ที่เหลืออาศัยความชำนาญในพื้นที่หลบหนีไปได้ พบโรงเรือนปลูกสร้างกว่า 3 หลัง
ซึ่งจากการแจ้งของแหล่งข่าวภาคประชาชนเป็นไปได้ว่าแกนนำโจรใต้ได้สั่งการให้กองกำลังติดอาวุธอาร์เคเคกลุ่มนี้ มาตั้งค่ายพักแรมย่อยเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหวก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในห้วงรอมฎอน
เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าจากริมถนนสายไอร์ปาแย-เจาะไอร้อง ไปเชิงเขาระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนที่จะต้องเดินขึ้นเทือกเขาที่มีความสูงชันอีก 1 กิโลเมตร ซึ่งพบกองกำลังติดอาวุธจำนวนหนึ่งกระจายอยู่ โดยคนร้ายที่ทำหน้าที่เข้าเวรยามอยู่ที่บริเวณโขดหินสูงเหนือค่ายพักย่อยเห็นกลุ่มเจ้าหน้าที่จึงได้ตะโกนให้พวกทราบ ก่อนที่จะใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ จนทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเป็นระลอกนานกว่า 10 นาที กลุ่มคนร้ายจึงได้อาศัยความชำนาญพื้นที่ยิงเบิกทาง หลบหนีขึ้นเทือกเขาไป
หลังการปะทะเจ้าหน้าที่ได้เข้าเคลียร์พื้นที่พบผู้ต้องสงสัย 2 ราย ทราบชื่อภายหลังคือ นายซอมะ สะมะแอ และนายอิบรอเฮ็ม อุมา พร้อมตรวจยึดอาวุธปืนพกสั้น 2 กระบอก พร้อมกระสุน อาวุธปืนพกสั้นขนาด 11 ม.ม. จำนวน 1 กระบอก และปืนพกสั้นขนาด .38 พร้อมกระสุนปืน และรวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวอีก 3 หลัง โดยแต่ละหลังใช้ผ้าใบกันฝนมุงเป็นหลังคา พร้อมกับเสบียงอาหาร ภาชนะใช้สำหรับปรุงอาหาร เสื้อผ้าเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ยารักษาโรค
โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้ตรวจสอบ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นอัยการ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุเพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานคราบลายนิ้วมือแฝง และดีเอ็นเอที่ติดอยู่ตามสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้า รวมไปถึงที่พัก เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับวัตถุพยานที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ตามที่เกิดเหตุต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ากลุ่มที่หลบหนีเคยก่อเหตุในพื้นที่ใดบ้าง
จากการซักถามผู้ต้องสงสัยในเวลาต่อมา นายอิบรอเฮง อูมา ให้การยอมรับว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2557 ร่วมกับ นายกี (ไม่ทราบชื่อ-นามสกุลจริง) ได้นำอาวุธปืน M-16 จำนวน 2 กระบอก เข้าไปหลบซ่อนในพื้นที่ บ้านเจาะเกาะ ม.14 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
เมื่อ 16 มิถุนายน 2558 จากคำให้การของ นายอิบรอเฮง อูมา เจ้าหน้าที่จึงเข้าพิสูจน์ทราบแหล่งซุกซ่อนอาวุธปืน ในบริเวณพื้นที่บ้านเจาะเกาะทันที และผลการพิสูจน์ทราบได้ทำการตรวจพบอาวุธปืน M-16 จำนวน 3 กระบอกด้วยกัน
อาวุธปืน M-16 ทั้ง ๓ กระบอก เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจหมายเลขอาวุธปืนพบว่า อาวุธปืนหมายเลข 9537362 และ 9537325 เป็นของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง ที่ถูกกลุ่มโจรใต้ปล้นไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ส่วนหมายเลข 9544917 อาวุธปืนอีกกระบอกหนึ่งยังไม่พบในฐานข้อมูลอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
การทลายฐานที่มั่นของโจรใต้ฟาตอนีบนเทือกเขาไอร์ปาแย นับว่าเป็นความสำเร็จของเจ้าหน้าที่ในการกดดันและทำลายขวัญและกำลังใจของกลุ่มขบวนการ อีกทั้งยังจำกัดเสรีการเคลื่อนไหวของกลุ่มโจรใต้กลุ่มนี้ไม่ให้ลงมือก่อเหตุในห้วงเดือนรอมฎอน
ดังที่กล่าวไปแล้วผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตการณ์เลือกทำเลที่ตั้งฐานปฏิบัติการ มีการเลือกในป่าภูเขาใกล้หมู่บ้าน และมีสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งเป็นไปได้ว่ายังมีแนวร่วมในบ้านไอร์ปาแย คอยส่งเสบียง ข้าวของเครื่องใช้ และคอยแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐให้กับกลุ่มโจรใต้
ความสำเร็จในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐหลายต่อหลายเหตุการณ์ เป็นเพราะได้รับความร่วมมือจากผู้หวังดี ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง รวมถึงภาคประชาชนที่ต้องการความสงบ และสันติสุขซึ่งเป็นคนหมู่มากที่ไม่ต้องการให้กลุ่มโจรใต้มาก่อเหตุในหมู่บ้าน ในชุมชนที่ตนเองได้อาศัยอยู่ มีแต่จะนำความเดือดร้อน ความสูญเสียมาสู่ตนเอง ครอบครัว และบุคคลรอบข้างไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากพี่น้องมลายูปาตานีให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแส ข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มโจรใต้ กลุ่มขบวนการก็จะไม่สามารถทำการก่อเหตุได้ เหตุการณ์ความรุนแรงค่อยๆ หายไป ภาครัฐเดินหน้าเวทีการพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่าง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนำพาสันติสุขกลับคืนมา พี่น้องในพื้นที่ จชต. ถึงแม้จะแตกต่างด้านเชื้อชาติ และศาสนา จะกลับมารักใคร่ปรองดองไม่หวาดระแวงต่อกัน อยู่ร่วมกันภายใต้พหุวัฒนธรรมดั่งเช่นในอดีตที่ผ่านมา.....

---------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น