4/13/2562

เจาะลึก!! รร.เอกชนสอนศาสนา จชต.


กรณีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2562 สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ นำโดยนายขดดะรี บินเซ็น และตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจากจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และพัทลุง กว่า 50 คน ได้ร่วมแถลงการณ์ ณ โรงเรียนบุสตานุดดีน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อขับไล่ พล.ต.จตุพร กลัมพสุต รองแม่ทัพภาคที่ 4 ออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฐานที่ใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซ้ำซาก เพื่อลดปัจจัยที่จะทำให้ปัญหาไฟใต้ลุกลามและกระทบกระบวนการพูดคุยสันติภาพ อ้าว!! นี่แสดงให้เห็นว่าการเข้าไปตรวจสอบโปร่งใสของโรงเรียนดังกล่าว มีผลต่อสถิติการก่อเหตุร้าย และทำให้การพูดคุยสันติสุขไม่คืบหน้าเชียวหรือ!!

          การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวถึงขั้นขับไล่ให้พ้นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เบื้องลึกเกิดอะไรขึ้น เท่าที่ทราบ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านนี้คลุกคลีอยู่กับปัญหาภัยแทรกซ้อนมาเกือบตลอดชีวิตรับราชการ ทำงานอย่างตรงไปตรงมาสร้างผลงานมานับไม่ถ้วน และล่าสุดเปิดปมทุจริตโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจนฉาวโฉ่
          ทันทีเมื่อกระแสข่าวขับไล่ พล.ต.จตุพร แพร่สะพัดออกไป ในสื่อโซเชียลมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก สะท้อนความจริงอีกด้าน เรามาดูข้อความของคนในพื้นที่กันครับ ซึ่งไม่ได้มีการแต่งเติมเสริมแต่งแต่ประการใด ลองอ่านดูครับ
 เป็นเรื่องความจริง ทุจริตเงินอุดหนุนโรงเรียนสอนศาสนา... พออุสตาสขอขึ้นเงินเดือน ผอ.ก็ไล่ออกทันที.. บางโรงเรียนก็ได้เงินเดือนห้าพันบาท และบัตรของธนาคารต้อง ผอ.เก็บไว้ และช่วยกดเงินให้ทุกเดือน ถามเงินเดือนก็ไล่ออกทันที สงสารอุสตาสจริงๆ เงินเดือนไม่พอ แต่โชคดีบางคนมีสวนยางนิดหน่อย... นี่แหล่ะ!! โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน
ไปดูบ้านเจ้าของโรงเรียนซิ ใหญ่โตยังกะวัง บางแห่งทุบทิ้งสร้างใหม่ปีต่อปี และเรื่องรถยนต์เต็มรั้วบ้าน แต่พอเวลาจะสร้างมัสยิดในโรงเรียนแต่ละหลังต้องมาจัดงาน มาแกแตกินข้าวยำเพื่อสร้างมัสยิด อนาถจิตจริงๆ
จริงๆ ที่สุดกับแนวปฏิบัติปัจจุบัน ลูกเจ้าของกิจการโรงเรียนบางโรงปลูกสร้างที่อยู่อาศัยแบบหรูๆ พอจะสร้างต่อเติมอาคารเกี่ยวกับโรงเรียน ก็จัดการกุศล
ขนาดเงินเดือนทำงานให้ยังกดอีก ซากาตให้ทานจะไปเหลือหรือครับ
รัฐควรโอนเงินเดือนโดยตรงเข้าบัญชีครูที่บรรจุแล้ว โดยไม่ต้องผ่านโรงเรียน
หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดูแลฝ่ายการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาช่วยกันตรวจสอบ สอดส่องดูแลกันบ้างไม่ใช่ว่าปล่อยปละละเลย ช่วยกันคิดผลส่วนรวม กรณีเด็กผีก็เคยประสบมาแล้ว ทุกๆ โรงเรียนค่าเงินเดือนครูอาจารย์ก็มีเหมือนกันครับ จริงด้วยครับที่เจ้าของโรงเรียนมีรถหรู บ้านประดับประดาสิ่งนี้ล้วนด้วยข้อเท็จจริงครับ
เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งที่สะท้อนความขัดแย้งในพื้นที่ ระบบแบนี้น่าจะใช้กันทุกโรงเรียนด้วย ความจำเป็นบางอย่างคือโรงเรียนต้องเอาไปดูแลครูสอนศาสนาด้วย เพราะครูสอนศาสนาไม่อยู่ในระบบการศึกษาของรัฐ แต่จำเป็นสำหรับโรงเรียนที่ต้องมีครูสอนศาสนา ไม่งั้นผู้ปกครองก็ไม่ส่งเด็กมาเรียน แต่บางทีก็กลายเป็นการสบช่องหาผลประโยชน์
สรุปแล้วความเห็นของผู้โพสต์ในสื่อออนไลน์ ได้สะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหามายาวนาน ที่รอการแก้ไขจากระบบราชการที่มี สช. เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแล แม้ว่าในห้วงรัฐบาล คสช. 4 ปีที่ผ่านมา พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้รับมอบภารกิจจากท่านรัฐมนตรีให้มาแก้ปัญหาการศึกษาใน จชต. ก็มีการสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สำเร็จในการตรวจสอบความโปร่งใส จนในที่สุดทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้ามาร่วมตรวจสอบ และมีผลงานที่เด่นชัด กรณีโรงเรียนบากงพิทยา ที่อยู่ในการพิจารณาของศาล และโรงเรียนอื่นๆ ก็จะถูกดำเนินการตรวจสอบเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการตั้งโต๊ะแถลงข่าวของสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา..
-----------------

4/12/2562

น.ส.พรเพ็ญ ต้องการอะไร? จึงขอให้ยุติการเก็บ DNA ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารใน จชต.



กรณี น.ส.พรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้แถลงการณ์: ขอให้ยุติการเก็บและให้ทำลายสารพันธุกรรมของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อวันที่  9 เมษายน 2562 ที่ผ่านมานั้น มีการกล่าวหาการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในลักษณะของการล่วงละเมิดสิทธิของบุคคล
การจัดทำฐานข้อมูลตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ผู้ที่เข้ารับการคัดเลือกทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ประจำปี 2562 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น อยู่ในแผนการพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 อยู่แล้ว ซึ่งมีการจัดทำโครงการขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลและได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
ส่วนการเก็บ DNA ของผู้เข้ารับคัดเลือกทหารกองประจำการ ปี 2562 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น จะมีแบบให้กรอกความยินยอม หรือไม่ยินยอมก็ได้  ซึ่งหากดูสถิติผู้ที่เข้ารับคัดเลือกทหารกองประจำการ พบว่าระหว่างวันที่ 18 เม.ย.62 ซึ่งยังไม่จบสิ้นการคัดเลือกมีผู้ที่ยินยอมให้จัดเก็บ DNA มีถึง 19,410 คน ไม่ยินยอม 49 คน และไม่มีการจัดเก็บ 582 คน เนื่องจากไม่รายงานตัวเข้ารับการตรวจเลือก
          การจัดทำฐานข้อมูลตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ไม่ได้มีการบังคับเป็นความสมัครใจซึ่งมีแบบฟอร์มชัดเจนในการแสดงเจตจำนง และไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่ น.ส.พรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้กล่าวหา
  การแสดงท่าทีและออกแถลงการณ์ของ น.ส.พรเพ็ญ กับการลงทุนลงแรงเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์อะไร? ก็คงไม่พ้นการสร้างผลงานเพื่อรวบรวมรายงานไปยังองค์กรต่างประเทศ เพื่ออะไร? ทุกคนคงทราบดี ในส่วนของผู้ที่ไม่ยินยอมนั้นไม่ว่ากัน!! เพราะเป็นสิทธิที่สามารถปฏิเสธได้ แต่ลึกๆ แล้วกลัวอะไร? หากไม่เคยทำผิดมาก่อนไม่ต้องกลัว หากบริสุทธิ์ใจจริงการเก็บ DNA ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ เลย เกิดผลดีด้วยซ้ำมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สถานการณ์ดีขึ้น อีกทั้งการเก็บ DNA ไว้ในฐานข้อมูล.. จะไม่ถูกกลั่นแกล้งยัดข้อหามั่วให้กับผู้บริสุทธิ์...
------------------

4/11/2562

ความเพ้อฝันของ PerMAS กับการสนับสนุนพรรคการเมือง



สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเมืองแนวร่วมเชิญชวนร่วมกันเปลี่ยนโปรไฟล์เพื่อรณรงค์ แคมเปญ Kebebasan, Kesaksamaan, Persaudaraan (เสรีภาพ, เสมอภาค, ภราดรภาพ) การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วสู้เคียงข้างฝ่ายประชาธิปไตย และประชาชนที่ถูกฟ้องดำเนินคดีจากโครงสร้างและกลไกของรัฐบาลทหาร
หากมาดูความหมายของเสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพ ที่ฝ่ายต่อต้าน คสช. ได้คิดแคมเปญขึ้นมาเคลื่อนไหวนั้น
เสรีภาพ  คือการเน้นในเสรีภาพของบุคคล หรือ ปัจเจกชนนิยม และได้ขยายไปในเรื่องเสรีภาพในด้านความคิด ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหาความรู้ การพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งเสรีภาพในทางการเมือง
เสมอภาค คือความเท่าเทียมกันตามกฎหมายของปัจเจกชน ความเสมอภาคขึ้นอยู่กับหลักความเที่ยงธรรม ความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและหน้าที่ เช่น ความเท่าเทียมในด้านการเสียภาษี และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
ภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์
เสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพ มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรัฐบาล คสช.ชั่วคราวได้ทำตามโรดแมพที่ได้วางไว้ เป็นเรื่องของการเมืองที่จะต้องเดินไปตามกฎกติกา เข้าสู่ภาวะปกติ ไม่มีการสืบทอดอำนาจใดๆ เดือนมิถุนายนก็ต้องไปต่อสู้กันในสภาแทนการต่อสู้ในท้องถนนที่สร้างความแตกแยกความขัดแย้งของคนในประเทศ  การเลือกตั้งได้ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง การแสดงออก การแสดงจุดยืนและการใช้สิทธิเลือกตั้ง การให้ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกแต่อย่างใด
การออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับการเมืองส่วนกลางของ PerMAS มีเป้าหมายทางการเมือง ในการสนับสนุนพรรคประชาชาติซึ่งเป็นขั้วที่เรียกฝ่ายตนว่า ฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อมุ่งสู่การจัดตั้งเขตปกครองพิเศษใน 3 จชต. ตามที่ได้มีการเพ้อฝันและทำการต่อสู้ปลุกระดมความคิดให้กับแนวร่วมอุดมการณ์ที่ผ่านมา.
---------------

4/10/2562

ทำไม!! สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ จึงออกมาแถลงข่าว




กรณีสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ แถลงการณ์ไล่ พล.ต.จตุพร กลัมพสุต รองแม่ทัพภาคที่ 4 ออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซ้ำซาก พร้อมทั้งประกาศฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาต่อช่อง 7 และบุคคลต่างๆ ที่นำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวมีการกล่าวหาการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นปัจจัยเอื้อทำให้ปัญหาไฟใต้ลุกลามและกระทบกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
          หากมองการออกมาเคลื่อนไหวของสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ในครั้งนี้ น่าจะเกิดจากแรงกดดันจากภาครัฐ หลายส่วนที่เดินหน้าการสอบสวนกระบวนการบริหารจัดการ รวมทั้งกรมสรรพากรที่จะคิดภาษีย้อนหลังของการโอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีบุคคล ซึ่งจะต้องเสียภาษีทั้งๆ ที่โรงเรียนจัดตั้งในรูปของมูลนิธิ
          การออกมาแถลงข่าวเหมือนเป็นการร้อนตัว ซึ่งล่าสุด สช. ได้สั่งการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ให้ สช.จังหวัด และ สช.อำเภอในพื้นที่เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หากทุจริตจริง จะพิจารณาโทษ คาดว่าจะสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ภายใน 15 วัน นอกจากนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งคณะกรรมการในระดับ ฉก.ทหารในพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อตรวจสอบโรงเรียนในพื้นที่ของตนเองอีกด้วย
          การที่สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ขับไล่ พล.ต.จตุพร กลัมพสุต รองแม่ทัพภาคที่ 4 ออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เนื่องจาก พล.ต.จตุพรฯ เป็นผู้ที่ขุดคุ้ยการทุจริตที่เกิดขึ้นและตามจิกไม่ปล่อย ต่อสู้กับปัญหานี่มาโดยตลอด อีกทั้งเป็นผู้ที่ออกมาแฉ เปิดโปงข้อมูลให้สังคมได้รับรู้นำไปสู่การตรวจสอบอีกหลายร้อยโรงเรียนในขณะนี้
          การทุจริตที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการโกง งบอุดหนุนรายหัวนักเรียนและมีการเชื่อมโยงไปถึงการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับโรงเรียนบากงพิทยาที่มีการตรวจพบเท่านั้น ยังจำกรณีโรงเรียนปอเนาะ  ญีฮาด ของนายอับดุลเลาะ แวมะนอ กันได้มั๊ย!!
          ปัจจุบัน นายอับดุลเลาะ แวมะนอ ไปอยู่ที่ไหน? นายอับดุลเลาะฯ ใช่หรือไม่? ที่เป็นแกนนำสั่งการให้บรรดาแนวร่วมก่อเหตุสร้างสถานการณ์ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้น่าจะเอาเวลาไปตรวจสอบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและปอเนาะในพื้นที่ดูบ้างเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโรงเรียนปอเนาะญีฮาด หรือโรงเรียนบากงพิทยาที่อื้อฉาว ภายในโรงเรียนมีการปลูกฝังเรื่องอะไรให้กับเด็กและเยาวชน จนผลผลิตของโรงเรียนเหล่านั้นเกิดความกระด้างกระเดื่องเกลียดชังรัฐไทยและนิยมความรุนแรง     
อย่างไรก็ตามการเข้าทำการตรวจสอบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาต้องสงสัยหลายแห่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจพบหลักฐานสำคัญต่างๆ มากมายที่บ่งชี้ว่าโรงเรียนเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการ แต่มีโรงเรียนหลายโรงพร้อมให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในการเข้าทำการตรวจสอบด้วยความบริสุทธิ์ใจ และที่น่าสังเกต โรงเรียนหรือเจ้าของโรงเรียนใดที่ต่อต้านมักจะมีความผิด พยายามทุกวิถีทางที่จะเลี่ยงความผิดเพื่อรักษาผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่ได้จากการทุจริต อีกไม่นานความจริงทั้งหมดจะถูกเปิดเผย ใครถูกใครผิด!! ว่ากันไปตามกฎหมาย และพอจะคาดเดาคำตอบกันได้ล่วงหน้าแล้วว่า การที่สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวในครั้งนี้ จุดประสงค์เพื่ออะไร?
สุดท้ายอยากให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้งบประมาณของแผ่นดิน เพื่อช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของเด็ก-เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การแข่งขัน มีความสามารถทางวิชาการสู้กับภาคอื่นๆ ได้ อีกทั้งเป็นการคืนความสุขให้กับครูที่อุทิศแรงกายแรงใจในการสอน แต่ผลตอบแทนกลับไม่ได้ตามที่รัฐอุดหนุนงบประมาณให้ จึงขอให้สังคมเป็นผู้ตัดสินใจ ต้องการให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามยังคงเป็นแดนสนธยา หรือต้องการเปิดมิติใหม่เพื่อพัฒนาการศึกษาของลูกหลานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป.
-----------------------

4/09/2562

การเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐานของ NGOs ต่อกรณีการเสียชีวิต 2 ตชด.



จากกรณีคนร้ายก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่ ตชด. สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ค่ายพญาลิไท เสียชีวิต 2 นาย ขณะกำลังฟังคุตบะห์ (บรรยายธรรมก่อนละหมาดวันศุกร์) ที่มัสยิดนูรุลอิบาดะห์ บ้านมายอ หมู่ 6 ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมานั้น
เจ้าหน้าที่ ตชด.ทั้ง 2 นายที่เสียชีวิตนับถือศาสนาอิสลาม ยิ่งกว่านั้นคนร้ายที่ก่อเหตุได้กระทำในมัสยิดขณะกำลังละหมาดซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของพระเจ้าโดยไม่ย่ำเกรงกลัวต่อบาป เป็นสิ่งชี้ชัดให้เห็นว่าคนร้าย ฆ่าไม่เลือกหน้าไม่แยกแยะกลุ่มเป้าหมายกระทำได้กับทุกคน ทุกศาสนา เพื่อผลประโยชน์ ที่สำคัญคนร้ายมีพฤติกรรมที่โหดเหี้ยม เป็นโจรใจบาป เข่นฆ่าพี่น้องที่นับถือศาสนาเดียวกันโดยไม่มีการละเว้น...
การลงมือก่อเหตุในมัสยิดดังกล่าวเป็นคดีสะเทือนขวัญ ที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ครอบครัว ตชด. ได้ออกมาวิงวอนคนร้ายขอให้เกียรติ ศาสนสถานในการก่อเหตุ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัด มัสยิด หรือที่ไหนก็ตามขอให้เกียรติสถานที่และให้ทุกคนยอมรับว่าสถานที่ตรงนั้นเป็นสถานที่ที่สำคัญ เป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวมุสลิม และไทยพุทธ ซึ่งทุกศาสนาจะถือว่าศาสนสถานของตนเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา
ในขณะที่ นายอนัส นักปราชน์ ลูกชาย ร.ต.ท.อดุลย์ รักษ์ปราชญ์ 1 ใน ตชด. ที่เสียชีวิตได้กล่าวว่า ขอเป็นตำรวจแทนคุณพ่อ และจะสมัครไปอยู่ที่คุณพ่อเสียชีวิต เพราะต้องการที่จะตามจับคนร้ายที่ฆ่าพ่อมาลงโทษให้ได้และได้ฝากคนร้ายที่ก่อเหตุว่า เขาเป็นคนที่มีจิตใจที่เหี้ยมโหด ไม่คิดว่าครอบครัวที่ถูกกระทำจะมีความเดือดร้อนขนาดไหน
ในขณะที่เหตุความสูญเสียดังกล่าวนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจของ 2 ครอบครัว ตชด. ที่ต้องเสียเสาหลักของครอบครัวไป แต่น่าเศร้าใจและผิดหวังกับท่าทีของ NGOs กลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่ไม่มีความเคลื่อนไหวต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใดเลย กลับไปให้ความสนใจเรื่องการเก็บ DNA ในการเกณฑ์ทหารในพื้นที่ 3 จชต.และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาแทน 2 ชีวิตของตำรวจที่สูญเสียไม่มีค่าหรืออย่างไร? กลับใส่ใจให้ราคาและปกป้องตนผิดดิสเครดิตเจ้าหน้าที่กล่าวหาละเมิดสิทธิ
เพิ่งรู้และตาสว่างต่อการปฏิบัติของ NGOs กลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ จชต. มีสองมาตรฐานและเลือกปฏิบัติ ในทางกลับกันหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นสมาชิกแนวร่วม กลุ่ม ผกร. หรือประชาชนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม กลุ่มต่างๆ จะมีการเคลื่อนไหว เรียกร้อง ประณาม กดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐเร่งติดตามนำตัวคนร้ายมาลงโทษอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสื่อแนวร่วมทำการโฆษณาชวนเชื่อบิดเบือนข้อมูล โยนผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นผู้กระทำ
----------------------

4/04/2562

ทำไมต้องตรวจ DNA ใน จชต.



การโพสต์ภาพและข้อความของเพจ:ประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในดินแดนปาตานีและสื่อแนวร่วม #ความไม่มาตรฐานในสาธรภาพทางการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย ที่มีแต่พื้นที่ภาคใต้เท่านั้น ที่ละเมิดสิทธิได้ทุกอย่าง ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ปี 62 เยาวชนที่ไปเกณฑ์ทหารจะถูกตรวจเก็บ DNA

          การออกมาเคลื่อนไหวการตรวจ DNA ของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารในพื้นที่ จชต. กล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร?

เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน แต่จะต้องยึดหลักความยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งจะต้องตอบคำถามของสังคมได้อย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการตรวจ DNA

ที่ผ่านมากลุ่มภาคประชาสังคมยื่นหนังสือให้หน่วยงานความมั่นคงชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใน 2 ประเด็น กล่าวคือ การตรวจ DNA โดยมิชอบ การใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต และการโจมตีใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหาอย่างเสียหายในสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ล้วนตั้งข้อสงสัยถึงการปฏิบัติของภาครัฐต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

คำถาม!! ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องเก็บ DNA ของบุคคลต้องสงสัยหรือบุคคลทั่วไปนั้นกระทำได้หรือไม่  อย่างไร?  และมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ในการตรวจ DNA ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นที่ถกเถียงของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเจ้าหน้าที่บอกว่ากระทำได้ ฝ่ายที่ถูกกระทำออกมาเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าเป็นการละเมิด

ที่ผ่านมา ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยจะต้องคำนึงถึงหลักสัดส่วนของกฎหมายมหาชน กล่าวคือ ชั่งน้ำหนักการคุ้มครองสิทธิของประชาชน กับอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ให้อยู่ในระดับพอดี ซึ่งพื้นที่ จชต. เหตุการณ์ความไม่สงบได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่รัฐจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เข้มข้นมากกว่าปกติ อาจไปกระทบสิทธิของประชาชนบ้างแต่ก็ใช้อย่างระมัดระวัง เช่นการตรวจเก็บ DNA บุคคลหรือการไม่ได้รับความสะดวกในการตรวจค้น

การใช้อำนาจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มาจากไหน? ก็มาจากกฎหมายปกติ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความซึ่งบังคับใช้ทั่วประเทศอยู่แล้ว ในมาตรา 17 กล่าวคือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อจะทราบรายละเอียดแห่งความผิดหลังเกิดเหตุ ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ แต่อาจไปกระทบสิทธิของบุคคลบ้าง ต้องสมเหตุสมผล ไม่ใช่การที่เจ้าหน้าที่รัฐลุแก่อำนาจ ไปจับตัวใครก็ได้มาทำประวัติตรวจ DNA โดยไม่มีเหตุผล

เจ้าหน้าที่อาจมีการใช้กฎหมายมาตรา 131/1 ป.วิ.อาญา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวน ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้ตรวจ DNA ให้สันนิษฐาน ว่าผลเป็นไปตามที่ตรวจพิสูจน์ คือเป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มาตรา 17 เป็นเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย (ก่อนเกิดเหตุ) ส่วนมาตรา 131/1 เป็นเรื่องของการสอบสวน (หลังเกิดเหตุ)

การเก็บ DNA ไว้ในฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่ดี ที่ผ่านมาแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็มีการเก็บ DNA ไม่มีการยกเว้นทุกคนจะต้องตรวจ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดน และหน่วยงานอื่นๆ อีกทั้งยังมีการจัดเก็บหลักฐานจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทุกกระบอกไว้เป็นหลักฐาน การที่ภาครัฐจัดเก็บข้อมูล ดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา หรือบางเหตุการณ์ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็สามารถตรวจสอบพิสูจน์ได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของใคร?

เช่นเดียวกันกับการตรวจ DNA ของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่มีการตรวจ มีแต่ผลดีมากกว่าผลเสีย เช่นหากเราตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความ ซึ่งตัวเราเองไม่ได้กระทำความผิด ฐานข้อมูล DNA ที่เจ้าหน้าที่จัดเก็บไว้สามารถตรวจสอบพิสูจน์ยืนยันความบริสุทธิ์ของเราได้ในทันที

สำหรับการตรวจเลือกทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นการตรวจ DNA ของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกเป็นไปตามความสมัครใจและยินยอม อยากจะถามผู้ที่ออกมาเรียกร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตรงไหน และเป็นการเรียกร้องเพื่อใคร เรียกร้องเพื่ออะไร หรือกลัวว่าจะมีกลุ่มที่สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนจะถูกตรวจพบ การตั้งข้อระแวงสงสัยกล่าวหาเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในการตรวจ DNA นั้นเป็นความบริสุทธิ์ใจหรือไม่!! และผู้ที่เคลื่อนไหวจุดประเด็นดังกล่าวเคยกระทำความผิดมาหรือเปล่า? จึงร้อนรนไม่อยากให้มีการตรวจ หากบริสุทธิ์ใจจริง ไม่เคยกระทำความผิดแล้วจะไปกลัวทำไม!!  ดังนั้นผู้ที่ถูกตรวจ DNA ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และไม่คิดไม่มีแผนที่จะกระทำความผิดก็สบายใจได้ หากท่านเป็นคนดีไม่เคยทำความผิด ใครก็ไม่สามารถยัดเหยียดข้อหาให้ท่านได้
--------------