4/01/2563

ภาคประชาสังคมฯ และกลุ่ม BRN ใช้การเกิดโรคระบาด ออกแถลงการณ์สร้างผลงาน.. กันอย่างสอดคล้องลงตัว..

     การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเวลานี้   ภาคประชาสังคมฯ หลายองค์กรในประเทศไทย ได้ออกมาแสดงบทบาทออกมาในเวลาที่ใกล้เคียงได้อย่างสอดคล้องต้องกัน พร้อมกับกลุ่ม BRN ซึ่งเป็นกลุ่มนอกกฎหมายกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย  และดูเหมือนว่าภาคประชาสังคมฯ กับกลุ่ม BRN จะออกมาแสดงบทบาทได้เป็นจังหวะจะโคนราวกับเป็นวงดนตรีคณะเดียวกันเลย.. เพียงเพื่อที่จะให้ดูดีมีบทบาทในสังคม ผสมกับการยกระดับให้การรับรองกลุ่ม BRN ไปด้วย..ใช่หรือไม่.. วันนี้ภาคประชาสังคมฯ ต้องการให้ BRN เป็นกลุ่มถูกกฎหมายแล้วหรือ.. ลองมาพิจารณาไล่เรียงเหตุการณ์และดูความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงในเรื่องนี้.. ไปด้วยกัน
     วันที่ 25 ธันวาคม 2562  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและบันทึกเรื่องราวกรณีการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายในประเทศไทย  เผยแพร่ปฏิญญาสากล Safe School เพื่อการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ (https:// voicefromthais.wordpress.com) โดยกล่าวว่า เราทำอะไรกันน้อยไปไหมเรื่องการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ หลักการที่กล่าวถึง Safe School ตามหลักสากล จะนำมาปรับใช้ได้อย่างไรหรือไม่ สถานการณ์ในพื้นที่ดูเหมือนว่าจะมีใครคิดทำอะไรกับเด็กในจังหวัดชายแดนใต้  สรุปสาระสำคัญที่อ้างหลักสากลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ไม่ต้องการให้ทหารเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียนนั่นเอง ซึ่งนอกจากการเผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวแล้ว ยังมีความพยายามที่จะเสนอรัฐบาลให้การรับรองเรื่องนี้ด้วย
     วันที่ 15 มกราคม 2563  กลุ่ม BRN แสดงละคร ด้วยการลงนามฝ่ายเดียวว่าด้วยเรื่อง การปกป้องเด็ก จากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ (Armed Conflict) เพื่อแสดงตัวตนยกระดับกลุ่มให้มีบทบาทในเวทีโลก ซึ่งขัดกับความจริงที่ผ่านมา เพราะคนกลุ่มนี้เคยทำร้ายเด็กๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ได้รับเคราะห์กรรมอย่างแสนสาหัส  เช่น เด็กไม่มีที่เรียนหนังสือเพราะโรงเรียนถูกเผา  เด็กไม่มีครูสอนหนังสือเพราะครูถูกยิงตาย และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ การลอบวางระเบิดเพื่อทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ซึ่งมีเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องบาดเจ็บล้มตาย  ทำให้มีเด็กๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เด็กต้องเผชิญชะตากรรมอย่างสิ้นหวัง เมื่อขาดเสาหลักกลายเป็นกำพร้าอย่างน่าสงสาร เพราะพฤติกรรมความเลวร้ายของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งกลุ่ม BRN ให้การสนับสนุนและสั่งการให้ก่อเหตุมาจนถึงทุกวันนี้
     หลังจากลงนามแล้ว  แทนที่กลุ่ม BRN จะปฏิบัติตามสัญญาที่ตัวเองได้ลงนามไปแล้ว แต่กลับมีการสั่งการให้แนวร่วมปฏิบัติการก่อเหตุร้ายและลอบวางระเบิดอย่างต่อเนื่อง
     วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563  มีการลอบวางระเบิดที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา  เป็นเหตุให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 คน 
     วันที่ 17 มีนาคม 2563  ปล้นรถชาวบ้านแล้วจับมัดไว้ ก่อนนำรถไปประกอบระเบิด แล้วขับไปจอดไว้ที่หน้า ศอ.บต. ในพื้นที่เมืองยะลา  แล้วกดระเบิด  ทำให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ รวม 18 คน
     วันที่ 20 มีนาคม 2563  ลอบวางระเบิด ชุดกิจการพลเรือน ทพ.45 หลังจากร่วมกับชาวบ้านทำความสะอาดมัสยิด บ.ลาไม ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 นาย
     มีความเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคมนั้น มีการสั่งการให้ก่อเหตุในเขตเมือง เพื่อหวังผลในการเบี่ยงเบนความสนใจตอบโต้เจ้าหน้าที่ ที่ได้ปิดล้อมเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหมาย ป.วิอาญา คดีสำคัญหลายคดี ในพื้นที่บริเวณเขื่อนปัตตานี ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา  จนเกิดการปะทะกันขึ้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม เป็นเหตุให้ผู้ก่อเหตุฯ เสียชีวิต 3 ราย เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 4 นาย  จึงมีการสั่งการให้ก่อเหตุระเบิดในเขตเมือง เพื่อดึงความสนใจและหวังจะให้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกจากการปิดล้อมเข้าไปในเขตเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น กลับกลายเป็นการทำร้ายซ้ำเติมพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้นในพื้นที่พอดี ชาวบ้านจึงพากันด่าทอสาปแช่งกับการกระทำที่เลวร้ายนี้   

     ส่วนการปิดล้อมเพื่อบังคับใช้กฎหมายบริเวณเขื่อนปัตตานี ที่เริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่ วันที่ 12 มีนาคมนั้น ยังคงดำเนินต่อไป และเกิดการปะทะกันอีกครั้งในวันที่ 18 มีนาคม ผู้ก่อเหตุฯ เสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 นาย  ความพยายามที่จะตอบโต้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จึงมีอีกครั้ง ด้วยการลอบวางระเบิดที่ บ.ลาไม ในวันที่ 20 มีนาคม ดังกล่าวซึ่งในปัจจุบันการปิดล้อมบริเวณเขื่อนปัตตานี ยังไม่เสร็จสิ้น มีการปรับเปลี่ยนวิธีการและลดจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติลงให้เหลืออยู่เฉพาะที่จำเป็น เนื่องจากยังมีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหลบซ่อนอยู่บริเวณเกาะกลางน้ำอีก 3 คน
     จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้.. (เจ้าเก่า)  พากันออกมาเคลื่อนไหวออกมาแสดงท่าที เพื่อสร้างผลงานกันทันที
     วันที่ 20 มีนาคม 2563  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีและกลุ่มด้วยใจ แถลงการณ์เรื่องความสูญเสียที่ริมเขื่อนปัตตานี และการระเบิดที่ ศอ.บต. ว่าขัดกับแนวทางสันติวิธีและลดทอนบทบาทของการเจรจาสันติภาพ โดยสรุปเนื้อหาก็ยังเป็นการกล่าวอ้างการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งอาจเป็นยุทธิวิธีที่ขัดกับแนวทางสันติวิธีและลดทอนความพยายามในการเจรจาสันติภาพของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเห็นได้ว่า แถลงการณ์นี้มีความพยายามในการรับรองสถานะและยกระดับกลุ่ม BRN ขณะเดียวกันก็พูดถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่าไปสร้างความเดือนร้อนให้ประชาชน
     วันที่ 21 มีนาคม 2563  สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) ซึ่งเรียกตัวเองว่า เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่มีแนวทางการทำงานสอดคล้องกับกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่ ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ  ได้ออกแถลงการณ์พิเศษ ผ่านสื่อออนไลน์ https://www.facebook.com/Lempar-The-Academy-Of-Patani-Raya-For-Peace-and-Development เรียกร้องรัฐและBRN ให้หยุดปฏิบัติการทางอาวุธอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกลับมาสู่ภาวะปกติ  แถลงการณ์นี้มีความพยายามในการรับรองสถานะและยกระดับกลุ่ม BRN  โดยใช้สถานการณ์ที่เกิดโรคระบาด เรียกร้องให้มีการยุติการใช้อาวุธ ในวันที่มีการลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ที่ บ.ลาไม  เป็นความพยายามเพื่อกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยตรง เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่เคยสนใจข้อเรียกร้องใดจากใครเลย
     วันที่ 24 มีนาคม 2563  สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี PerMAS ได้ส่งสาส์นผ่านสื่อออนไลน์ในเพจของกลุ่ม(https://www.facebook.com/The-Federation-of-Patani-Students-and-Youth-PerMAS) แสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนชาวปาตานีและชาวไทย ที่กำลังต่อสู้กับภัยร้ายที่กำลังระบาดของ Covid-19  ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงและการใช้อาวุธยังคงมีให้เห็นหลายเหตุการณ์ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวปาตานี.  ยังกังวลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการละเมิดหลักมนุษยธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่.  การเปิดพื้นที่ทางการเมืองสู่การกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนเป็นแนวทางที่สำคัญที่นำไปสู่สันติภาพ  สาส์นนี้ใช้สถานการณ์โรคระบาด เพื่อแสวงประโยชน์แสดงบทบาทของกลุ่มเรียกร้องโจมตีเจ้าหน้าที่/ประเทศไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่การกำหนดใจเพื่อปกครองตนเอง
     วันที่ 27 มีนาคม 2563 กลุ่ม BRN ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ผ่านพ้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น (https://www.facebook.com/watch/wartanimap) การใช้สถานการณ์โรคระบาดออกมาแสดงความห่วงใยผู้คนในครั้งนี้ นับเป็นความพยายามเคลื่อนไหวแสดงบทบาทในการมีตัวตนมีองค์กรของกลุ่มต่อสาธารณะ แต่ก็คงไม่สามารถทำให้คนในพื้นที่ชื่นชมนิยมชมชอบไปได้ เพราะได้สร้างความเดือดร้อนให้คนในพื้นที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง
     เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ ทำให้ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์กรรมที่เกิดจากน้ำมือของคนชั่วมายาวนาน เพราะไม่มีคนดีที่ไหนจะไปไล่ฆ่าไล่ยิงลอบวางระเบิดสร้างความเดือดร้อนให้กับคนทั่วไปได้อย่างแน่นอน  วันนี้ ภาคประชาสังคมฯ ออกมาเรียกร้องอะไรกันบ้าง เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือคนดี หรือคนชั่ว.. สังคมคงจะให้คำตอบได้.. ว่าการแสดงบทบาทที่เหมือนว่าจะดูดี ในยามที่ประชาชนทั้งประเทศทั้งโลก กำลังทุกข์ยากลำบากเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงในครั้งนี้.. ความเห็นอกเห็นใจและข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ออกมานั้น..  เพื่อประโยชน์ของสังคม ของพี่น้องประชาชน อย่างแท้จริงหรือไม่.. หรือเพียงแค่ฉกฉวยโอกาส สร้างผลงานเพื่อใช้ประกอบการรายงานเพื่อรับผลประโยชน์ค่าตอบแทนเท่านั้นเอง.. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น