9/05/2558

ส่องปัญหาไฟใต้... ตอน เปิดปมกฎหมายพิเศษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่องปัญหาไฟใต้...
ตอน เปิดปมกฎหมายพิเศษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แบดิง โกตาบารู

ทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น มิใช่ลงมาเพื่อทำการสู้รบ หรือทำสงครามกับกลุ่ม ผกร.แต่อย่างใด
นั่นคือกรอบหน้าที่ของทหารในการปฏิบัติภารกิจแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในมุมมองของผู้ที่คิดต่าง นักวิชาการได้มีการกล่าวหาโจมตีชี้ให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็น มีความพยายามเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ และถอนกำลังทหารออกนอกพื้นที่อยู่เสมอ
กลุ่มขบวนการโจรใต้ใช้ยุทธวิธีก่อเหตุสร้างความปั่นป่วนโดยมีผู้ก่อเหตุรุนแรง (Perpetrator of Violence) เป็นผู้ลงมือ ควบคู่กับการต่อสู้ทางการเมืองโดยใช้แนวร่วมองค์กรภาคประชาสังคมทำการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งประเด็นที่สำคัญได้แก่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ จชต. โดยเฉพาะการตรวจ DNA, การชี้ให้เห็นว่าปัญหา จชต. เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict) และมีการปลุกกระแสเรียกร้องในการกำหนดใจตนเอง (Self-determination)
ผู้เขียนขอเปิดปมชำแหละข้อกฎหมายที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่ จชต. ซึ่งมีการตั้งป้อมกล่าวหาเจ้าหน้าที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ จชต. จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษที่มีการประกาศใช้ ซึ่งจะต้องปฏิบัติโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ และไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ตามมาตรา 17 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
เมื่อมีการก่อเหตุกระทำความผิด เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อทำการติดตามจับกุมตัวมาลงโทษดำเนินคดี มีการนำกระบวนการด้านนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อยืนยันตัวบุคคล (การตรวจ DNA) แต่องค์กรภาคประชาสังคมกลับมีการรวมตัวยื่นหนังสือร้องความเป็นธรรมกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และให้มีการชี้แจงการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ
โดยหลักการทั่วไปในการเก็บ DNA บุคคล ต้องได้รับการยินยอมในการจัดเก็บ DNA” แต่มีข้อยกเว้นไม่ต้องได้รับการยินยอมมีกฎหมายรองรับในบางสถานการณ์ที่จำเป็น ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ จชต. เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง อยู่ในมาตรา 11(6) นายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้มีการตรวจเก็บ DNA เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ตามที่กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมได้มีการตั้งข้อสังเกตและทำการกล่าวอ้างว่าขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องถือเอาความมั่นคงของประเทศเป็นใหญ่ ซึ่งพอจะยอมรับกันได้ แต่ต้องมีเหตุผลเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
เมื่อกลางปี 2558 ที่ผ่านมา คณะทูตกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลามประจำประเทศไทย ได้มาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในการนี้คณะทูตได้ไปเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 โดยคณะทูตได้เห็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการอำนวยความยุติธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมายและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ตลอดจนมีความเข้าใจว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานสากลเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการจัดเวทีให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) ของกลุ่มนักศึกษา PerMAS แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร? และกระทำได้หรือไม่? ตามที่มีการพยายามสร้างกระแสกัน
นักศึกษา PerMAS เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนงานการเมืองสนับสนุนกลุ่มขบวนการ BRN โดยเฉพาะกรณีการเคลื่อนไหวในการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) มีความพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็น เอกราช จากรัฐบาลไทย
กฎกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองข้อ 1 ระบุว่า ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองโดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน
สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) ข้อนี้ไม่สามารถกระทำได้ตามที่มีการรณรงค์และปลุกกระแสมาอย่างต่อเนื่องขององค์กรภาคประชาสังคม เนื่องจากประเทศไทยได้ทำข้อแถลงตีความ (ข้อสงวน) สิทธิในการกำหนดใจตนเองไม่ได้กระทำได้ในทุกๆ เรื่อง และมีข้อสงวนไว้ว่า มิให้ตีความว่าอนุญาต หรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยก หรือทำลายบูรณภาพแห่งดินแดน หรือเอกภาพทางการเมืองของรัฐ เอกราชอธิปไตย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ จชต. ไม่ได้พูดทั้งหมด แต่มีการนำเอาเนื้อหาเพียงบางส่วน แล้วนำไปปลุกกระแส ปลุกระดม มีการจัดเวทีเสวนาโน้มน้าวให้มีผู้เห็นด้วยนำไปสู่การสนับสนุนฝ่ายตนเอง จะไม่มีการกล่าวถึงข้อสงวน และกล่าวถึงกรณีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมาได้บัญญัติการออกเสียงประชามติไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนส่วนใหญ่ จึงจะให้มีการออกเสียงประชามติ
ดังนั้นการกำหนดใจตนเอง (Self-determination)จึงกระทำไม่ได้ในพื้นที่ จชต. ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามิได้เปิดช่องให้มีการทำประชามติในเรื่องปัญหา จชต. เมื่อไม่มีการเปิดช่องการทำประชามติเอาไว้ หรือฟังเสียงคนทั้งประเทศเท่ากับว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การกำหนดใจตนเองก็ไม่สามารถกระทำได้ตามที่ได้มีการปลุกกระแสดังกล่าวขึ้นมาแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกันนักวิชาการ กลุ่มแนวร่วมขบวนการพยายามสื่อให้องค์กรต่างประเทศเห็นว่าปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict)
 การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ เป็นการต่อสู้ภายในรัฐระหว่างกองกำลังรัฐบาล กับกองกำลังต่อต้านรัฐบาล หรือระหว่างกลุ่มกำลังต่างๆ ที่ยังมิได้จัดตั้งรัฐบาล องค์ประกอบหลักสำคัญ จะมีการพิจารณาจากประเด็นหลักๆ ดังนี้ คือ
          1) มีการจัดตั้งองค์กร
          2) มีการบังคับบัญชา
          3) มีการควบคุมพื้นที่
          4) มีการปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่องและพร้อมเพรียง
องค์ประกอบย่อย (ระดับความรุนแรงของการต่อสู้)
          1) การใช้กองทัพปราบปราม
          2) การเจรจากับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
          3) การให้องค์กรระหว่างประเทศ หรือประเทศอื่นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
          4) การมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
          5) การก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินบ่อยครั้ง และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
การมีกองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐบาล ดูที่การแสดงให้เห็นว่า มีสายการบังคับบัญชา,  มีความสามารถปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ,  มีการส่งกำลังบำรุงในระดับหนึ่ง, มีวินัยในระดับหนึ่ง และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีขั้นพื้นฐานของกฎหมายสงคราม เช่น การถืออาวุธ การโจมตีโดยเปิดเผย ไม่โจมตีทำลายประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ความสามารถที่จะเจรจาต่อรองอย่างเป็นเอกภาพ
กระทรวงการต่างประเทศได้ทำการชี้แจงเมื่อเดือนกันยายน 2554 โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัญหา จชต. ไม่เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict) ด้วยเหตุผลที่ว่า
          1) ไม่มีกลุ่มใดรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
          2) ผู้ก่อเหตุปฏิบัติในทางลับไม่เปิดเผย
          3) ไม่มีหลักฐานว่ามีการบังคับบัญชาทางทหาร
          4) ไม่มีพื้นที่ใดถูกควบคุมโดยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
          5) เหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นอาชญากรรมทั่วไป
ที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดได้ตอบโจทย์ในทุกประเด็นในแง่ของกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มิได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน อีกทั้งประเด็น การกำหนดใจตนเอง (Self-determination) ที่มีความพยายามทุกวิถีทางของกลุ่มนักศึกษา PerMAS เพื่อให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็น เอกราช จากรัฐบาลไทย ก็มิอาจกระทำได้ และปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Armed conflict) ไม่ได้เป็นการขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ (Internal Armed conflict) หรือ การขัดกันด้วยอาวุธที่มิใช่ระหว่างประเทศ (Non Internal Armed conflict) แต่เป็นเพียงการรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นการบังคับใช้กฎหมายภายใต้กฎหมายอาญาภายในประเทศ (Domestic Criminal Law) เท่านั้น
----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น