11/21/2560

จับ“ทีมงูเต๊ะ”บันนังกูแว เก่งแต่ลอบทำร้ายผู้หญิง เด็ก และคนชรา

Ibrahim


      เจ้าหน้าที่บุกจับ “ทีมงูเต๊ะ” โจรใต้คาบ้านพักที่บ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา กระชากหน้ากากความชั่วช้า ย้อนประวัติเปิดโปงพฤติกรรมลอบกัดทีเผลอ มุ่งทำร้ายเฉพาะเป้าหมายที่อ่อนแอไร้ทางต่อสู้ เลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิง เด็กเล็ก และคนชรา เคยก่อเหตุสะเทือนขวัญมีผู้เสียชีวิต 3 ศพ เมื่อปี 57 และล่าสุดย้อนรอยลงมือก่อคดีอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยการประกบยิง นางวนิดา ศรีแก้ว ผู้ช่วยพยาบาลประจำห้องฟอกไต โรงพยาบาลศูนย์ยะลาได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะนำข้าวไปให้ลูกชายซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่โรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง

          เมื่อวันที่ 20 พ.ย.60 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจสนธิกำลังร่วมกับฝ่ายปกครองกว่า 50 นายบังคับใช้กฎหมายเข้าตรวจสอบพื้นที่ หมู่ที่ 4 บ้านบันนังกูแว ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เพื่อเข้าทำการตรวจค้นบ้านเป้าหมาย ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ 68/1 สามารถควบคุมตัว นายซับรี เจะแว ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นสมาชิก ผกร. สังกัดกลุ่ม นายอับดุลเลาะ ตาเปาะโต๊ะ ตรวจสอบประวัติพบว่า นายซับรี เจะแว เคยร่วมกับพวกทำการก่อเหตุประกบยิง นายดอรอแม ดาราเซะ นางอาอีเสาะ เฮงดารา และ ด.ญ.นูรอีมาน ดาราเซะ เสียชีวิตทั้ง 3 คน (พ่อแม่-หลาน อส.อับดุลฮากิม ดาราเซะ)  เหตุเกิดบนถนนสาย 410 ทางเข้าบ้านบันนังกูแว ม.4 ต./อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.57 และนายซับรี เจะแว เป็นบุคคลตามหมายจับคดีความมั่นคง ตามหมายศาลจังหวัดยะลา ที่ จส.105/2557 ลงวันที่ 22 เม.ย.57 ในข้อหา “ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น” เหตุการณ์หลายเหตุหากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมคนร้ายที่ลงมือก่อเหตุมาดำเนินคดีได้อย่างทันท่วงที หรือจับได้ในภายหลังซึ่งเหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว มีผลต่อความคิดความเชื่อกรณีการปล่อยข่าวลือในร้านน้ำชา การโฆษณาชวนเชื่อในสื่อโซเชียลของแนวร่วมขบวนการ ที่ชี้ให้คนในพื้นที่เข้าใจผิดว่าผู้ที่ลงมือทำร้ายประชาชนคือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากในการลบความมีอคติของผู้คนเหล่านั้นกับมุมมองเจ้าหน้าที่คือผู้ร้าย แต่กรณีเจ้าหน้าที่รวบตัวคนร้ายที่ลงมือก่อเหตุได้อย่างทันท่วงที สามารถยืนยันและตอกย้ำให้เห็นว่ากลุ่มขบวนการโจรใต้ได้จัดตั้ง “ทีมงูเต๊ะ” ขึ้นมาจริง เพื่อมุ่งก่อเหตุแล้วโยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ นี่คือตัวตนที่แท้จริงของทีมงูเต๊ะโจรใต้ที่อยู่ภายใต้หน้ากาก กับความจริงที่ยากจะปฏิเสธว่าแท้จริงแล้วเป็นได้แค่โจรใต้ขี้ขลาดตาขาว เก่งแต่คอยลอบกัดเหมือนสัตว์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเลือกกัดเฉพาะผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่มีแม้อาวุธที่จะต่อสู้ เมื่อไล่เรียงแล้วพบว่าที่ผ่านมาโจรใต้ขี้ขลาดตาขาวมักลอบทำร้ายคนชรา ผู้หญิง และเด็กเล็กอายุแค่ 2 ปี 8 เดือน และเหยื่อความชั่วล่าสุดเป้าหมายก็ยังคงเป็นผู้หญิง ได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นตายเท่ากัน แล้วจะให้เรียกหรือยกย่องโจรใต้กลุ่มนี้ว่าเป็น “นักรบ” กระนั้นหรือ? คงให้ราคามากไปกว่า “โจรใต้เมาน้ำกระท่อม ย้อมใจฮึดให้กล้า ฆ่าเด็ก ยิงผู้หญิง ทำร้ายคนชรา” มากกว่า 
 เหตุคนร้ายประกบยิงนางวนิดา ศรีแก้ว ผู้ช่วยพยาบาล

ส่วนการทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ถือได้ว่าเป็นการละเมิดหลักการมนุษยธรรม หากจะย้อนไปดูความป่าเถื่อนพบว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.59 โจรใต้บุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บหลายราย สร้างความวุ่นวายในบริเวณสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้ป่วยได้รับความเดือดร้อน ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.60 ยังก่อกวนด้วยการตัดโค่นต้นไม้ขวางถนน วางตะปูเรือใบใส่รถรีเฟอร์โรงพยาบาลเบตง ซึ่งมีผู้ป่วยผ่าตัดทางสมองทำการส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ส่งผลให้รถพยาบาลคันดังกล่าวต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนยาง และเดินทางไปส่งคนไข้ล่าช้า หากคนไข้เสียชีวิตใครรับผิดชอบ ถามว่าการกระทำดังกล่าวสมควรประณามหรือไม่? และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ช่วยพยาบาลประจำห้องฟอกไต โรงพยาบาลศูนย์ยะลาล่าสุดที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส NGOs มุดหัวไปไหน กลับเพิกเฉยไม่รู้ไม่ชี้ หรือที่เงียบเพื่อเตรียมข้อมูลช่วยเหลือและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำการปล่อยตัว นายซับรี เจะแว ทีมงูเต๊ะโจรใต้ให้พ้นผิดอีกตามเคย!! ในข้อหาถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน... นี่แหละพฤติกรรม NGOs
--------------------

11/20/2560

ทีมงูเต๊ะกับวิวัฒนาการของ ผกร.

"แบดิง โกตาบารู"

ทีมงูเต๊ะ ซึ่งเป็นภาษามลายูหากแปลความหมายคือ ทีมเก็บกวาดล้างหรือทีมล่าสังหารใครก็ตามที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะรู้ถึงพฤติกรรมของสื่อแนวร่วมโจรใต้กับการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการชี้นำว่า ทีมงูเต๊ะคือ ทีมล่าสังหารของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสื่อแนวร่วมเหล่านี้พยายามสื่อให้เห็นว่าทีมล่าสังหารของเจ้าหน้าที่ตามเก็บหมายเอาชีวิตพี่น้องมลายูปาตานี ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้งที่มีการแจ้งเตือนให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันด้วยความระมัดระวังจากการลอบทำร้ายจากทีมงูเต๊ะ

นั่นคือความพยายามของสื่อแนวร่วมโจรใต้ที่กระทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความหวาดระแวง ใส่ร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ หากจะกล่าวถึงวิวัฒนาการของ ผกร. หลายท่านอาจจะนึกภาพ RKK ที่มีการฝึกการใช้อาวุธ ฝึกการประกอบระเบิด มีการซูมเปาะห์ (สาบานตน) จนกระทั่งมีการทดสอบกำลังใจผู้ที่ฝึกจบใหม่ๆ ให้ทำการก่อเหตุสร้างสถานการณ์จนเป็นที่ยอมรับจากแกนนำ ส่งลงพื้นที่ปฏิบัติการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ ลอบระเบิด เผาสถานที่ราชการ ทำลายสาธารณูปโภค ไฟฟ้า โทรศัพท์ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง แต่ในขณะที่ RKK เหล่านี้จะมุ่งเป้าโจมตีก่อเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ ต่อคนหมู่มากแล้ว ยังมีการปฏิบัติการ ทีมงูเต๊ะขึ้นมาเพื่อตามเก็บ กวาดล้างในรายเล็กๆ ซึ่งเป็นผู้ที่หันหลังให้กับขบวนการ หรือแม้กระทั่งรับจ้างเป็นมือปืนให้กับกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ ขบวนการค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน จากความขัดแย้ง     ในเรื่องธุรกิจมืด นอกจากนี้ยังพัวพันไปถึงความขัดแย้งในเรื่องการเมืองท้องถิ่น และยังตามเก็บฝ่ายเดียวกันเองซึ่งเป็นผู้ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคง หมาย ป.วิอาญา และหมาย พรก. ซึ่งแน่นอนว่าหากบุคคลกลุ่มนี้เสียชีวิตเมื่อไหร่ สื่อแนวร่วมขบวนการจะทำการชี้นำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ตามเก็บบุคคลที่มีหมายติดตัวเหล่านี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงแผนการชั่วของกลุ่มขบวนการที่ได้มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนไว้แล้ว หากมองในเรื่องของการสร้าง วาทกรรมขึ้นมาของกลุ่มขบวนการเพื่อต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากมีการใช้บ่อยและมักได้ผลทุกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่กลุ่มขบวนการโจรใต้ใช้วิธีดังกล่าวเนื่องจากในปัจจุบันจากการรุกทางการเมืองของหน่วยงานภาครัฐ มีการส่งเสริมเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญการค้าการลงทุน พัฒนาแหล่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่ดีกินดีมีงานทำ จากความพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่ได้ทุ่มงบประมาณลงมาและการติดตามโครงการต่างๆ ในพื้นที่ มาวันนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในการสร้างฝันให้เป็นจริง ได้ใจประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ผลที่ตามมาเกิดความร่วมมือจากประชาชนรอบด้านที่มีให้หน่วยงานภาครัฐ 

จากปรากฎการณ์ดังกล่าว กลุ่ม ผกร. กลัวเสียมวลชนให้กับหน่วยงานภาครัฐ จึงได้จัดตั้ง ทีมงูเต๊ะ ขึ้นมาเพื่อลงมือปฏิบัติการแล้วใส่ร้ายเจ้าหน้าที่เป็นการโดยเฉพาะ เพื่อแย่งชิงมวลชนกลับคืนมา โดยไม่แยแสต่อความรู้สึกของประชาชน ยัดเยียดความชั่วร้ายให้กับประชาชนบริสุทธิ์ ผู้ที่มีหมายคดีความมั่นคงติดตัว สมาชิกที่หันหลังให้กับกลุ่มขบวนการ กลุ่มธรกิจมืด หรือแม้กระทั่งผู้นำศาสนาที่เดินทางสายกลาง ก็จะถูก ทีมงูเต๊ะตามเก็บ ผลลัพธ์ที่กลุ่มโจรใต้ได้รับจากการใช้ ทีมงูเต๊ะปฏิบัติการเงียบเปรียบเสมือน ยิงปืนครั้งเดียวได้นกถึงสองตัว นกตัวแรกคือกำจัดเสี้ยนหนามของกลุ่มขบวนการ รับจ้างตามเก็บกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม และนกตัวที่สองคือโยนความผิดที่กลุ่มโจรใต้ก่อขึ้นเหล่านั้นว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ หากจะกล่าวถึงวิวัฒนาการความชั่วร้าย สุดโต่ง ของกลุ่มขบวนการโจรใต้ที่มีการตั้ง ทีมงูเต๊ะขึ้นมา แท้จริงแล้วเพื่อรักษาผลประโยชน์ของขบวนการ และต้องการทำลายความเชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ อีกทั้งเพื่อความอยู่รอดของสมาชิกที่ขาดการเหลียวแลจากแกนนำ ต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ต้องรับจ้างฆ่าคนด้วยการล่าสังหารตามใบสั่ง ซึ่งมาจากความขัดแย้งในเรื่องธุรกิจเถื่อน ความขัดแย้งส่วนตัว ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่านักรบ RKK ที่ยิ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องจากแกนนำในวันนั้น มาวันนี้กลับเป็น ทีมงูเต๊ะที่รับจ้างฆ่าคนแลกกับเศษเงินเพื่อความอยู่รอด หมดสิ้นอุดมการณ์    ที่เคยมี... นี่หรือ!! นักรบฟาตอนี เห็นแล้ว.. ช่างอนาถใจแท้


-----------------------

11/18/2560

อะไร!! ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเงียบกับการคัดเลือก กอจ.ชายแดนใต้

"แบดิง โกตาบารู"


คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี จะหมดวาระลงในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 กรมการปกครองได้กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 โดยจะมีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม หมวด 4 ว่าด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาตรา 23 บัญญัติไว้ว่า จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิดตามมาตรา 13 ไม่น้อยกว่า 3 มัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 30 คน โดยการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กำหนดให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือก

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการเตรียมการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งหากจับตาความเคลื่อนไหวของแต่ละจังหวัดจะดูเงียบๆ แต่ภายใต้ความเงียบดังกล่าวกลับส่งผลสะเทือนสูง ต้องยอมรับว่าการแข่งขันมีการส่งทีมแคนดิเดตเพื่อร่วมคัดเลือกเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่ชายแดนใต้รอบหลายปีที่ผ่านมามีการแข่งขันค่อนข้างสูง อีกทั้งหลายฝ่ายต่างจับตาเนื่องจากคณะกรรมการอิสลามฯ ที่เข้ามาบริหารงานในแต่ละจังหวัดไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเป็นผู้นำองค์กรศาสนาในพื้นที่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหลากหลายในท้องถิ่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเยาวชน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเกี่ยวกับอาหารฮาลาล รวมทั้งสานสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ จึงถือเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการร่วมสถาปนา สันติสุข ให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

การคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้คงจะวัดกันด้วยวิสัยทัศน์ การนำเสนอนโยบาย การบริหารองค์กรและตัวบุคคลเป็นหลัก ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลที่มีเกียรติ มีความรู้ อยากเรียกร้องไปยังอิหม่ามประจำมัสยิดที่มีสิทธิในการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามฯ พิจารณาด้วยความรอบคอบ และไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มขบวนการที่หนุนหลัง หรือองค์กรที่เห็นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ซึ่งที่ผ่านมาในบางจังหวัดมีเรื่องของการแสวงประโยชน์จากเงินซะกาต โดยฝ่ายบริหารของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้นไม่เคยชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินซะกาตที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งส่อเจตนาที่จะปกปิดอะไรบางอย่าง!! และแสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใส   ในการบริหารจัดการซะกาต และมีนัยส่อเป็นเครือข่ายสนับสนุนกลุ่ม ผกร.ในพื้นที่
------------------------

11/14/2560

สันติภาพที่ชายแดนใต้..กับความจริงใจในการพูดคุย


"แบมะ ฟาตอนี"



สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขาดความจริงใจในการพูดคุย การจับอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยการใช้กำลังไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาและไม่ใช่หนทางนำมาซึ่งสันติสุขที่แท้จริง โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 “มารา ปาตานี” ได้ยื่นข้อเสนอ เพื่อต่อรองในการพูดคุย “สันติภาพชายแดนใต้” ซึ่งจากการที่กลุ่ม “มาราปาตานี” ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อต่อรัฐบาลไทย อ้างเพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพโดยให้ทางการไทยกำหนดการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ,ให้ยอมรับองค์กรอยู่บนโต๊ะเจรจาและขอคุ้มครองทางกฎหมายแก่คณะพูดคุย..........เผยทุกอย่างขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนจะออกแนวทางไหน?จะเลือก “เอกราช” หรือจะเป็นการปกครองตนเองในรูปแบบเขตการปกครองพิเศษ หรือยังคงรูปแบบที่เป็นอยู่ดั่งเช่นในปัจจุบัน


การออกมาเปิดเผยและเรียกร้องของ มารา ปาตานี สอดรับกับ “ปีกการเมือง” ของกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม และ NGOs ปูพรหมลงพื้นที่ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ ลึกๆ แล้วการทำกิจกรรมดังกล่าวย่อมมีอะไรแอบแฝง ต้องการอะไร? มากกว่าการสร้างการรับรู้ในเรื่องสันติภาพ ซึ่งหากคาดเดาการจัดเวทีในสถานที่ต่างๆ คงไม่เกินความคาดหมายเท่าไหร่นัก คงหนีไม่พ้นการโน้มน้าวชักจูงและชี้นำทางความคิด เพื่อปลุกระดมประชาชนเข้ามาเป็นมวลชนแนวร่วมทางการเมือง มุ่งไปสู่การกำหนดใจตนเองในการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย การเดินเกมส์ ซึ่งไร้ความจริงใจ ด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงกลุ่ม “มาราปาตานี” หรือแม้กระทั่งปีกการเมือง องค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ มีความถนัดอยู่แล้ว การชี้โดยกล่าวอ้างทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกเดินทางไหน? เป็นอะไรที่น่าคิด  ซึ่งการอ้างประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกชะตากรรมของตนเอง เสมือนหนึ่ง “มาราปาตานี” จะมีความมั่นใจว่าได้เปรียบรัฐบาล สามารถชี้นำสั่งการให้ประชาชนที่ได้มีการจัดตั้งตัดสินใจตามที่แกนนำกลุ่มขบวนการต้องการ


คงจำกันได้กับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของคนไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการโหวตโน ซึ่งในครั้งนั้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ไม่เห็นชอบ 61.84% จังหวัดปัตตานี ไม่เห็นชอบ 65.14% และจังหวัดยะลา ไม่เห็นชอบ 59.54% ผลที่ออกมากลับด้านกับผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 เพราะครั้งนั้นนราธิวาสรับร่างฯ 73.4% ปัตตานี รับร่างฯ 72.2% ขณะที่จังหวัดยะลา รับร่างฯ 69.6% เป็นที่น่าสังเกตุว่าก่อนเวลาเปิดหีบออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มโจรใต้ได้สร้างความหวาดกลัวเพื่อต้องการข่มขู่ไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ด้วยการลอบวางระเบิดขึ้นถี่ยิบ นับรวมได้กว่า 30 ลูก แต่ประชาชนก็ยังออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง “การสร้างสันติภาพ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หาก “มาราปาตานี” และตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่มยุติความเคลื่อนไหว และที่สำคัญจะต้องมีความจริงใจในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้ให้ความสำคัญกับประชาชน   คนไทยทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยอย่างเท่าเทียม การช่วยเหลือหรือการปฏิบัติไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้นใดๆ จะมีแต่กลุ่มคิดต่างจากรัฐเท่านั้นที่ยังคงมุ่งเคลื่อนไหวชี้นำสร้างความแตกแยกว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ ไม่ให้ความเป็นธรรมเพื่อหวังผลทางการเมือง


ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนคนไทยทุกคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในลำดับต้นๆ ฉะนั้น “ผู้ที่ทำร้ายประชาชน” คือ “ผู้ทำลายสันติภาพ” กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง หากไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งกระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อ “ผู้เห็นต่าง” เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นผลประโยชน์ส่วนตน และผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ท้ายสุด “ผู้สร้างสันติภาพตัวจริง” คือ “ผู้ที่เสียสละความสุขส่วนตน” เพื่อดูแลความปลอดภัยสร้างความสงบสุขให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ “ผู้ทำลายสันติสุข” ด้วยการก่อเหตุร้ายสร้างสถานการณ์รายวันนำไปสู่ความสูญเสีย…และอีกด้านหนึ่งก็คือการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐควรจะต้องมีความโปร่งใส ใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความชอบธรรม ไม่กฎขี่ข่มเหงประชาชนด้วยการกระทำที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากทุกคนไม่มีความจริงใจ ตลบตะแลง แล้วอีกเมื่อไหร่? สันติภาพในชายแดนภาคใต้จะเป็นจริง...

------------------------