เนื่องจากในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
เป็นวันชาติของประเทศมาเลเซีย และเป็นวันสถาปนากลุ่มเบอร์ซาตู
ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบ
เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สร้างสถานการณ์เพื่อหวังก่อกวน
สร้างความระส่ำระสายต่อบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย
และก่อเหตุความไม่สงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมักจะทำการก่อเหตุลอบวางระเบิด
เผายางรถยนต์ เผาธงชาติไทย ปักธงชาติมาเลเซีย
พร้อมทั้งวางวัตถุต้องสงสัยทั้งระเบิดจริง ระเบิดปลอมในพื้นที่ 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา
ซึ่งการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในการก่อเหตุก่อกวนป่วนใต้
เป็นการหวังผลทางการเมือง ซึ่งมีการเผาทำลายธงชาติไทย
แล้วเอาธงชาติมาเลเซียขึ้นแทน
เพื่อให้เกิดความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลบุคคลแปลกหน้า
วัตถุต้องสงสัยที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีอาจลักลอบนำเข้ามาก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์ในช่วงนี้ได้
การแขวนป้ายผ้า
พ่นสีสเปรย์มีความผิดหรือไม่? เมื่อมาเปิดดูประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 116 ความผิดตามมาตรานี้คือ “ยุยงปลุกปั่น” ได้บัญญัติไว้ว่า
“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด
อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ
หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต (๑)
เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ
หรือใช้กำลังประทุษร้าย (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน
หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
หรือ (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”
ตัวอย่างการกระทำความผิดดังกล่าวมีให้เห็นจากคำพิพากษาของศาลจังหวัดนาทวี
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 สั่งจำคุก นายมูฮัมหมัด เปาะเล๊าะ จำนวน 4 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาล ศาลจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือ
“จำคุก 2 ปี”
นายมูฮัมหมัด เปาะเล๊าะ
ทำการแขวนป้ายผ้าเขียนข้อความโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐรวม 3 จุด ประกอบด้วย จุดแรกริมถนนสายสะบ้าย้อย – กาบัง บ้านคอลอมูดอ ต.จะแหน
อ.สะบ้าย้อย จุดที่ 2 บ้านสวนโอน ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย
และจุดที่ 3 ริมถนนสายลำไพล – เทพา บ้านทุ่งพระยอด ม.4 ต.เทพา อ.เทพา จ.สงขลา และข้อความทั้ง 3 จุด
เป็นลักษณะเดียวกันที่พบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561
จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สามารถสืบหาตัวผู้กระทำผิด จึงได้ออกหมายจับ นายมูฮัมหมัด
ส่งตัวฟ้องศาลดำเนินคดีตามกฎหมายตัดสินจำคุกในเวลาต่อมา
การที่ศาลสั่งลงโทษผู้ที่กระทำการแขวนป้ายผ้าเขียนข้อความโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ
สืบเนื่องจากการตรวจพบ DNA ของผู้ต้องหาที่ติดอยู่กับป้ายผ้า
หรือเชือกที่ใช้ในการแขวน การนำวิทยาศาสตร์ ในการเก็บและพิสูจน์หลักฐาน
ตรวจร่างกายและวัตถุพยานเพื่อช่วยในการค้นหาความจริงในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย
โดยเฉพาะในชั้นการพิจารณาคดีของศาล
จึงขอความร่วมมือไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ศอ.บต. และฝ่ายปกครอง ช่วยสื่อเป็นเครื่องมือสร้างการรับรู้
ความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4
อำเภอของจังหวัดสงขลา
ให้ผู้ปกครองสอดส่องดูแลบุตรหลานมิให้ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี
ทำการแขวนป้ายผ้า พ่นสีสเปรย์โจมตีรัฐเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
ซึ่งหากถูกจับกุมตัวได้จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
………………………………………