4/15/2557

โจรใต้ โดน ปปง. “ระงับธุรกรรมฐานหนุนก่อการร้าย”


แบมะ  ฟาตอนี
หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เริ่มทยอยประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงผู้ก่อการร้ายทั้งในต่างประเทศและที่เป็นคนไทยเพื่อกำหนดมาตรการเข้มห้ามทำธุรกรรมทางการเงินทุกรูปแบบ

      ล่าสุด "บุคคลที่ถูกกำหนด" ในส่วนของคนไทยที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายที่ศาลแพ่งประกาศ ล้วนเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายปาตะ ลาเต๊ะ นายอาหาหมัด ดือราแม นายอับดุลฮาดี ดาหาเล็ง และ นายมะรูดี ตาเฮ ผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ร่วมก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่ทหาร เสียชีวิต 4 น าย  เหตุเกิดเมื่อ 28 กรกฎาคม 2555 ถนนเส้นทางสายมายอ-ปาลัส บริเวณบ้านดูวา หมู่ 3 ตำบลถนน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
นายราฟี มามะรอยาลี ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องและสั่งการ และ นาย ต่วนยัสลัน นิราแม ผู้ร่วมก่อเหตุลอบวางระเบิดหน้าร้านแสงไทยโลหะกิจ ถนนสิโรรส ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 
มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุเกิดเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2555

          คำว่า "บุคคลที่ถูกกำหนด" มีนิยามตามกฎหมายว่า หมายถึง บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อที่ศาล (หมายถึงศาลไทย) ได้พิจารณาและมีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
          ทั้งนี้ การประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ เป็นหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามนิยามดังกล่าว และตามกฎหมายมาตรา 4 และมาตรา 5 กล่าวคือ

          ส่วนแรก ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th
          ส่วนที่สอง ดำเนินการประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลนั้น

          เฉพาะในส่วนที่สองนี้ กำหนดวิธีการให้สำนักงาน ปปง.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรม (ปปง.) พิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" ปรากฏว่า ปปง.ได้ส่งรายชื่อเสนอพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องฝ่ายเดียวให้ศาลมีคำสั่ง และศาลแพ่งได้มีคำสั่งในห้วงที่ผ่านมาที่ประกาศไปแล้วนั้น ในส่วนของผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ลงมือทำการก่อเหตุในคดีที่น่าสนใจ จำนวน ๖ คน ๒ เหตุการณ์ ด้วยกัน

กรณีแรก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ร่วมก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 เวลา 17.10 น. โดยใช้รถกระบะจำนวน 3 คัน พร้อมอาวุธปืนสงครามครบมือ ขับตามประกบยิงเจ้าหน้าที่ทหารจากร้อยทหารราบที่ 15323 หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 25 จำนวน 6 นาย ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ 3 คัน ลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ เหตุเกิดบนถนนเส้นทางสายมายอ-ปาลัส บริเวณบ้านดูวา หมู่ 3 ตำบลถนน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี  เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นายเหตุเกิดเมื่อ 28 กรกฎาคม 2555 ศาลสั่งให้ผู้ที่ทำการก่อเหตุเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายพ.ศ.2556 จำนวน 4 ราย คือ นายปาตะ ลาเต๊ะ นาย อาหาหมัด ดือราแม นายอับดุลฮาดี ดาหาเล็ง และ นายมะรูดี ตาเฮ

กรณีที่สอง เมื่อ 31 มีนาคม 2557 ศาลแพ่ง ได้มีคำสั่งให้ผู้ที่ร่วมก่อเหตุ นำจักรยานยนต์ซุกซ่อนระเบิดมาจอดที่หน้าร้านแสงไทยโลหะกิจ ถนนสิโรรส ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา แล้วจุดชนวนระเบิด ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารชุดสุนัขสงคราม หน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 รวม 5 นาย ขับรถกระบะผ่านมา แรงระเบิดทำให้ทหารและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย นอกจากนั้นแรงระเบิดยังทำให้เพลิงลุกไหม้อาคารบริเวณที่เกิดเหตุหลายคูหา เหตุเกิดเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2555 ศาลสั่งให้ผู้ที่ทำการก่อเหตุเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 จำนวน 2 ราย คือ นายราฟี มามะรอยาลี ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องและสั่งการ และ นาย ต่วนยัสลัน นิมาแม ผู้ร่วมก่อเหตุ ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับ ป.วิ.อาญา 1 หมาย
    ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 116 ประเทศทั่วโลก ที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย FINANCIAL ACTION TASK FORCE (FATF) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2532 โดยกลุ่ม G7 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการฟอกเงิน และได้เริ่มดำเนินการในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2533 FATF จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานด้านการป้องกันการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินการก่อการร้าย ประเทศไทยมีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ปีที่ผ่านมา

         จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 เป็นอีกก้าวหนึ่งในการสกัดกั้นแหล่งเงินทุนสนับสนุนทางการเงินการก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ ของ BRN โดยตรง ซึ่งบุคคลที่ศาลมีคำสั่งเป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เริ่มทยอยประกาศรายชื่อออกมามีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุ หรือเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ FATF 40+9 มี 4 ด้านด้วยกัน คือ ด้านแรก การดำเนินคดีความผิดทางอาญา ความผิดมูลฐาน การยึด/อายัดทรัพย์สิน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายและการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ด้านที่สอง มาตรฐานของสถาบัน หน่วยข่าวกรองทางการเงินในการกำกับดูแล ด้านที่สาม มาตรการป้องกันสำหรับสถาบันทางการเงินและหน่วยธุรกิจที่มิใช่สถาบันทางการเงินโดยการแสงตนของลูกค้าการเก็บรักษาข้อมูล การรายงานธุรกรรม การเฝ้าติดตามบัญชีและธุรกรรม และด้านที่สี่ ความร่วมมือระหว่างประเทศ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนความร่วมมือระหว่างหน่วยบังคับใช้กฎหมาย
            จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 โดยการกำกับดูแลโดย FATF สมาชิก 116 ประเทศ ซึ่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เริ่มทยอยประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาหาที่ลงมือก่อเหตุได้แต่จากการประกาศรายชื่อดังกล่าวได้สร้างความสั่นคลอนต่อเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการ BRN โดยตรง รวมทั้งบริวาร

            ประการสุดท้าย การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายซึ่งเป็นแรงจูงใจในอุดมการณ์ โดยแหล่งเงินบริจาคได้รับจาก ธนาคาร ธุรกิจแลกเงินตรา ตัวแทนการท่องเที่ยว ตัวแทนจองตั๋วเครื่องบิน องค์กรการกุศล และธุรกิจบังตา ในการดำเนินการก่อเหตุในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หากปล่อยให้บุคคล องค์กร และนิติบุคคลเหล่านี้ดำเนินการฟอกเงิน และสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายอยู่ โดยไม่ได้กระทำการใดๆ เลย ผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งการสนับสนุนทางการเงินบางส่วนมีความเชื่อมโยงธุรกิจผิดกฎหมายเป็นเงินที่ได้รับมาจากการสนับสนุนของขบวนการอาชญากรรม ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม บ่อนทำลายการแข่งขันของธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมายและที่สำคัญที่สุดมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
                         

@@@@@@@@@@

1 ความคิดเห็น:

  1. ในอดีตที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจไม่ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ จนท.รัฐฯที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะตำรวจ ไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ เอาเปรียบข่มขู่ ขูดรีด ทำทุกวิถีทาง จึงสร้างความเก็บกดให้ ประชาชน จึงหันไปพึ่งขบวนการโจร ขณะเดียวกันขบวนการโจรก็ได้แทรกซึมเข้าไปในสถานศึกษา ปอเนาะ เมื่อนาน เป็นเดือน และหลายปี จึงเกิดเป็นขบวนการใหญ่ขยายจาก ปอเนาะเป็นหลายหมู่บ้านต่อต้านอำนาจรัฐฯ จนท.รัฐฯเข้าหมู่บ้านไม่ได้ มีการฆ่า จนท.รัฐฯ หรือการฆ่าประชาชนในพื้นที่แล้วโยนความผิดให้ จนท.รัฐฯ ซึ่งประชาชนไม่มีการศึกษาอยู่แล้วก็เชื่อว่า จนท.รัฐฯ ฆ่าประชาชนอิสลาม จึงสร้างความเกลียดชัง จนท.รัฐ และคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ในพื้นที่ เมื่อขบวนการเข้มแข็งขึ้น จึงมีการต่อต้านลอบทำร้าย จนท.รัฐฯ จึงเกิดเหตุการปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ที่ จ.นราฯ

    ตอบลบ