เกิดอะไรขึ้นที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้?...นี่คือคำถามแรกๆ ที่มีการถามกันอย่างเซ็งแซ่
ภายหลังนับคะแนนเสียงประชามติไปได้ไม่นาน
ซึ่งก็พอทราบผลอย่างไม่เป็นทางการจากหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ปรากฏว่ามีคะแนนเสียง “ไม่รับ” ทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงแบบต้องจับตาใกล้ชิด
ทั้งนี้คะแนนไม่รับหรือ
“โหวตโน” ในพื้นที่ 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลาและ นราธิวาส ปรากฏว่าได้มาอย่าง “ถล่มทลาย” กล่าวคือ มากกว่าคะแนนเสียงที่รับแบบ “ครึ่งต่อครึ่ง”
ทั้งที่ก่อนการลงประชามติครั้งนี้ไม่มีวี่แววจะเกิดปรากฏการณ์แสดงออกซึ่ง
“ขบถ” ด้วยผลประชามติแบบนี้มาก่อน
โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กับ
ศอ.บต. รวมถึง ศชต. และฝ่ายปกครอง ต่างต้อง “สำเหนียก”
ถึงความผิดปกติในพื้นที่เยี่ยงนี้
โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะถึงวันลงประชามติ
ประมาณ 1 สัปดาห์ หน่วยงานในพื้นที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “หน่วยข่าว”
ยังยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่า การลงประชามติ ครั้งนี้ “ผ่านตลอด” และแม้แต่ในวันที่มีการรณรงค์ครั้งสุดท้ายของ
กกต.ที่โรงแรม ซีเอส ปัตตานี ที่มี สมชัย ศรีสุทธิยากร 1 ใน 5 เสือจาก กกต.มานั่งสั่งการเอง วันนั้นก็ยังเชื่อว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียงที่ออกมาจะไม่ “พลิกผัน”
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใน
3 จังหวัดเป็นเสียงที่ท่วมท้น ทั้งที่พื้นที่ 3
จังหวัดนี้ไม่ใช่ “พื้นที่เสื้อแดง” อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือและภาคเหนือ
และหากนับเอาที่นั่งของ
“ส.ส.” มาเปรียบเทียบก็จะพบว่า
ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และที่สำคัญ “ลุงกำนัน” ก็มี “แฟนคลับ”
ในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้
ซึ่งที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย
ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวของ
“ผู้คน” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ
จะเห็นว่าคนในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าวต่าง “ข้องใจ” ในประเด็นของเรื่อง “ศาสนา”
และเรื่อง “การศึกษา” ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะใน “กลุ่มผู้นำศาสนา” และใน “กลุ่มเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม”
ตลอดจนถึง “ปอเนาะ” ได้หยิบเอาประเด็นนี้มาเป็นประเด็นของพูดคุย
และนำเข้าสู่ “สภาซูรอ” เพื่อถกถึงประเด็นดังกล่าว
และรวมถึงการ “คุตบะห์” ในวันศุกร์ก็มีการหยิบประเด็นดังกล่าวเป็นหัวข้อของการสนทนา
เพียงแต่หน่วยงานของรัฐ “ไม่ได้สำเหนียก” ถึงความเข้าใจและความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่เท่านั้น
ประเด็นอ่อนไหวอีกประเด็นหนึ่งคือ
ผู้ที่ข้องใจในเรื่องดังกล่าวไม่เคยได้เห็น “ตัวจริง” ของร่างรัฐธรรมนูญว่า เขียนกันอย่างไร มีเนื้อหาและสาระแบบไหน
มีแต่การออกมากล่าวถึง “สิ่งดีงาม” ของรัฐธรรมนูญเพื่อ
“โน้มน้าว” ให้มีการรับร่างและรับคำถามพ่วงเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อมี
“ผู้สั่งการ” ให้ “บิดเบือน”
ข้อความในร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการง่ายที่จะให้คนที่ “รับสาร” ที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว “เชื่อ” อย่างไม่มีข้อสงสัย ทั้งในประเด็นของศาสนา
และในประเด็นของการศึกษา ซึ่งถูก บิดเบือนว่ารัฐธรรมนูญจะส่งเสริมและปกป้องเฉพาะศาสนาพุทธ
และจะตัดสิทธิ์การศึกษาจาก 15 ปีเหลือเพียง 12 ปี
บังเอิญว่าผู้ที่มี
“ต้นทุนทางสังคม” ที่สูงใน 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ผู้นำศาสนา
รวมถึงเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและปอเนาะ และทั้ง 2 ประเด็นที่ถูกนำมาเป็น “เงื่อนไข” ของการไม่รับ ล้วนมี “ความสำคัญ” สำหรับคนในพื้นที่ เพราะทั้งเรื่องศาสนาและการศึกษาคือ “หัวใจ” ของทุกผู้คน
และคงเป็นเหตุบังเอิญเหมือนกันที่
“ครู ก.” “ครู ข.” และ “ครู ค.” ที่เป็นผลผลิตของ “มหาดไทย”
เป็นครูที่ ไม่มีทั้ง “ตำรา” และ “ไม้เรียว” อยู่ในมือ
จึงไม่สามารถที่จะสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนที่คิดและเชื่อโดยใช้ “ความรู้สึก” เป็นองค์ประกอบ
ส่วนประเด็นที่ไม่รับเพราะ
“ไม่ชอบใจทหาร” เป็นเพียงประเด็นเสริม
ที่ถูกหยิบยกมาเพื่อการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น
แต่การที่ผู้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ออกมาโหวตโนอย่างถล่มทลาย
จนทำให้หลายหน่วยงาน “ขายหน้า” ไปตามๆ กันในในครั้งนี้
ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามีคนอีก 2 ส่วนที่อยู่ “เบื้องหลัง” ในการวางเกมและการเดินหมากเพื่อการ “เข้าฮอส”
นั่นคือ “นักการเมือง” ในพื้นที่ “บางส่วน”
ที่ยัง “มีพลัง” ในการสั่งและชี้นำคนในพื้นที่ให้ทำตามในสิ่งที่ต้องการ
ซึ่งมี “ใบสั่ง” จากผู้ที่มีบารมีทางการเมือง
และที่ขาดไม่ได้
ซึ่งแสดงบทบาทของ “ผู้ร้าย” ในการก่อกวนก่อเหตุร้ายเพื่อสร้างความหวาดกลัว
และเพื่อดิสเครดิต “รัฐบาล” และ “กองทัพ” นั่นก็คือ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น”
ที่รู้จัก “ฉกฉวย” โอกาสหาคะแนนทั้งใน
“ทางการเมือง” และ “การทหาร”
คอลัมน์นี้เคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่า
สิ่งที่ “ทางการ” มองเห็นว่า 2
ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้น องค์กรภาคประชาชนหลายๆ องค์กรมีความสงบเสงี่ยมนั้น
นั่นเป็นเพียง “ผิวพื้น” เพราะผู้นำองค์กรต่างๆ
เขาสงบเพื่อที่จะ “รอโอกาส” ที่จะได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการทำ
เพื่อเป็นการ “สั่งสอน” หรือให้ “บทเรียน” กับใครต่อใคร
เช่นเดียวกับเรื่องของการลงประชามติในครั้งนี้
เมื่อวัน ว. เวลา น. ของเขามาถึง เขาก็ไม่รีรอในการแสดงออก ซึ่งเป็นการ “ส่งสาร” ไปสู่ “ผู้มีอำนาจ”
ให้ได้สำเหนียกว่า พวกเขาคิดอย่างไร
เพราะหน่วยงานของรัฐเชื่อมั่นใน
“พลังอำนาจ” ของตนเอง และเพราะ “ไม่สำเหนียก” ถึงความผิดปกติ
ดังนั้นกลุ่มผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการ “คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ”
ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงใช้เวลา 3 วันสุดท้ายก่อนถึงวันทำประชามติ “วางแผน” ในการก่อความไม่สงบ และการสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้คน
เพื่อให้ไปโหวตโนอย่างได้ผล
ผลสะเทือนที่ติดตามมาในครั้งนี้
โดยเฉพาะในเกมของบีอาร์เอ็นที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐเห็นว่า
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือ ขบวนการและนักการเมืองที่ถูก “หมายหัว” ให้เป็น “แกนนำ”
ของบีอาร์เอ็น โดยบีอาร์เอ็นยังสามารถ “ชี้นำมวลชน”
ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
หากผู้มีอำนาจและหน่วยงานด้านความมั่นคงคิดอย่างนี้
เข้าใจไปได้อย่างนี้ ก็เท่ากับเป็นการ “เพิ่มปุ๋ย” เพื่อสร้างความ “เติบโต” ให้กับบีอาร์เอ็น
อีกทั้งอาจจะเป็นการ “ผลักคนในพื้นที่” อีกส่วนหนึ่งให้กลายเป็นมวลชนของบีอาร์เอ็นมากขึ้น
ดังนั้น
สิ่งที่หน่วยงานของรัฐต้องทำหลังการลงประชามติคือ
การประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน เพื่อใช้เป็น “บทเรียน” ในการแก้ปัญหา เพราะ
ปรากฏการณ์ครั้งนี้ที่เหมือนกับสิ่งที่ “สั่งได้” อาจจะส่งผลกับการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต
โดย...ไชยยงค์
มณีพิลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น