7/01/2560

จุดยืนองค์กรภาคประชาสังคมกับการนำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ใน จชต.

"แบมะ ฟาตอนี"


บทบาทภาคประชาสังคม หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า NGOs ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงความขัดแย้งที่เกิดจากเงื่อนไขของผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ส่งผลให้เกิดกลุ่มต่างๆ มากมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานด้านต่างๆ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม  เยียวยา ทรัพยากรและด้านอื่นๆ 400 กว่าองค์กร

หากมองถึงตัวเลขกลมๆ จำนวนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดที่มีอยู่ หากสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้อย่างจริงจัง ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ ผลักดัน ตรวจสอบในเชิงนโยบาย พบปัญหาร่วมกันเสนอแนะหาทางออกส่งผลดีต่อทุกฝ่ายต่อภาพรวมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน

จำนวนองค์กรภาคประชาสังคมทั้งมดที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อแยกแยะจัดหมวดหมู่แบ่งออกเป็น 12 กลุ่มด้วยกันกล่าวคือ 1) ผู้หญิง 107 องค์กร, 2) การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 88 องค์กร, 3) สื่อสาธารณะ 43 องค์กร, 4) เยียวยา 35 องค์กร, 5) เยาวชน 33 องค์กร, 6) วิชาการ 31 องค์กร, 7) พัฒนาชุมชน 31 องค์กร, 8) สาธารณสุข 14 องค์กร, 9) ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 11 องค์กร, 10) เครือข่าย 10 องค์กร, 11) เศรษฐกิจ 10 องค์กร, 12) สิทธิมนุษยชน 6 องค์กร

จากข้อมูลขั้นต้นจะเห็นได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเพื่อเป็นปากเสียงเป็นตัวแทนและเรียกร้องสิทธิสตรีมีถึง 107 องค์กร หรือมีมากกว่านี้ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาองค์กร ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้
หากวิเคราะห์เจาะลึกถึงสาเหตุการจดทะเบียนองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีที่มีมากกว่าร้อยองค์กร มีนัยเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรที่สร้างแรงจูงใจให้มีการเคลื่อนไหว
หากมองปัญหาแบบชาวบ้านๆ การขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิสตรีขององค์กรภาคประชาสังคมมาจากสาเหตุความไม่เท่าเทียมในสังคม โดนกดขี่ข่มเหง และถูกเอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายชาย เนื่องจากทนเห็นสภาพปัญหาไม่ไหว หรือผู้ที่ขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาสังคมเคยเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ   มีประสบการณ์โดยตรงเลยผันตัวเองเพื่อทำการเรียกร้องต่อสู้ให้กับสตรีโดยรวม

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เพศชายกดขี่ข่มเหงรังแก และเอารัดเอาเปรียบตลอดจนการละเมิดสิทธิสตรีรุนแรงหรือ? จึงมีองค์กรภาคประชาสังคมที่มาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเองก็ไม่กล้าฟันธงเดี๋ยวจะกลายเป็นประเด็นดราม่าเกิดขึ้น แต่..หากไม่มีมูล หมาไม่ขี้ ไม่มีไฟ...ย่อมไม่มีควัน ฉันใดก็ฉันนั้น!!!
การออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคมขององค์กรภาคประชาสังคมถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก แต่ในขณะเดียวกันองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กร ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน กลับมีความต้องการให้นำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หน้าฉากโปรไฟล์สวยหรูเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งขับเคลื่อนในเรื่องบทบาทและสิทธิสตรี แต่หลังฉากกลับสนับสนุนกฎหมายชารีอะฮ์ โดยเฉพาะสตรีที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างเช่นในประเทศซาอุดีอาระเบียสตรีนางหนึ่ง ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ ข้อหาฆาตกรรมสามีตัวเองด้วยการจุดไฟเผาบ้าน และในประเทศอินโดนีเซีย คู่รัก 6 คู่ ถูกลงโทษเฆี่ยน 23 ครั้ง หน้ามัสยิดกลางเมืองบันดาห์อาเจะห์ หลังถูกตัดสินให้มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายชารีอะห์ที่ห้ามไม่ให้ชายหญิงอยู่ใกล้ชิดกันก่อนแต่งงาน

กฎหมายชารีอะฮ์ มีบทลงโทษที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ และยังมีการลงโทษด้วยความโหดร้ายและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความพยายามของคนบางกลุ่ม สอดรับกับความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการนำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้...ถามพี่น้องมุสลิมในพื้นที่สักคำหรือยังว่ามีความต้องการมั๊ย!!!  หรือใช้วิธีการเดิมๆ ด้วยการยัดเยียด..นี่คือหน้ากากจอมปลอมขององค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่แทบจะเดินชนกันตาย แต่หาสาระและเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนแทบไม่ได้...แล้วจะมีองค์กรภาคประชาสังคมไว้ทำไม?
----------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น