8/28/2557

กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข (สันติภาพ)

แบมะ ฟาตอนี
กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (peace dialogue) ระหว่างรัฐบาลไทย กับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติประชาชาติมลายูปัตตานี (BRN) เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งของผู้ที่เห็นต่าง มีการลงนามกระบวนการสันติภาพเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งได้มีการดำเนินการมาแล้ว 7 ครั้งด้วยกันก่อนที่ได้ห่างหายไปเนื่องจากปัญหาภายในของประเทศไทยเอง


            เมื่อปัญหาการเมืองภายในของประเทศไทยนิ่ง หน่วยงานความมั่นคง โดย กอ.รมน. จึงคิดริเริ่มสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพขึ้นมาใหม่ แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข แทน
และเริ่มมีกระแสการโจมตีจากขาประจำผู้ที่ไม่เห็นด้วย ต่างดาหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนักวิชาการอิสระ สื่อแนวร่วมโจรใต้ พร้อมเปิดประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ถึงการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการยังไม่ทันได้กำหนดวันดีเดย์ในการพูดคุย
            กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติประชาชาติมลายูปัตตานี (BRN) เป็นความพยายามของรัฐบาลไทย ที่ต้องการตอบสนององค์การระหว่างประเทศ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ประชาชนภายในประเทศ และข้อเสนอของนักวิชาการให้หาแนวทางพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐ เพื่อยุติความรุนแรงทั้งสิ้นทั้งปวง
ท่าทีของแนวร่วมปฏิวัติประชาชาติมลายูปัตตานี (BRN) กับกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา

            จากการลงนามกระบวนการสันติภาพเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และมีการดำเนินการพูดคุยไปแล้ว 7 ครั้ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทราบว่าความคิดเห็นในสภา BRN กลุ่มทหารยังไม่เห็นด้วยในการพูดคุย รวมไปถึงหน่วยปฏิบัติการ RKK ในพื้นที่ แต่สภา BRN ยังมีมติเห็นชอบให้ นายฮาซัน ตอยิบ ดำเนินการพูดคุยเนื่องจากเห็นแก่ประเทศมาเลเซีย (โดนบีบบังคับ) โดยให้ดำเนินการในลักษณะใช้งานการเมืองพูดคุย แต่ยังคงให้ทางทหาร ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อชิงความได้เปรียบ

            สภา BRN มีความกลัวว่า กลุ่มปฏิบัติที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นนักรบรุ่นใหม่จะทำการปฏิวัติเนื่องจากไม่เห็นด้วย จึงใช้วิธีเรียกร้องนอกเวทีด้วยการออกแถลงการณ์เรียกร้อง 5 ข้อ 7 ข้อ ในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นหลักประกันในการเห็นชอบร่วมกัน การดำเนินการของ BRN มีระเบียบแบบแผน ซึ่งเดินตาม Road Map ที่สภา BRN ได้เขียนขึ้นมา การปฏิบัติการพูดคุยจะดำเนินการเป็นจังหวะ เป็นขั้นตอน มีการปฏิบัติการข่าวสาร ใช้เล่ห์เหลี่ยมชิงความได้เปรียบเป็นฝ่ายรุกตลอดเวลา
            การพูดคุยทุกครั้งจะไม่มีการเปลี่ยนตัวบุคคล หรือจัดหาคนมาเพิ่ม ยังคงใช้ชุดเดิม ซึ่งเป็นหลักการ ไม่เปิดเผยตัวตน แต่ฝ่าย BRN สามารถรวมกลุ่ม BRN-CONGRESS, BIPP และ PULO บางส่วนได้แค่กลุ่ม กาแบ ยูโซ๊ะ แต่ไม่สามารถรวมกับกลุ่ม PULO กลุ่มนายซัมซูดิง คาน และกลุ่มนายกัสตูรี มะโกตา ได้เนื่องจากยังขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์
ท่าทีของกลุ่มผู้เห็นต่างอื่นๆ ต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ


            กลุ่ม PULO กลุ่มนายซัมซูดิง คาน และกลุ่มนายกัสตูรี มะโกตาต่างมีความพยายามที่จะเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทย เนื่องจากไม่อยากตกกระบวนรถไฟสันติภาพที่อาจจะมีการแบ่งสันปันส่วนร่วมกันของผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ แต่กลับโดนฝ่าย BRN กีดกันไม่ให้เข้าร่วมด้วย เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ยังไม่ลงตัว
            กลุ่มสหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS:Persekutuan Mahasiswa Pelajar dan Muda Mudi Se Patani) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองของ BRN ยังคงเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นด้วยการจัดเวทีเสวนา Bicara Patani ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และต่างประเทศ เพื่อปลุกกระแสนิยมความเป็นปาตานี ต้องการให้ประชาชนชาวมลายูปาตานีรับรู้ถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และปลุกกระแสให้ทุกคนออกมากำหนดชะตากรรมของตนเองด้วยการลงประชามติขอแยกดินแดนออกจากประเทศไทย

            องค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งรับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่กลับถูกแทรกซึมและจัดตั้งโดยขบวนการ BRN มีการเคลื่อนไหวทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายความมั่นคงในประเด็นสิทธิมนุษยชน การกำหนดใจตนเองเพื่อลงประชามติขอแยกตัวเป็นเอกราชในอนาคต รูปแบบการขับเคลื่อนใช้ลักษณะไม่ใช้ความรุนแรง (Non Violent) โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหว เพื่อให้เป็นประเด็นเกิดการลุกฮือของประชาชนมลายู และเรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Right of Self-Determination)
ท่าทีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้



            จากการสำรวจข้อมูลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กลับพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดนเป็นเอกราช อัตราส่วนของประชาชนที่สนับสนุน การแบ่งแยกดินแดนเป็นเอกราช เพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น แต่ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐได้พยายามยุยง ปลุกปั่นประชาชนในพื้นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อต้านรัฐบาล โดยนำประเด็นเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Self-Determination) เพื่อการปลดปล่อยดั่งเช่นกรณีของประเทศล่าอาณานิคม ไม่ให้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลไทย
บทเรียนจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ 7 ครั้ง
            ก็ต้องยอมรับความจริงว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับ BRN ผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย สรุปได้ว่า ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากขาด ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน อีกทั้งยังไม่มีกรอบการพูดคุยที่ชัดเจน เป็นการพูดคุยโดยการบีบบังคับ BRN โดยมาเลเซียตั้งแต่ในครั้งแรก ในเมื่อจุดเริ่มไม่ได้มาจากการพูดคุยกันในระดับล่าง และไม่มีความต่อเนื่อง ฝ่าย BRN มีการประกาศเจตนารมณ์ที่สูงสุด เพื่อไมให้กลุ่มปฏิบัติในพื้นที่เกิดการปฏิวัติ การพูดคุยมีการเรียกร้องในข้อเสนอที่ไม่สามารถกระทำได้เพื่อทำการถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งยังสั่งการหน่วยในพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารเพื่อชิงความได้เปรียบไปด้วย ในส่วนของการลดการก่อเหตุรุนแรงในห้วงเดือนรอมฎอน เป็นภาวะจำยอมของ BRN เนื่องจากทางมาเลเซียได้บีบบังคับเพื่อนำเสนอให้ OIC ทราบ ซึ่งหาก BRN ไม่ดำเนินการจะมีผลเสียทางยุทธศาสตร์ ความพยายามของ BRN มีการยกระดับการพูดคุยนำไปสู่การเจรจา การขอให้มาเลเซียเป็นแค่ตัวกลางไกล่เกลี่ย (Mediator) และขอให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานในการพูดคุย ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ได้สอดรับกับข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เลย
แนวทางการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ)


            รัฐบาลไทยมุ่งเน้นส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ การอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลาย พหุวัฒนธรรม มีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งโดยสันติวิธี พร้อมทั้งสร้างหลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติสุข
            ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักสากลที่ยอมรับได้ ไม่ใช่เงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัยในเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็น

            สร้างความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็น และอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ ที่มีการเลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีเอกภาพ และเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว
แนวทางสร้างสันติสุขแสงแห่งความหวังประชาชนชายแดนใต้


            นับเป็นความหวังของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง ที่ยังมีแสงแห่งความหวังที่จะได้เห็นสันติภาพ สันติสุขเกิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ หรือกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขก็ตามที จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายคือการคืนความสุขความสันติสุขให้กับสังคมและประชาชนให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก อีกไม่นานเมื่อมีการเอาจริงเอาจังและได้ดำเนินการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเมื่อนั้นความสันติสุขจะกลับคืนมา ณ ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้

*****************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น