10/16/2558

กระแส ‘สิทธิในการกำหนดใจตนเอง’กับผลสำรวจประชาชนเชื่อมั่นสันติภาพที่รัฐบาลดำเนินการอยู่

แบดิง โกตาบารู
สถานการณ์ไฟใต้ที่เกิดมานับร่วมสิบกว่าปี ได้สร้างก่อความเสียหายต่อประเทศอย่างประเมินค่ามิได้ ซึ่งกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐได้จุดคบไฟใต้ขึ้น จนยากที่จะควบคุมได้ลุกลามเผาผลาญสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งทรัพย์สินและชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์, เจ้าหน้าที่รัฐ และครอบครัวผู้ก่อเหตุรุนแรงต่างได้รับกันถ้วนหน้า การค้าการลงทุนหดหาย รัฐต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งทางกายและจิตใจ

สันติสุข คือความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่ประชาชนในพื้นที่ต่างโหยหาว่าสักวันจะกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ต้องหวาดระแวงในการใช้ชีวิตประจำวันว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นตอนไหน

ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างไขว่คว้าต้องการ สันติสุข กลับคืนมาสู่พื้นที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้ทำการศึกษาออกแบบสำรวจกลุ่มตัวอย่างโดยการตอบแบบสอบถาม ทั้งสิ้น 2,104 ตัวอย่าง จากพื้นที่ 302 หมู่บ้านและชุมชน ซึ่งกระจายไปในพื้นที่ 83 ตำบล จาก 19 อำเภอในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนร้อยละ 76.9 ให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ

แต่ในอีกฝากฝั่งหนึ่งกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐบางกลุ่ม ที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในพื้นที่ ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวโดยใช้ NGOs และนักศึกษาบังหน้า ด้วยการจัดกิจกรรม เปิดเวทีเสวนาชี้นำทางความคิดปฏิบัติการจิตวิทยาชนะโดยไม่ต้องรบมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง โยนผิดให้กับเจ้าหน้าที่ โจมตีการปฏิบัติงานของรัฐบาล มุ่งสร้างความเกลียดชัง รวมไปถึงจุดประเด็นความไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม จุดมุ่งหมายสุดท้ายที่ต้องการคือสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) เพื่อแยกตัวเป็นอิสระในการปกครองตนเอง ซึ่งมีการชี้นำ 4 ประเด็นด้วยกัน
          1) เพื่อชี้ให้เห็นว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธภายในประเทศ (Internal Armed conflict)
          2) เจ้าหน้าที่รัฐมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ
          3) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง
          4) ปาตานีเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองจากสยามต้องแสดงสิทธิการเป็นเจ้าของ

การกำหนดใจตนเอง (Self-determination) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กระทำได้หรือไม่? เพื่อนำไปสู่การลงประชามติ แยกตัวเป็น เอกราช จากรัฐบาลไทยตามที่ได้มีการปลุกกระแสเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางขององค์กรภาคประชาสังคม

การกำหนดใจตนเอง (Self-determination) ตามกฎกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองข้อ 1 ระบุไว้ว่า ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองโดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตน

ประเทศไทยได้ทำข้อแถลงตีความ (ข้อสงวน) สิทธิในการกำหนดใจตนเองไม่ได้กระทำได้ในทุกๆ เรื่อง และมีข้อสงวนไว้ว่า มิให้ตีความว่าอนุญาต หรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยก หรือทำลายบูรณภาพแห่งดินแดน หรือเอกภาพทางการเมืองของรัฐ เอกราชอธิปไตย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมาได้บัญญัติการออกเสียงประชามติไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนส่วนใหญ่ จึงจะให้มีการออกเสียงประชามติ

ดังนั้นการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) จึงกระทำไม่ได้ ภายใต้รัฐธรรมนูญมิได้เปิดช่องให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อไม่มีการเปิดช่องฟังเสียงคนทั้งประเทศเท่ากับว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การกำหนดใจตนเองก็ไม่สามารถกระทำได้ตามที่ได้มีการปลุกกระแสดังกล่าวขึ้นมาแต่อย่างใด

ยังมีประเด็นที่องค์กรภาคประชาสังคมทำการขับเคลื่อนเพื่อสื่อไปยังต่างชาติชี้ให้เห็นว่าปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธภายในประเทศ (Internal Armed conflict)
แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร? การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ เป็นการต่อสู้ภายในรัฐระหว่างกองกำลังรัฐบาล กับกองกำลังต่อต้านรัฐบาล หรือระหว่างกลุ่มกำลังต่างๆ ที่ยังมิได้จัดตั้งรัฐบาล การจะเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่จะต้องพิจารณาจาก กองกำลังต่อต้านรัฐบาล จะต้องมีการจัดตั้งองค์กร, มีการบังคับบัญชา, มีการควบคุมพื้นที่ และมีการปฏิบัติการโจมตีอย่างต่อเนื่องและพร้อมเพรียงกัน
ระดับความรุนแรงของการต่อสู้มีการใช้กองทัพเข้าทำการปราบปราม มีการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง, องค์กรระหว่างประเทศ หรือประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงหรือเกี่ยวข้อง,มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และการก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินบ่อยครั้ง ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่ได้เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธภายในประเทศ (Internal Armed conflict) หรือการขัดกันด้วยอาวุธที่มิใช่ระหว่างประเทศ (Non Internal Armed conflict) แต่เป็นเพียงการรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นการบังคับใช้กฎหมายภายใต้กฎหมายอาญาภายในประเทศ (Domestic Criminal Law) ด้วยเหตุผลเนื่องจากไม่มีกลุ่มใดรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้ก่อเหตุปฏิบัติในทางลับไม่เปิดเผยตัว ไม่มีหลักฐานว่ามีการบังคับบัญชาทางทหาร  ไม่มีพื้นที่ใดถูกควบคุมโดยกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด และเหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นอาชญากรรมทั่วไป

เพราะฉะนั้นตามที่มีการชี้นำขององค์กรภาคประชาสังคมบางกลุ่มเพื่อทำการสื่อไปยังองค์กรระหว่างประเทศเพื่อต้องการให้เห็นว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธภายในประเทศไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

ส่วนประเด็นกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งในการเก็บ DNA บุคคล โดยหลักการทั่วไป ต้องได้รับการยินยอมในการจัดเก็บ DNA”แต่มีข้อยกเว้นไม่ต้องได้รับการยินยอมมีกฎหมายรองรับในบางสถานการณ์ที่จำเป็น
ซึ่งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง อยู่ในมาตรา 11(6) นายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้มีการตรวจเก็บ DNA เพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยทั่วไป

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภายใต้กรอบของกฎหมาย และมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ต้องถือเอาความมั่นคงของประเทศเป็นใหญ่ และเป้าหมายสูงสุดเพื่อต้องการคืนความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สิทธิในการกำหนดใจตนเองก็ไม่สามารถกระทำได้ มีอย่างเดียวเท่านั้นที่ประชาชนต้องการและสนับสนุนคือการพูดคุยเพื่อสันติสุข (Dialogue to foster Harmony) พร้อมทั้งยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ...นั่นคือเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน มีแต่เสียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พยายามเรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง นำไปสู่การลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย
------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น