2/27/2559

ปอเนาะญีฮาดวิทยา กับ‘นัยที่ซ่อนเร้น’

มุสลิมท่าด่าน


ตั้งแต่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิพากษา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58 ยึดที่ดินโรงเรียนญีฮาดวิทยาตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ในเวลาต่อมากลับมีกลุ่มองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและมีการก้าวล่วงกล่าวหาว่าคำพิพากษาไม่มีความยุติธรรม อีกทั้งได้มีการเปิดประเด็นที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินวากัฟ (ที่ดินที่ได้รับการบริจาค) ซึ่งเป็นการจุดกระแสเพื่อต้องการสื่อให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลาม ชี้ให้เห็นว่ารัฐรังแกประชาชน ไม่มีความเป็นธรรม และเป็นความผิดพลาดของรัฐในการยึดที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนญีฮาดวิทยา ซึ่งถ้าเราลองมาเรียบเรียงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ทำไม? ศาลจึงต้องทำการยึดที่ดิน และทำไม? กลุ่มองค์กรบางกลุ่มจึงอาศัยจังหวะฉวยโอกาสในการเคลื่อนไหวแสวงประโยชน์จากเหตุการณ์นี้

          ย้อนรอยไปในอดีต นายบาราเฮ็ง เจ๊ะอาแซ หรือ บาบอเฮง ได้รับมรดกที่ดินตกทอดมาจากครอบครัว ซึ่งที่ดินผืนนี้มีเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน กับ 42 ตารางวา แรกเริ่มเดิมทีที่ดินตรงนี้ บาบอเฮง มีความตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนปอเนาะไว้ให้ลูกหลานในพื้นที่ได้มีที่ศึกษาเล่าเรียนศาสนา โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ในเวลาต่อมา บาบอเฮงได้เสียชีวิตลง กิจการโรงเรียนญีฮาดวิทยาจึงเป็นมรดกตกทอดต่อกันมาให้คนในครอบครัวเข้ามาบริหารจัดการต่อ เมื่อเวลาผ่านไปมีการปรับเปลี่ยน จากปอเนาะญีฮาด เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาญีฮาดวิทยา โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียมในการเรียนการสอน และรับเงินสนับสนุนจากรัฐในการบริหารจัดการ

          ความหายนะเริ่มตั้งเค้าเมื่อ นายดูนเลาะ แวมานอ เข้ามารับช่วงต่อเป็นครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา เนื่องจากนายดูนเลาะเริ่มฝักใฝ่กับขบวนการ BRN มีการใช้อาคารสถานที่โรงเรียนในการฝึกการใช้อาวุธ ผลิตวัตถุระเบิด และซ่องสุมกำลัง ปลูกฝังชักนำให้นักเรียนเข้าร่วมขบวนการจึงได้ทำให้เจตนาเดิมของบาบอเฮงถูกบิดเบือน จนเป็นเหตุให้ปอเนาะสีขาวกลับกลายเป็นปอเนาะสีเทา ทรัพย์สินถูกยึด ชื่อเสียงถูกทำลายสังคมดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง

          มูลเหตุจากการจับกุม นายมะยุรี หนิแว และนายมะซุกี เซ็ง บุคคลทั้งสองยอมรับว่าเป็นสมาชิกหน่วยคอมมานโดของกลุ่มโจร BRN เมื่อประมาณต้นปี 2545 ได้ถูกส่งตัวไปฝึกหลักสูตรคอมมานโด หรือชุดรบขนาดเล็ก (RKK) ที่โรงเรียนญีฮาดวิทยา โดยมีนายอิสมาแอ หรือจิแอ มะเซ็ง เป็นผู้ควบคุมการฝึก และนายดูนเลาะ แวมะนอ หรือเปาะซูเลาะห์ เป็นครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยา

          ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารได้สนธิกำลังเข้าทำการตรวจค้นโรงเรียนญีฮาดวิทยา พบสายไฟฟ้า ท่อพีวีซี เครื่องวัดกระแสไฟฟ้า เอกสารแผนการปฏิวัติ 7 ขั้น บริเวณหลุมขยะบรรจุในขวดโหล พลาสติคฝังดิน ซึ่งเอกสารแผนการปฏิวัติ 7 ขั้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นเอกสารภาษามลายูเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี

จากพยานหลักฐานต่างๆ ที่ได้จากการตรวจค้นโรงเรียนญีฮาดวิทยา ประกอบกับการรับสารภาพของสมาชิก RKK ในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งปิดโรงเรียนญีฮาดวิทยา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 และถูกศาลสั่งยึดที่ดินเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58


          ขณะที่เรื่องการยึดทรัพย์โรงเรียนญีฮาดวิทยา ยังอยู่ในขั้นตอนของศาลยุติธรรม นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขา ศอ.บต. ยังมีความห่วงใยเข้าไปเยี่ยมครอบครัวแวมานอและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง ณ ขณะนั้นครอบครัวแวมานอมีความยินดีที่จะให้ ศอ.บต. ช่วยเหลือในรูปของคดี แต่ภายหลังความคิดดังกล่าวกลับหายไปเมื่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรภาคประชาสังคมได้เข้ามาสอดแทรก โดยให้ความหวังกับครอบครัวแวมานอไม่ต้องให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือเพราะอยู่คนละฝ่ายกัน อีกทั้งคดีนี้ทนายความมุสลิมรับผิดชอบอยู่แล้ว แนวทางในการต่อสู้มีโอกาสที่จะชนะสูง มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจะเป็นผู้ดำเนินการ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด  

          ซึ่งจากข้อมูลเชิงลึกทราบว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี และเรื่องอาหารการกินที่พักจริง  แต่แค่เพียงบางส่วนไม่ใช่ให้การช่วยเหลือทั้งหมดอย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรก ส่งผลให้ครอบครัวแวมานอได้รับความเดือดร้อนต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือเองซึ่งเป็นเงินจำนวนมากอยู่สมาชิกในครอบครัวต้องลำบาก และที่สำคัญคือ การแพ้คดี ทำให้ที่ดินของปอเนาะญีฮาดถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน นี่หรือลมปากของคนบางกลุ่มที่เพียงต้องการแสวงประโยชน์ เมื่อไม่เห็นหนทางชนะคดีกลับถีบหัวส่งยัดเยียดความทุกข์ซ้ำเติมให้กับครอบครัวแวมานอ


          เมื่อศาลได้มีคำพิพากษา สั่งยึดทรัพย์ที่ตั้งโรงเรียนญีฮาดวิทยาครอบครัว แวมานอยอมรับในคำตัดสินของศาล และไม่ขอยื่นอุทธรณ์ทั้งๆ ที่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยนายบันยาล แวมะนอ ลูกชาย นายดอเลาะ ได้กล่าวว่า อยากจะจบเรื่องเลยไม่ขอยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 14 ก.พ.59 ครอบครัวแวมะนอและได้ขนย้ายข้าวของออกจากพื้นที่ไปพักอาศัยอยู่ที่ ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิดกือแด หรือมัสยิดท่าด่าน แต่ยังมีกลุ่มต่างๆ ได้หยอดคำหวานให้ความหวังกับครอบครัวแวมะนอว่าจะช่วยกันซื้อที่ดินผืนใหม่เพื่อจะสร้างโรงเรียนขึ้นมาทดแทนสนองเจตนารมณ์ของบาบอเฮง


          ล่าสุดเมื่อ 26 ก.พ.59 ผู้นำองค์กรทางศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี, นราธิวาส, สงขลา ผอ.ศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาค จชต., ประธานสภาอูลามาอฟาฏอนีย์ดารุสลาม, ประธานชมรมมุสลิมภราดรภาค, นายกสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ 5 จชต. และนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้จัดแถลงข่าวหาแนวทางการแก้ปัญหากรณีศาลยึดที่ดินดินโรงเรียนญีฮาดวิทยาขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งจะได้ร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และเห็นพ้องต้องกันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่ง ในการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

          จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหากรณีศาลยึดที่ดินดินโรงเรียนญีฮาดวิทยาให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ประชาชนในพื้นที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินผืนดังกล่าวได้ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาในการหาหาแนวทางและมาตรการในการขอใช้ที่ดินดังกล่าวต่อรัฐ ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชน และไปตามเจตนารมณ์ในการสานต่อเจ้าของที่ดินในการบริหาร

จัดการ ซึ่งกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดีต่างเรียงหน้าออกมาทำการกล่าวหารัฐอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงจะพลอยตกเป็นเครื่องมือให้กับบุคคลเหล่านี้ เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงคือรัฐไม่ได้รังแกประชาชน คดีความได้ว่าไปตามกฎหมาย ส่วนการยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินนั้นมิได้หมายความว่าจะห้ามการใช้ประโยชน์ใดๆทำการยึดเพื่อคืนที่ดินผืนดังกล่าวให้เป็นสาธารณะประโยชน์ให้คนในชุมชน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ได้บริหารจัดการใช้ประโยชน์ร่วมกันในการจรรโลงศาสนา สานต่อเจตนารมณ์ของเจ้าของเดิมต่อไป
--------------------------------

                   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น