7/25/2557

น้ำตาท่วมเวทีกับบทกวี"รอคิวตาย" เสียงจากญาติเหยื่อไฟใต้"คนไม่มีทางสู้"

"ฉันไม่มีลูกแล้วไม่รู้ใครจะมาเก็บกระดูก กำลังใจที่จะทำงานต่อก็หมดลงทุกวัน เวลาที่เหลืออยู่ก็น้อย เหตุดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่อยากให้เกิดอีก ไม่น่าเกิดซ้ำซาก รู้ถึงความสูญเสีย เมื่อได้ยินข่าวร้ายใจไม่อยู่กับตัว แล้วแต่ใครจะไปคิวไหน...รอคิวตาย"


 เป็นเสียงของ นวลแข แซ่ลิ้ม แม่ของ ศยามล แซ่ลิ้ม พนักงานเอาท์ซอร์สธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนหนองจิก อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างทางขณะขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 12 ก.พ.57 โดยลูกสาวของเธอไม่ใช่แค่ถูกยิง แต่ยังถูกคนร้ายราดน้ำมันจุดไฟเผาอย่างโหดเหี้ยม
          ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือน ก.ค. มีผู้หญิงถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วถึง 32 คน เฉลี่ยเดือนละ 5-6 คน นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ หนำซ้ำแต่ละกรณียังแทบหาตัวคนผิดไม่ได้ จึงไม่แปลกที่เมื่อรัฐหรือคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพยายามบอกว่าสถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้น บรรดาญาติผู้สูญเสียและผู้คนในพื้นที่จึงไม่เคยเชื่อ เพราะมันสวนทางกับความรู้สึก
          22 ก.ค. องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยคนทำงานเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และผู้หญิง ได้ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ "หยุดพรากชีวิตผู้หญิงและเด็ก" ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Breaking the wall of silence หรือ ทำลายกำแพงแห่งความเงียบ ที่ห้องจะบังติกอ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยมีญาติและครอบครัวของผู้หญิงที่เสียชีวิตมาร่วมงานกันแน่นห้องจัดงาน
          ช่วงหนึ่งที่ห้องเสวนาทั้งห้องเงียบกริบ คือช่วงที่ ครูวินัย ทองบุญเอียด ญาติของ เกศนี รมณ์เกศแก้ว หญิงพิการแขนขาที่ถูกกราดยิงด้วยอาวุธสงครามเสียชีวิตหน้าแผงขายของริมถนนใน ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ 15 มิ.ย.57 ลุกขึ้นอ่านกลอนที่เขียนระบายความอัดอั้นตันใจทั้งหมดของผู้สูญเสีย
          บทกวีบทนี้ชื่อว่า รอคิวตาย...
          อีกกี่ศพ ถึงจะพอ ท้อบ้างไหม
          เมื่อลูกไทย ถูกเข่นฆ่า น่าสงสาร
          ผู้อยู่หลัง ต้องเจ็บปวด รวดร้าวราน
          เห็นลูกหลาน ด่าวดิ้น สิ้นชีพไป
          ถูกฆ่าแล้ว ถูกฆ่าอีก หลีกไม่พ้น
          จะทุกข์ทน ทรมาน นานเพียงไหน
          จะเคียดแค้น แน่นหนัก สักเพียงใด
          เหมือนเราไซร้ ไร้วิญญาณ มานานครัน
          ผู้ลอบฆ่า ยังหัวเราะ เหมือนเยาะหยาม
          เหมือนไม่คร้าม ต่อกฎหมาย ทั้งหลายนั่น
          คล้ายยมราช ผู้พิฆาต ทุกชีวัน
          คนชั่วนั้น ยังยืนยง คงชีพทน
          อนิจจา หวาดวิตก ตระหนกสิ้น
          ทั่วย่านถิ่น หมดสุข ทุกข์สับสน
          กลิ่นคาวเลือด หวาดผวา มาเคล้าปน
          แต่ละคน รอคิวใหม่ เป็นใครเอย

เมื่ออ่านกลอนจบ ครูวินัยเอ่ยทำลายความเงียบงันด้วยการบอกเล่าความเป็นคนสู้ชีวิตและไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของเกศนี ซึ่งมีน้อยคนนักที่จะทราบ
          "ตอนอายุ 3 ขวบ แม่ของเกศนีไม่ได้พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ทำให้แขนขาอ่อนแรงและพิการ ไม่ได้เรียนภาคบังคับ แต่เธอก็สู้ชีวิต ทำงานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ จนอายุ 22 ปีได้อยู่กินกับสามีชาวสะบ้าย้อย (อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา) มีลูกสาวหนึ่งคน แต่ไม่นานนักทางฝ่ายสามีก็มาเอาลูกสาวไป เธอเป็นหญิงพิการแต่รักลูกสุดหัวใจ มีเพียงเงินยังชีพคนพิการที่เก็บสะสมไว้ นำไปซื้อลูกหมูมาเลี้ยง ซื้อหมากมาทำหมากแห้ง รับจ้างทำงานบ้าน ถอนหงอก ทำทุกอย่างที่เธอทำได้ อดทน เพียรพยายาม เป็นที่รักและเอ็นดูของคนทั้งหมู่บ้าน"
          "วันเกิดเหตุเธอไปรับจ้างถอนหงอกให้เจ้าของร้านขายของริมทาง นั่งกันอยู่หลายคน จากนั้นก็มีมอเตอร์ไซค์มาจอด เจ้าของร้านเห็นปืนจึงตะโกนให้ทุกคนวิ่งหนี แต่เธอหนีไม่ทันเพราะพิการทั้งแขนขา เธอถูกยิงเป็นสิบนัดที่หน้าอกและลำตัว เป็นการกระทำที่เหี้ยมโหดมากกับคนไม่มีทางสู้เช่นเธอ"
          ครูวินัย บอกว่า วันรดน้ำศพและวันเผาศพเป็นวันที่เธอได้พบหน้าลูกสาวที่ถูกพรากไป เป็นวันที่เธอรอคอยมานาน แต่ก็เป็นวันที่เธอไม่มีลมหายใจแล้ว...เมื่อเล่าถึงตรงนี้ เสียงของครูวินัยขาดหาย ขณะที่หลายคนในห้องประชุมถึงกับร้องไห้ บางคนก็น้ำตาไหลออกมาเพราะกลั้นไม่อยู่จริงๆ
          ขณะที่ นวลแข แซ่ลิ้ม แม่ของ ศยามล เหยื่อกระสุนระหว่างเดินทางกลับบ้าน บอกว่า สิ่งที่เหลืออยู่คือใบมรณบัตร ไม่ต้องการเงินเยียวยา อยากได้ชีวิตลูกสาวคืนมา ชีวิตมีคุณภาพที่เลี้ยงมาด้วยสองมือแม่ แต่คนอื่นมาฆ่าเสียง่ายๆ ลูกใคร ใครก็รัก
          "ในใจลึกๆ สุดจะบรรยาย เหตุที่เกิดคนทำได้อะไร อาจสาสมใจที่ทำลูกสาวฉัน ยิงแล้วมาเผาเขาอีก ลูกร้องว่าช่วยด้วย มีรถผ่านไปหลายคันบอกว่า ช่วยไม่ได้จริงๆ ทุกคนก็กลัวเหตุจะเกิดกับตัวเอง"
          ด้วยความเป็นครู ทำให้เธอต้องออกจากบ้านทุกวัน แต่โชคดีที่เป็นโรงเรียนใกล้บ้าน นวลแข บอกว่า ชีวิตทุกวันนี้ไม่กล้าออกไปไหนคนเดียวเลย
          "วิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก วันที่ไปโรงเรียน ก้าวออกไปก้าวแรกคิดว่ารอดตายกลับมาถึงบ้านก็คือรอดไปอีกหนึ่งวัน กลับมาปิดประตูเงียบอยู่ในบ้าน จะไปไหนหรือจะไปซื้อของต้องบอกทหารหรือให้ลูกศิษย์ซื้อมาให้ ต้องอาศัยคนอื่น เป็นชีวิตที่อึดอัดเต็มที เพราะปกติจะทำทุกอย่างด้วยตัวเองตลอด คนเป็นพ่อแม่ ย่ายาย เตรียมตัวเตรียมใจตลอดเวลาหากต้องสูญเสียลูกหลานไป คนหนุ่มสาวต้องฝากคนชรามาเก็บศพเก็บกระดูก"
          "ฉันไม่มีลูกแล้ว ไม่รู้ใครจะมาเก็บกระดูก กำลังใจที่จะทำงานต่อก็หมดลงทุกวัน เวลาที่เหลืออยู่ก็น้อย เหตุดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่อยากให้เกิดอีก ไม่น่าเกิดซ้ำซาก รู้ถึงความสูญเสีย เมื่อได้ยินข่าวร้ายใจไม่อยู่กับตัว แล้วแต่ใครจะไปคิวไหน...รอคิวตาย"
          นวลแข บอกอีกว่า การเยียวยาไม่ใช่การแก้ปัญหา ตายแล้วเยียวยากันเป็นแค่ปลายเหตุ ไม่จบไม่สิ้น ทุกคนที่สูญเสียก็หัวอกเดียวกัน อยากได้ชีวิตคนที่เรารักกลับคืนมา ฝากรัฐให้ดูแลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้มแข็งกว่านี้ ให้เหตุร้ายสงบลงเสียที
          "แต่แม้จะเกิดเหตุหนักแค่ไหนก็ย้ายไปไหนไม่ได้ เพราะที่นี่คือบ้านเกิด ขอตายที่นี่ โชคดีที่ลูกไม่ทิ้งภาระอะไรไว้ ฉันต้องอยู่อย่างเข้มแข็งให้ได้ แต่เหมือนอยู่ในนรกทั้งเป็น" เธอกล่าวเสียงเศร้า
          ด้าน เอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ ผู้สูญเสียสามีไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 50 เล่าว่า กว่าจะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องบอกตัวเองว่าชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า ต้องปรับวิธีคิดของตนเองแล้วสู้ต่อไป
          "ในแผ่นดินนี้ทุกคนอยู่ตามรางวิถีกระสุน คนที่มีพลังต้องขับเคลื่อนให้เห็นว่าพลังแห่งความรักมีจริง เมื่อรู้ข่าวร้าย หากเดินทางไปได้ก็จะไปกอดผู้สูญเสีย อ้อมกอดของเราเป็นความอบอุ่น ความเข้าใจ คนที่เข้มแข็งแล้วต้องช่วยดูแลคนอื่น ไม่มีใครเข้าใจคนที่สูญเสียเท่ากับคนที่สูญเสียเช่นกัน อ้อมกอดของเราจะปกป้องพวกเราได้"
          "ต้องช่วยกันคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่ตายแล้วเงียบ ให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นภาระของทุกคน ขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เราเสียงบประมาณในการแก้ปัญหาชายแดนใต้เยอะมาก ยิ่งแก้ยิ่งรุนแรง เรามาผิดทางหรือเปล่า เราสูญเสียกันมามากพอแล้ว สันติภาพที่อยากให้เกิดนั้น เป็นจริงได้หากรวมพลังกันจริงๆ ไม่มีผลประโยชน์จากเหตุร้ายหรือความร่ำรวยที่เกิดจากคราบน้ำตา ขอเรียกร้องให้ผู้ได้ผลประโยชน์จากเหตุร้ายยุติเสียที และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเจ็บปวดและฝังลึก"
          ส่วน แวลีเมาะ จิเลาะ จาก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มารดาของ ด.ช.นิโซเฟียน ที่ถูกระเบิดเสียชีวิตบริเวณตลาดเปิดท้าย กลางเมืองปัตตานี เมื่อเดือน มี.ค.55 โดยที่ตัวแวลีเมาะเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วย เธอบอกว่า ทุกวันนี้ยังหวาดผวาและนึกถึงเหตุการณ์วันนั้นอยู่ตลอด
          "ทำใจยากมากที่ลูกชายคนเดียวเป็นเด็กบริสุทธิ์ต้องมารับเคราะห์ ฉันเองก็ต้องรักษาตัวเกือบปีกว่าจะเดินได้สะดวก ยังท้ออยู่บ้างกับชีวิตที่ต้องอยู่คนเดียว ขอร้องด้วยใจว่าให้หยุดทำเรื่องร้ายๆ เสียที อยากให้บ้านเราสงบอย่างจริงจังเสียที" แวลีเมาะ กล่าว
ช่วงหนึ่งของการเสวนา มีการขับร้องเพลงเพื่อไว้อาลัยแด่ผู้สูญเสีย โดยผู้แต่งและขับร้องเป็นตำรวจ สภ.กาบัง จ.ยะลา ส.ต.อ.ดนัย มีสวัสดิ์ เขาบอกว่า หลังจากได้ทราบข่าวนักศึกษาวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจังหวัดยะลา 2 คนถูกยิงเสียชีวิตกลางตลาดนัดใน อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 9 ก.ค.57 ทำให้เกิดความรู้สึกอยากแต่งเพลง
          "เป็นเรื่องเศร้าตั้งแต่ต้นปีที่ผู้หญิงในพื้นที่ถูกกระทำอย่างโหดร้าย จนมาถึงเรื่องที่เกิดกับน้องนักศึกษา 2 คน ไม่ทราบว่าคนทำต้องการอะไร เขาเป็นนักศึกษาและเป็นผู้หญิงที่ไม่มีทางสู้เลย ถ้าเป็นผู้ชายหรือเป็นเจ้าหน้าที่ก็พอได้ต่อสู้กันสมศักดิ์ศรี แต่นี่เป็นเด็ก เป็นผู้หญิง เป็นเป้าหมายอ่อนแอ ถือว่าคนกระทำไม่มีศักดิ์ศรี รังแกคนไม่มีทางสู้ อยากให้คนที่ทำคิดใหม่และหยุดการกระทำเลวร้ายต่อทุกคน" ส.ต.อ.ดนัย กล่าว
          กำแพงแห่งความเงียบถูกทลายลงบ้างในวันนี้ มีเสียงเพรียกจากครอบครัวผู้สูญเสียทุกเพศทุกวัยให้ผู้ไม่หวังดียุติความรุนแรง และขอความสงบสุขร่มเย็นกลับคืนมา...
          ได้แต่หวังเพียงว่าเสียงเพรียกครั้งนี้คงไม่เงียบหายไปเช่นทุกครั้ง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.isranews.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น