‘แบดิง โกตาบารู’
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเดือนรอมฎอนเดือนแห่งการกระทำความดีของพี่น้องมุสลิม
หน่วยงานความมั่นคงได้มีความพยายามรณรงค์ลดการก่อเหตุรุนแรงทุกรูปแบบจาก ผกร. ซึ่งจะเห็นได้จากการรวบรวมสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
(Deep South
Watch) ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลตัวเลขบ่งชี้ว่าปีนี้เหตุการณ์ได้ลดลงกว่าปีก่อนๆ
แต่ทว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน สถานการณ์กลับร้อนแรงขึ้นทันที
เป็นเพราะอะไรจึงได้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกระลอก
การก่อเหตุช่วง
10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหลายๆ
อย่างที่เกื้อหนุนให้สมาชิกในพื้นที่ลงมือทำการก่อเหตุ นักวิเคราะห์ผู้รู้ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย
แต่ในนามส่วนตัวผู้เขียนเองกลับมองว่าสาเหตุที่ความรุนแรงกลับมาปะทุใน 10
วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนน่าจะมาจากสาเหตุดังนี้
ประการแรก
เป็นสิ่งยืนยันได้ดีว่าสมาชิกที่ทำการก่อเหตุยังมีความคิดความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังอย่างผิดๆ
ว่าการก่อเหตุในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนจะได้ผลบุญเป็นร้อยเท่าพันทวีคูณ
ประการที่สอง
การควบคุมสั่งการนักรบรุ่นใหม่ที่ได้มีการบ่มเพาะสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนนักรบรุ่นเก่ากระทำได้ยาก
และเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กรของขบวนการ BRN ความไม่ลงรอยกันของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
อีกทั้งโจทย์ใหญ่ในเรื่องการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลไทยที่ได้มีการเปิดตัวไป
ซึ่งมีการดำเนินการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่อยู่ในขณะนี้
ตัวบ่งชี้ของความขัดแย้งสังเกตได้ว่าเมื่อวันที่
8 กรกฎาคม ได้มีการติดป้ายผ้าคัดค้านการเจรจา การพ่นสีข้อความไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยในพื้นที่อำเภอหนองจิก
จังหวัดปัตตานี ถัดมาแค่ 2 วัน 10 กรกฎาคม การปฏิบัติการทางทหารของโจรใต้มีก่อเหตุความรุนแรงด้วยการวางระเบิด
และวางเพลิง ในเขตพื้นที่เมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และตำบลปาดังเบซาร์
อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวม 8 จุด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 11
ราย และทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ความสุดโต่งของโจรใต้ฟาตอนียังทำลายสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน
ด้วยการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าโครงเหล็ก ระบบ 115 กิโลวัตต์ ล้มเสียหาย จำนวน 8 ต้น
ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใช้การไม่ได้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักการติดต่อสื่อสารถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
พื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก
มีการก่อเหตุ จำนวน 4 จุด ประกอบด้วยการใช้ระเบิดขว้างใส่ร้านครัวเจนนี่ และร้านพัฒน์เนื้อกระทะ ถนนลูกเสือนุสรณ์ 5
ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเกิดระเบิดหน้าโรงแรมท๊อปเอเชีย
ตรงข้ามร้านบุษบาคาราโอเกะ ซอยประชาวิวัฒน์ 2 เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย
และเก็บกู้ได้ 1 จุด บริเวณหน้าโรงเรียนผดุงวิทยาเขตเทศบาลสุไหงโก-ลก
นอกจากนี้ยังมีเหตุเพลิงไหม้ 3 จุด
บริเวณร้านสมชายอะไหล่ยนต์ ถนนประชาวิวัฒน์ ร้านไทยอุปกรณ์ก่อสร้าง
ถนนประชาวิวัฒน์ ซอย 1 และร้านแสงเจริญค้าส่ง ถนนหลังตลาดเก็นติ้ง
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบหลังเพลิงสงบพบมีผู้เสียชีวิต
จำนวน 3 ราย
ขณะที่พื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา
จังหวัดสงขลา จำนวน 1 จุด ด้วยการใช้ระเบิดแสวงเครื่องประกอบในรถจักรยานยนต์
บริเวณหน้าร้านคาราโอเกะครกทอง ในเขตเทศบาลปาดังเบซาร์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
3 ราย และบาดเจ็บ 3 ราย
ส่วนในพื้นที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา คนร้ายได้ทำการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า
หลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนบางลาง ได้ขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินสำรวจ
พบว่าคนร้ายได้ลอบวางระเบิดเสาโครงเหล็ก ระบบ 115 กิโลวัตต์
ช่วงพาดผ่านภูเขาจากไลน์ส่งกระแสไฟฟ้าเขื่อนบางลาง ไปยัง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ล้มเสียหาย
จำนวน 6 ต้น จุดเกิดเหตุบริเวณบ้านบัวทอง ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต
จังหวัดยะลา ซึ่งส่งผลให้กระแสไฟฟ้าในพื้นที่ อำเภอเบตงใช้การไม่ได้
โดยประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันอย่างหนัก การติดต่อสื่อสารขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้
ในเวลาต่อมา พลโทปราการ ชลยุทธ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค
4 ได้สั่งการเน้นย้ำให้หน่วยในพื้นที่เร่งสร้างความเข้าใจต่อเจ้าของกิจการ
และสถานบันเทิงทุกชนิด ซึ่งเป็นเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงให้เพิ่มความระมัดระวัง
โดยให้มีระบบรักษาความปลอดภัยภายในร้าน และช่วยกันสังเกตสิ่งผิดปกติ รวมทั้งได้สั่งการให้ทุกหน่วยเพิ่มความเข้มในการปฏิบัติตามแผนรักษาความปลอดภัยในเขตพื้นที่เมืองเศรษฐกิจ
โดยใช้กำลังทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบศาสนกิจของพี่น้องประชาชน
รวมทั้งให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนต่อไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นความพยายามของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มุ่งสร้างสถานการณ์ความรุนแรง
ตามความเชื่อที่ถูกบิดเบือนว่าจะได้ผลบุญเป็นทวีคูณ
ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม และความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ต้องการให้เป็นเดือนแห่งสันติสุข
ปราศจากความรุนแรง
แต่ในอีกมุมหนึ่ง “เป็นมิติที่ดี” ที่ผู้นำศาสนา 8
องค์กรในพื้นที่ ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
และขอให้พี่น้องมุสลิมประกอบศาสนกิจในห้วง 10
วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนอย่างเคร่งครัด จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรงดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
เพราะถือเป็นการกระทำที่สุดโต่ง เผด็จการ และไร้มนุษยธรรม ซึ่งนอกจากได้สร้างความเดือดร้อน
และความเสียหายในชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนแล้ว
ยังเป็นการทำลายบรรยากาศการประกอบศาสนกิจในเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องมุสลิมอย่างร้ายแรง
ในส่วนของภาครัฐ พ.อ. ปราโมทย์
พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวว่ายังคงเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
รวมทั้งขับเคลื่อนกระบวนการสันติวิธี มุ่งเน้นการใช้กฎหมาย
เปิดช่องทางให้มีการรายงานตัวเพื่อเข้าสู่โครงการพาคนกลับบ้าน
ส่งเสริมงานพัฒนาและการพูดคุยสันติสุข
อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
อาจารย์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง
10
วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เป็นช่วงที่มีสถิติการก่อเหตุรุนแรงค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีความเชื่อว่าการก่อเหตุจะได้บุญเป็นทวีคูณ
อาจาย์ซากีย์ฯ ชี้ว่าเดือนรอมฎอนเป็นเดือนของการทำความดี ด้วยการแผ่เมตตาและให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลน
ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ดังนั้นวิธีคิดและการทำร้ายผู้บริสุทธิ์
ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเรื่องของการทำความดี และการใช้ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้น
หลักคำสอนอิสลามไม่มีเจตนาให้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์
และคนมุสลิมที่มีใจเป็นธรรมต้องมองออกว่าวิธีคิดดังกล่าวเป็นการบิดเบือนคำสอนหรือไม่?
เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงมือก่อเหตุครั้งนี้เป็นการโจมตีเมืองชายแดนที่ติดกับประเทศมาเลเซีย
นับเป็นพื้นที่ก่อเหตุใหม่
ตามปกติคนมาเลเซียนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงหลังวันออกบวช
การตั้งใจทำลายเมืองท่องเที่ยวของกลุ่มโจรใต้ เสมือนหนึ่งต้องการทำลายเมืองเศรษฐกิจ
ทำลายบรรยากาศเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการกระทำความดีของพี่น้องมุสลิม
ความเดือดร้อนที่โจรใต้ฟาตอนีได้ยัดเยียดให้ด้วยการระเบิดและเผาเมืองสุไหงโก-ลก
ตามด้วยระเบิดปาดังเบซาร์ ระเบิดทำลายเสาไฟตัดกระแสไฟฟ้าเมืองเบตง ใคร? คือผู้ที่เดือดร้อน ไม่ใช่พี่น้องประชาชนหรอกหรือ?..สิ่งที่กลุ่มขบวนการได้มีแค่ความสะใจ
ต้องเสียมวลชน มีแต่ชาวบ้านร่วมก่นด่าสาปแช่ง
ผู้คนต่างเอือมระอาต่อการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ผู้นำศาสนา 8 องค์กรในพื้นที่ออกมาประณาม
การก่อเหตุมีแต่นำความสูญเสียความเดือดร้อนมาซ้ำเติมให้กับประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่มีวันจบสิ้น..แล้วเมื่อไหร่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลับมาสงบ
ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข...หากโจรใต้ยังกระทำอยู่เช่นนี้
------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น