7/10/2558

ส่งตัวดำเนินคดี 5 มือระเบิดยะลา

แบดิง โกตาบารู

เหตุระเบิดในเขตเทศบาลเมืองยะลาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14-15-16 พฤษภาคม 2558 ถึงแม้ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีประชาชนต้องเผชิญชะตากรรมได้รับบาดเจ็บ จำนวน 18 ราย อาคารร้านค้าบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
ภาครัฐต้องนำเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ สภาพจิตใจผู้ประสบเหตุต้องอกสั่นขวัญหาย ระบบเศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้วกลับทรุดหนักเพราะน้ำมือการกระทำของกลุ่มโจรใต้ที่มุ่งสร้างสถานการณ์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 3 วันเต็ม กับการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงถึง 45 จุด ใช้ระเบิดในการก่อเหตุจำนวน 62 ลูก ประชาชนที่เดือดร้อนต่างภาวนาให้มีการจับกุมตัวคนร้ายให้ได้โดยเร็ว
หน่วยงานความมั่นคงทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ต่างพยายามควานหาหลักฐานเชื่อมโยงในการก่อเหตุ เพื่อติดตามจับกุมตัวคนร้ายมาลงโทษดำเนินคดี อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา หลังจากโจรใต้อาศัยช่องว่างในการตรวจตราลอบเข้ามาก่อเหตุในเขตเมือง
ผู้เขียนเองมีความสนใจต่อรูปคดีว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน เพราะหลังเกิดเหตุระเบิดได้มีกระแสว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ จนในเวลาต่อมาได้มีการติดตามจับกุมตัวบุคคลต้องสงสัยจำนวนหลายราย และในจำนวนนั้นยังมีนักศึกษารวมอยู่ด้วยจนถึงขนาดกลุ่ม PerMAS เป่าหูนักเรียนโรงเรียนธรรมวิทยาให้ทำการเคลื่อนไหวกดดันเจ้าหน้าที่ให้มีการปล่อยตัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้
กลุ่ม PerMAS อีกส่วนหนึ่งเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนยังองค์การสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ ณ สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และไปยื่นหนังสือยังสถานเอกอัครทูตมาเลเซีย กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการก้าวล่วงการจัดกิจกรรมของนักศึกษา
เจ้าหน้าที่นำผู้ต้องสงสัยทั้งหมดที่ได้จับกุมตัว เข้าสู่กระบวนการซักถามเพื่อทำการแยกแยะผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ส่งกลับภูมิลำเนาอย่างเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่บริสุทธิ์
ในที่สุดเมื่อมีการแยกน้ำดีออกจากน้ำเสีย ส่งตัวผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับบ้าน คงเหลือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งที่ยอมรับสารภาพ และทั้งที่จนด้วยหลักฐานมัดตัวล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวดำเนินคดีตามหมาย ป.วิอาญา จำนวน 5 รายด้วยกัน
และผู้ที่ถูกส่งตัวดำเนินคดี 5 ราย ประกอบด้วย นายอับดุลฟาริด สะกอ ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคยะลา, นายสุกรี นิเลาะ นักศึกษาดีโพลม่าโรงเรียนธรรมวิทยา, นายซอบรี กาซอ อดีตนักศึกษา มอ.ปัตตานี, นายอาลียัส สาเตาะ และนายต่วนฮาซัน โต๊ะกูบาฮา มีอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา ปัจจุบันทั้งหมดอยู่ระหว่างฝากขังที่ศาลจังหวัดยะลา
นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฯ ฉุกเฉิน อีกจำนวน 6 คน ประกอบไปด้วย นายแยสฟรี  หะมีปูเต๊ะ, นายอับดุลรอเซะ  กะดอง, นายมัสวาร  โลงซา, นายหมัดมูดี  กาโฮง, นายกอเซ็ง  โต๊ะปิ และนายแวฮาซัน สาและ ควบคุมตัว ณ ศพส.ศปก.ตร.สน. 5 คน
จะเห็นได้ว่าผู้ที่ถูกติดตามจับกุมในครั้งนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยมาก่อน หากจะวิเคราะห์เหตุระเบิดยะลา ทำไม? กลุ่มขบวนการจึงเลือกใช้นักรบรุ่นใหม่ในการก่อเหตุ แล้วทำไม!!..ขบวนการจึงไม่เลือกใช้สมาชิกที่มีประสบการณ์หรือช่ำชองในการก่อเหตุไม่ดีกว่าหรือ?...หากจะเดาใจแกนนำสั่งการคงจะเป็นการทดสอบกำลังใจนักรบรุ่นใหม่ และที่สำคัญหากใช้สมาชิกรุ่นเก่าทำการก่อเหตุจะเป็นการสุ่มเสี่ยงในการติดตามจับกุมตัวได้ง่ายขึ้น เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นมีประวัติในสารบบของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้เก็บรวบรวมเหลักฐานไว้
การส่งตัวคนร้ายฟ้องศาลในครั้งนี้ จะเป็นคำตอบให้กับสังคมเป็นอย่างดี และเป็นการชี้ให้เห็นว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ การบังคับใช้กฎหมายมีความเสมอภาค และเป็นการตอบโจทย์? กลุ่มนักศึกษา PerMAS ที่มีความพยายามดิ้นรน เคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด ด้วยการกดดันเจ้าหน้าที่ให้ทำการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดจังหวัดยะลาในห้วงที่ผ่านมา
ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มรู้สันดานที่แท้จริงของกลุ่มนักศึกษาโจรใต้ หน้าฉากคือภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการต่อสู้ที่ไม่ใช้กำลัง (Non violent) แต่หลังฉากกลับเป็นโจรใต้ลงมือก่อเหตุสร้างความรุนแรงเสียเอง
นับได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับการกระทำความผิดแล้วลอยนวลไม่ถูกจับกุมตัวมาดำเนินคดี คอยติดตามชั้นอัยการส่งตัวฟ้องศาลหลักฐานจะแน่นหนาขนาดไหน โจรใต้เหล่านี้จะหลุดหรือจะติดคุก คงจะมีหลายคนภาวนาอย่าให้มีการยกฟ้องเลย ไม่เช่นนั้นสมาชิกแนวร่วมเหล่านี้จะได้ใจหวนกลับมาก่อเหตุอีก

---------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น