7/30/2558

...เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ หรือ...เพื่อใคร?

แบดิง โกตาบารู

ยุทธศาสตร์กลุ่มขบวนการ BRN ในอดีตที่ผ่านมาซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนคือ เอกราช และ มุ่งไปสู่การปกครองตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบรัฐอิสลามหรือไม่? วิธีหลักที่กลุ่มขบวนการ BRN ใช้มาโดยตลอด คือ ยุทธศาสตร์สงครามประชาชน ภายใต้ยุทธวิธีสงครามกองโจร การญีฮาด และสงครามข่าวสาร

สงครามข่าวสารในยุคเริ่มแรกที่กลุ่มขบวนการ BRN ใช้ได้ผลมากที่สุดคือ ปากต่อปาก ใบปลิว ป้ายผ้า อีกทั้งมีการปล่อยข่าวลือ มุ่งทำการก่อเหตุใช้ความรุนแรง เป้าหมายคือให้องค์กรต่างชาติเข้ามาแทรกแซง นำไปสู่เอกราช

เมื่อกระบวนการสันติภาพได้เกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมเริ่มเข้ามามีบทบาท เป็นตัวแสดงหลักในการขับเคลื่อนที่มีทุนจากต่างชาติหนุนหลัง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีมากถึง 521 องค์กร

แต่ก็ถึงบางอ้อเมื่อเจอข้อมูลที่มีการลงนามในตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีถึง 9 ฉบับ แต่ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง 7 ฉบับ เป็นการเอื้อของกฎหมายระหว่างประเทศให้ทุนต่างชาติเข้ามาสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ของประเทศ

จากผลพวงดังกล่าวกลุ่มขบวนการ BRN หันมาใช้ภาคประชาสังคมเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์จากระบวนการสันติภาพเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเอกราช มีการอำพราง แทรกแซง และจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมฝ่ายตนเองขึ้นมา ส่งผลให้บริบท ตัวแสดง รูปแบบ และเวทีที่จะเล่นได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมๆ จากสงครามกองโจรที่ได้เคยใช้อยู่

นี่คือโจทย์ใหม่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องทำความเข้าใจ และติดตามตรวจสอบองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กรที่ทำการ ลับ ลวง พราง แต่เบื้องหลังคือเนื้อเดียวกันกับขบวนการ BRN มีความพยายามในการรวบรวมภาคประชาสังคมจัดตั้งเป็นเครือข่ายเพื่อใช้เป็นอำนาจการต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐขึ้นมา และเมื่อเร็วๆ นี้ นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานภาคประชาสังคมต่างๆ และจัดตั้ง เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพขึ้นซึ่งมีสมาชิก 18 องค์กรด้วยกัน

ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) กับภารกิจแรก คือการเล่นบทด้วยการออกแถลงการณ์กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติไม่เป็นธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อสังคม และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพ
พร้อมทั้งได้มีการกล่าวว่าได้เรียกร้องขอเข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงได้ออกมาแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมกับสังคม

มาตีแผ่ความจริงกันดูว่าใคร? กันแน่ที่เล่นแง่ไม่ยอมเข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งๆ ที่มีการเปิดพื้นที่การพูดคุยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตอบข้อสงสัยในเรื่องที่ค้างคาใจในวันที่ 14 ก.ค.58 ค่ายสิรินธร กอ.รมน.ภาค 4 สน. แต่กลับชิงความได้เปรียบในการออกแถลงการณ์ในวันที่ 13 ก.ค.58 ณ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี

เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) มีภาคีร่วมเครือข่ายร่วม 18 องค์กร คิดว่าผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะทราบดีว่ามีองค์กรใดบ้าง

พฤติกรรมของเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ได้รวมตัวกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง มุ่งกล่าวหาโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาค และการไม่ได้รับความยุติธรรม

องค์กรเหล่านี้ได้มีการตรวจสอบและพยายามหาข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ นำไปทำการขยายผลสร้างการรับรู้ โดยอาศัยข้ออ้างเพื่อการปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาได้มีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด พร้อมทั้งได้มีการนำข้อมูลไปเรียกร้องกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อทำการยกระดับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปสู่ระดับสากล

เพราะฉะนั้นอยากจะตั้งคำถามไปยังเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ...ที่ทำการเคลื่อนไหวอยู่ทุกวันนี้ เพื่อต้องการสันติภาพ...สร้างสันติสุขให้กับประชาชน หรือเคลื่อนไหวเพื่อใคร? หรือเพื่อเงินทุนสนับสนุนที่อันแสนจะโอชะกันแน่?....

-------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น