‘ลมใต้ สายบุรี’
เมื่อกล่าวถึง“โรงเรียนปอเนาะ”รวมไปถึง“โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน”ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
คนในพื้นที่ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีเนื่องจากส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาจากสถาบันเหล่านั้นซึ่งมีอยู่มากมายหลายพันโรง
แต่สำหรับคนทั่วไปแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐกลับมองว่า“โรงเรียนปอเนาะ”หรือ“โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน”เป็นแหล่งบ่มเพาะ
ซ่องสุมกำลัง ซุกซ่อนอาวุธของกลุ่มขบวนการที่สู้รบปรบมืออยู่กับรัฐ
อะไร? คือสาเหตุที่คนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ มอง“โรงเรียน
ปอเนาะ”หรือ“โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน”เหล่านั้นในแง่ลบ
ซึ่งจะต้องมีเหตุและผลถึงความเป็นมาจะต้องมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้มีความเชื่อแบบนั้น
เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนของ“โรงเรียนปอเนาะ”เหมือนกับโรงเรียนประจำ
กินอยู่หลับนอนอยู่ภายในโรงเรียน
การควบคุมดูแลของสถาบันการศึกษาเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง
อีกทั้งที่ผ่านมาการเข้าไปตรวจสอบดูแลกระทำได้ยากเพราะมีบุคคลบางกลุ่มพยายามกล่าวอ้างว่า“โรงเรียนปอเนาะ”เป็นสถานที่สอนศาสนา
การเข้าไปทำการตรวจสอบเป็นการคุกคามและไม่ให้เกียรติสถานที่
เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปสอดส่อง กลุ่มขบวนการได้ฉวยโอกาสใช้“โรงเรียนปอเนาะ”บางแห่งใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะ
ซ่องสุมกำลังทำการก่อเหตุในพื้นที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนใหญ่
ซึ่งที่ผ่านมา“โรงเรียนปอเนาะ”ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการและได้มีการสั่งปิดกิจการและเพิกถอนใบอนุญาต
ที่รู้จักกันดีคือโรงเรียนญีฮาดวิทยา (ปอเนาะญีฮาด) และโรงเรียนอิสลามบูรพา“ปอเนาะสะปอม”
“ปอเนาะญีฮาด” ถูกศาลแพ่งพิพากษายึดที่ดินเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา
ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนให้ตกเป็นของแผ่นดินเมื่อที่ 15
ธันวาคม 2558 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนเกี่ยวกับการกระทำการก่อการร้าย
ส่วนโรงเรียนอิสลามบูรพา“ปอเนาะสะปอม”มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ
เนื่องจากมีการใช้บริเวณโรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกอาวุธและเป็นแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อเหตุร้ายหลังปฏิบัติการ
จึงมีเหตุอันควรเพิกถอนใบอนุญาต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2550 แต่คณะผู้บริหารโรงเรียนอิสลามบูรพา
และผู้บริหารมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ชุดใหม่
ยังมีความพยายามที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า“โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์”
ย้อนรอย“โรงเรียนอิสลามบูรพา”
“โรงเรียนอิสลามบูรพา” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ปอเนาะกาปงบารู,
ปอเนาะสะปอม หรือ ปอเนาะบูเกะตันหยง” ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ
อ.เมือง จ.นราธิวาส ถูกสั่งปิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ภายหลังฝ่ายความมั่นคงได้เข้าตรวจค้นภายในโรงเรียนเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมปีเดียวกัน และสามารถจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยรวมทั้งสิ้น 7 คน พร้อมด้วยของกลางวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง
และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากจากบ้านร้างซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงเรียน
หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้คือ นายมะนาเซ ยา
แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อวงจรระเบิด
และยังเป็นครูฝึกให้กับแนวร่วมรุ่นใหม่
“โรงเรียนอิสลามบูรพา”กับความเชื่อมโยงกลุ่มขบวนการ
จากข้อมูลเชิงลึก“โรงเรียนอิสลามบูรพา” มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเครือข่ายกลุ่มขบวนการ
B.R.N.Coordinate เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างโรงเรียนโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการ
B.R.N. โดย เมื่อเดือนธันวาคม 2533
แกนนำกลุ่ม B.R.N.Coordinate ในพื้นที่ จชต.จำนวน 12 คน ได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่ม BKPP ที่“โรงเรียนอิสลามบูรพา”เนื่องจากได้รับการร้องขอ ให้
นายฮาซัน ตอยิบ แกนนำ B.R.N.Coordinate ที่หลบหนีอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย
ให้เข้าร่วมกับกลุ่ม BKPP ซึ่งผลการประชุมปรากฏว่ามีมติไม่เข้าร่วม
เหตุระเบิดนำไปสู่การเข้าตรวจสอบ“โรงเรียนอิสลามบูรพา”
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 00.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดบริเวณสวนยางพาราของ นายสุข คงจันทร์ ริมถนนสาย บ้านสะปอม –
บ้านจาเราะสะโตร์ หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ
เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังร่วมกับตำรวจ, ฝ่ายปกครอง
เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพบรอยเลือดที่คาดว่ากลุ่มคนร้ายได้รับบาดเจ็บ
จากการลอบวางระเบิด โดยระเบิดของกลุ่มคนร้ายเอง และพบว่าต้นยางพารา ของ นายสุข คงจันทร์ ถูกตัดโค่นได้รับความเสียหาย
ประมาณ 300-400 ต้น
โดยคนร้ายได้ลอบวางระเบิดไว้ที่บริเวณทางเข้าแต่ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นก่อน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ได้ติดตามตรวจสอบขยายผลพิสูจน์ทราบ บริเวณพื้นที่โรงเรียนอิสลามบูรพา
และจับกุมผู้ต้องหาคดีก่อเหตุความไม่สงบพร้อมอาวุธ ยุทโธปกรณ์
และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวนายอุเซ็ง
ปุโรง เจ้าของ/ผู้จัดการโรงเรียนอิสลามบูรพา ไปให้ข้อมูลโดย นายอุเซ็งฯ ยอมรับว่า
ตนเองมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายอูลามา(ผู้รู้ทางศาสนา)ในสภาองค์การนำ (DPP) ของ BRN และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายอูลามา
ของคณะกรรมการเขต (กัส) จ.นราธิวาส ตามโครงสร้างของ DPP
ผลการตรวจค้น“โรงเรียนอิสลามบูรพา”นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต
หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจค้น“โรงเรียนอิสลามบูรพา”นายอุเซ็ง ปุโรง
เจ้าของ/ผู้จัดการโรงเรียนอิสลามบูรพา ยอมรับมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ
ในเวลาต่อมาได้มีการประชุมด่วนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ซึ่งที่ประชุมมีมติลงความเห็นว่าทาง“โรงเรียนอิสลามบูรพา”เป็นแหล่งที่มีการประชุมวางแผนการก่อการร้าย
การปลูกฝังอุดมการณ์ที่เป็นภัยต่อประเทศชาติ
หรือมีการใช้บริเวณโรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกอาวุธและเป็นแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อเหตุร้ายหลังปฏิบัติการ
จึงมีเหตุอันควรเพิกถอนใบอนุญาต มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2550
ทั้งนี้
คณะผู้บริหารโรงเรียนอิสลามบูรพา และผู้บริหารมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์
ชุดใหม่ ยังมีความพยายามที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า“โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์” และได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนราธิวาส
เขต 1 แต่ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สั่งระงับ
และให้ปิดการเรียนการสอนไว้ก่อน เพื่อขอเวลาพิจารณาในเรื่องคดีความมั่นคง โดยพยายามชี้แจงให้เห็นว่า“โรงเรียนอิสลามบูรพา”ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ
และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้าย ในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งจากผลการปิดล้อมตรวจค้น และการตรวจสอบของชุดนิติวิทยาศาสตร์ ของ
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ด้วยเครื่องมือพิเศษ
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 และ วันที่
5 พฤษภาคม 2551 เนื่องจากได้รับเบาะแสจากประชาชนว่ามีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้าไปซุกซ่อนในโรงเรียน
และมีการใช้สถานที่ป่ายางด้านหลังเป็นที่ฝึกซ้อมในการผลิตระเบิด ผลการตรวจสอบ
พบสารปนเปื้อนในการประกอบวัตถุระเบิดในระดับเกี่ยวข้องและสัมผัส
จากสิ่งของในห้องพักภายในโรงเรียนอิสลามบูรพา ซึ่งสารปนเปื้อนที่ตรวจพบครั้งนี้
เป็นสารใหม่ที่เพิ่งตรวจพบจากโรงเรียนอิสลามบูรพา
จึงเชื่อว่าโรงเรียนแห่งนี้ยังมีผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาเคลื่อนไหวอยู่
ความพยายามในการเปิด“โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์”หลังถูกสั่งปิดไป 4 ปี
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1
ได้มีหนังสืออนุญาตให้เปิดการเรียนการสอน“โรงเรียนมิฟตาฮุลอูลูมอนุสรณ์”หรือ“โรงเรียนอิสลามบูรพา”โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา
18 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 โรงเรียนอิสลามบูรพาได้จัดงานพบปะผู้นำชุมชน
ผู้นำศาสนา และศิษย์เก่าโรงเรียนอิสลามบูรพา ก่อนจะถูกคำสั่งปิดไปตั้งแต่เมื่อปี 2550 โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ในขณะนั้นเดินทางมาเป็นประธานมอบใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนอิสลามบูรพาด้วยตนเอง
ศาลจังหวัดนราธิวาสตัดสินประหารชีวิตอุสตาสโรงเรียนอิสลามบูรพา
พร้อมพวก 5 คน
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 ศาลจังหวัดนราธิวาส
พิพากษาตัดสินประหารชีวิตอุสตาสโรงเรียนอิสลามบูรพา พร้อมพวก 5 คน ในข้อหาคดีความมั่นคง เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดที่อุกอาจ ร้ายแรง
เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ
และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนักด้วยการประหารชีวิต นายมะนาเซ ยา, นายแวอัสมิง
แวมะ, นายโมหะหมัดซอฮีมี ยา, นายมะฟารีส บือราเฮง, นายฮารงหรืออารง บาเกาะ ส่วนนายรุสลี ดอเลาะ ศาลสั่งให้จำคุก มีกำหนด 27 ปี และนายมามะคอรี สือแม ได้ทำการหลบหนีในระหว่างการปล่อยชั่วคราว
(ประกันตัว)
“โรงเรียนอิสลามบูรพา”ยังไม่พ้นพงหนามเสียทีเดียว เพราะวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ที่จะถึงนี้
ศาลแพ่งจะมีการพิจารณาในส่วนของคดีความ ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2555 พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
สั่งอายัดทรัพย์ตามมติคณะกรรมการธุรกรรม
ที่ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 3 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการก่อการร้าย
โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จะมีผลคำสั่งเป็นเช่นไร?
น่าติดตามอย่างยิ่ง..
———————–
ที่มา:http://www.southernreports.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น