2/22/2560

“ปาตานี”เป็น“วาทกรรม”ที่ยังห่างไกลศาสนา

"สหายท่านหนึ่ง"


ทำไม!! ผู้เขียนจึงจั่วหัวเรื่องปาตานีเป็นวาทกรรม ที่ยังห่างไกลศาสนา..แล้วการใช้วาทกรรมเกี่ยวข้องอะไรกับศาสนา โดยเฉพาะการใช้ วาทกรรม”“ปาตานีมีนัยแอบแฝง เพื่อปลุกกระแสความเป็นชาติพันธุ์ ปลุกเร้าในการต่อสู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักคำสอนของอิสลามอย่างแท้จริง

มลายู คือ ชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรวมแล้วมีประชากรราวๆ ประมาณ 300 ล้านคน ซึ่งแยกกันอยู่ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, บรูไน และทางตอนใต้ของประเทศไทยเรา

ปาตานี คือ ดินแดนรัฐเชิงจารีตในอดีตกาล มีสถานะเป็น นครรัฐ (state city) เฉกเช่นเดียวกับ นครรัฐสงขลา”“นครศรีธรรมราชในอดีต และในปัจจุบันนครรัฐเหล่านี้ได้ล่มสลายแปรสภาพ  มาเป็นจังหวัดๆ หนึ่ง เนื่องจากเป็น รัฐชาติ (National state) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งชองประเทศไทย เช่นเดียวกับปาตานี

ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกแบ่งเป็น 3 จังหวัดด้วยกัน กล่าวคือจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ ประกอบด้วย “เทพา สะบ้าย้อย จะนะ และ นาทวี”

อิสลาม คือ ศาสนาหนึ่งๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในดินแดนมลายูนับถือ ซึ่งความหมายของ อิสลาม คือ สันติภาพในทัศนะของพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)

อิสลามเป็นศาสนา (สันติ) ที่เรียกร้องการสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือระหว่างผู้คนต่าง   ศาสนิก ภายใต้หลักการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยึดมั่นในหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยสันติ และอิสลาม

ศาสนาอิสลามมีความยืดหยุ่นซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับเพื่อนต่างศาสนิกได้อย่างเป็นรูปธรรม

วัฒนธรรม เป็นเครื่องกำหนดความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม และเป็นเครื่องกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม หมายรวมถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นมา นับตั้งแต่ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา  กฎหมาย  ศิลปะ จริยธรรม ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะการจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้มนุษย์จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและจะต้องรู้จักควบคุมความประพฤติของมนุษย์ด้วยกัน วัฒนธรรม คือคำตอบที่มนุษย์ในสังคมคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

วัฒนธรรมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้ 3 แบบด้วยกันกล่าวคือ วัฒนธรรมดั้งเดิม (ปาตานี), วัฒนธรรมสมัยใหม่ และวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากศาสนา ความเชื่อความศรัทธา แต่หัวใจหลักคือรักสันติไม่นิยมความรุนแรง และเป็นที่ยอมรับของสังคมส่วนใหญ่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้  พหุวัฒนธรรม กับผู้คนต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ

หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ยอมรับความแตกต่าง และ ความหลากหลายทางศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ถ้าหากการกระทำ หรือคำกล่าวใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าศาสนาอิสลามมีความเกลียดชัง รังเกียจศาสนิกชนในศาสนาและชาติพันธุ์อื่นๆ

ก็ต้องกลับมาคิดทบทวนแล้วว่ามันถูกต้องหรือไม่?  เพราะปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายภาคภาคใต้   ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มีคนบางกลุ่มได้รับการปลูกฝังให้เกิดความรู้สึก และเข้าใจในเรื่องชาติพันธุ์ 

ประวัติศาสตร์ และชาตินิยม เพื่อนำไปสู่การเรียกร้องและต่อสู้ คนกลุ่มนี้มักจะใช้วาทกรรม คำว่า ปาตานี อยู่บ่อยครั้ง เพื่อปลุกกระแสความเป็นชาติพันธุ์ ปลุกระดมให้มีการต่อสู้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักคำสอนของอิสลามอย่างแท้จริง

ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ดั่งความว่า “ใครก็ตามที่เรียกร้องไปอะเศาะบียะฮฺ    (การคลั่งชาติ เผ่าพันธุ์ หลงตระกูล ถือพวกพ้อง) คนผู้นั้นมิได้เป็นพวกฉัน ใครก็ตามที่ต่อสู้เพื่ออะเศาะบียะฮฺ คนผู้นั้นมิได้เป็นพวกฉัน และใครก็ตามที่ตายไป เพราะสนับสนุนอาเศาะ    บียะฮฺ คนผู้นั้นมิได้เป็นพวกเดียวกับฉัน”(รายงานโดยมุสลิม อะบาวูดและอันนะสาอียฺ)

ฉะนั้นคำว่า ปาตานี ที่บุคคลบางกลุ่มนำมาใช้เพื่อปลุกกระแสความเป็นชาติพันธุ์ ปลุกระดม   ให้มีการต่อสู้ ดังกล่าวข้างต้น และมักจะมีการนำมาใช้เป็นชื่อเรียกขององค์กร เรียกขานสื่อ หรือแม้กระทั่งเรียกขานตนเองว่าเป็นชาวปาตานี จึงเป็นวาทกรรมที่ยังคงห่างไกลศาสนาโดยสิ้นเชิง....

---------------------

2/20/2560

อดีตอาร์เคเค เปิดใจ “เจ็บที่ถูกเขาหลอก-ร้องไห้คิดถึงลูกเมีย" ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน


"ก่อนเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ได้นั่งคิดทบทวนสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่สมัยเรียน กับความจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องจริง พวกเราถูกเขาหลอก ก็อยากบอกกับคนที่อยู่ข้างใน (หมายถึงในขบวนการ) หยุดได้แล้ว พวกเราถูกเขาหลอกมานานแล้ว ของจริงไม่ใช่แบบนั้น เขาหลอกเราทั้งหมดเลย เขามีเบื้องหลังที่มีผลประโยชน์ เขาใช้เราเป็นเครื่องมือเท่านั้น" 

เป็นคำบอกเล่าของอดีตอาร์เคเควัย 33 ปีที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในเขต อ.กาบัง จ.ยะลา ถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดจากที่เคยต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปลดปล่อยปัตตานีตามการปลูกฝังของครูอุสตาซตั้งแต่ในวัยเด็ก กระทั่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)

อดีตอาร์เคเครายนี้เป็น 1 ใน 300 คนของผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ อ.ยะหา และกาบัง จ.ยะลา จากจำนวนผู้กลับใจขอกลับบ้านทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 4,432 คน

อดีตอาร์เคเควัย 33 ปี มีหมายจับ ป.วิอาญา ในคดีความมั่นคง 2 หมาย เมื่อปี 2550 และปี 2552 ในข้อหาฉกรรจ์ ร่วมกันก่อการร้าย วางเพลิงเผาสถานที่ราชการ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไมได้รับอนุญาต เขาติดต่อเข้ามอบตัวผ่าน นายยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ อ.กาบัง เมื่อ 15 พ.ย.ปีที่แล้ว จากนั้นก็ได้ไปแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ทหาร และได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัว

สาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน มาจากความคิดถึงครอบครัว บุตร ภรรยา รวมถึงเป็นห่วงแม่ที่กำลังเจ็บหนัก
"ผมเคยร่วมขบวนการจริง เคยซุมเป๊าะ (สาบานต่อหน้าคัมภีร์อัลกุรอาน) และเคยหนีไปอยู่บ้านภรรยา ต้องทิ้งให้ลูกอยู่กับพ่อและแม่ ทุกครั้งเมื่อเห็นลูกและภรรยาอยู่อย่างลำบาก ไม่มีเงิน ก็ต้องเสียน้ำตาทุกครั้ง คิดว่าทำไมเราไม่มีโอกาสดีๆ เหมือนคนอื่น"

"ระยะหลังแม่ไม่สบายหนัก ลูกของแม่ทั้ง 8คนได้กลับไปหาแม่ แตเราไม่ได้กลับเลย ได้แต่ร้องไห้ จะกลับไปหาแม่ก็กลัวเจ้าหน้าที่มาจับ ก็เลยสัญญากับตัวเองว่าถ้ามีโอกาสจะขอเข้ามอบตัว พอดีกำนันมาขอคุยกับพ่อและแม่ให้มอบตัว จึงตอบตกลง วันมอบตัวกำนันก็เอาตำแหน่งประกัน สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ จนถึงทุกวันนี้ไม่มีการจับกุมหรือถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย เวลาไปไหนก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ดักจับระหว่างทาง"

ความกังวลของอดีตอาร์เคเคอย่างเขา นอกจากกลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้ว ยังกลัวถูกซ้อมทรมาน และไม่ได้รับประกันตัว ฉะนั้นแม้จะมีโครงการพาคนกลับบ้านมานานหลายปี แต่ก็ไม่เคยกล้าเข้าร่วมโครงการ กระทั่งกำนันกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 ให้คำมั่น จึงลองเสี่ยงดู

และเมื่อเข้าร่วมโครงการจริงๆ ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เคยรับรู้และหวาดกลัวมาตลอด...

"แรกๆ ตอนที่ออกมาก็ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะทำตามที่พูด หรือทำตามที่เราขอ แต่เพราะแม่ไม่สบายมาก จึงคิดว่าเป็นไงเป็นกัน พอออกมาแล้วจนถึงวันนี้ได้เห็นแล้วว่าเจ้าหน้าที่เขาทำตามที่พูด ทำตามที่เราขอทุกอย่าง จากที่กังวลกลัวจะถูกจับ และกลัวว่าจะถูกซ้อมทรมาน พอออกมามอบตัว เจ้าหน้าที่ก็พาเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน กำนันประกันตัวก็ไม่ถูกจับ และไม่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานอย่างที่กังวลในตอนแรก"

"ถ้ายังอยู่ข้างใน ป่านนี้ก็คงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เจอเจ้าหน้าที่ที่ไหนก็ต้องหนี ต้องร้องไห้คนเดียวทุกครั้งเมื่อนึกถึงลูกและภรรยาที่ต้องอยู่ไม่เหมือนกับครอบครัวอื่น ช่วงเทศกาลลูกเราไม่มีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ ไม่มีอาหารดีๆ กิน ไม่มีโอกาสได้ไปกินไก่ตามร้านดีๆ เหมือนลูกคนอื่น เราทำได้แค่ร้องไห้กับตัวเอง แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร"

"ตอนไปหลบอยู่ที่บ้านภรรยา ลูกๆ ทั้ง 2 คนอยู่กับแม่ผมที่บ้านในกาบัง เราจะปลูกผักแล้วให้ภรรยาเอาไปขาย เงินที่ได้มาก็พอกินไปวันๆไม่สามารถทำให้ครอบครัวสบายหรืออยู่ดีเหมือนคนอื่น แถมยังต้องหลบเจ้าหน้าที่ ถือว่าความเป็นอยู่ลำบากมากหากเทียบกับคนทั่วไป"
สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยปัตตานี อดีตอาร์เคเควัย 33 ปีบอกว่า เป็นเพราะถูกปลุกระดมในห้องเรียนทุกวันโดยครูอุสตาซ ทำให้เชื่อสนิทใจว่าต้องเอาปัตตานีคืน เพราะคนมลายูถูกเหยียบย่ำ ถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สุดท้ายก็เข้าพิธีซุมเป๊าะ และอยู่ข้างในมาตลอด แต่เมื่ออายุมากขึ้น และได้คิดพิจารณาดีๆ แล้วก็พบว่าสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาไม่ตรงกับความจริง

"ก่อนเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ได้นั่งคิดทบทวนสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่สมัยเรียน กับความจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องจริง พวกเราถูกเขาหลอก ก็อยากบอกกับคนที่อยู่ข้างใน หยุดได้แล้ว พวกเราถูกเขาหลอกมานานแล้ว ของจริงไม่ใช่แบบนั้น เขาหลอกเราทั้งหมดเลย เขามีเบื้องหลังที่มีผลประโยชน์ เขาใช้เราเป็นเครื่องมือเท่านั้น"

"เมื่อเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ผมคิดว่าเป็นโครงการที่ดี ให้โอกาสกับคนที่หลงผิดได้กลับใจ แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ เจ้าหน้าที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นมากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องทำให้คนในขบวนการที่ลังเลใจได้เห็นและเชื่อมั่นจนยอมออกมาร่วมโครงการ ไม่ต้องหนีอีกต่อไป"

อดีตอาร์เคเครายนี้ ย้ำว่า ทุกวันนี้ได้อยู่กับครอบครัว กรีดยางตอนเช้า สายๆ ไปทำงานตัดผม ก็พอมีรายได้ สามารถดูแลครอบครัวให้อยู่ดีกินดีกว่าตอนที่หลบหนี จึงอยากฝากบอกคนที่ยังอยู่ข้างใน หรือยังลังเล ให้เข้าร่วมโครงการ จะได้ไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนเดิมอีก

ยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ อ.กาบัง บอกว่า อาร์เคเครายนี้เป็นตัวจริง มีคดีติดตัว 2 คดี และตนเป็นเบอร์ 1 ที่เขาต้องการเอาชีวิต ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาได้พยายามช่วยเจรจามาตลอด ให้ออกมามอบตัว กระทั่งแม่ของเขาป่วย เขาจึงตัดสินใจ

เป้าหมายของขบวนการก่อความไม่สงบ ไม่ใช่แค่ต่อสู้กับรัฐ แต่ยังจัดการคนที่ทำตัวขัดขวาง และยังมีเป้าหมายยึดกุมเก้าอี้การเมืองท้องถิ่นอีกด้วย

"ผมเป็นเบอร์ 1 ที่ขบวนการต้องการ เพราะไม่ได้เป็นแค่กำนัน แต่ยังช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามขบวนการมาตั้งแต่ปี 2538 แรกๆ ก็สู้กับบีอาร์เอ็น จากนั้นก็อาร์เคเค จนไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเพื่อจะหาแนวทางให้สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ก็เลยมาคุยถึงแนวทางให้เข้ามอบตัว ในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบมีบุคคลเป้าหมาย 2 คนที่หลบหนีออกจากพื้นที่"

"ผมไปคุยกับครอบครัวของพวกเขา แรกๆ เขาหันหลังทันทีเมื่อผมคุยเรื่องมอบตัว ก็ทำบ่อยๆ จนกระทั่งแม่ของ 1 ใน 2 คนนี้ไม่สบาย ทำให้เขาตัดสินใจมอบตัว ตอนนี้กำลังพยายามติดต่ออีกคนหนึ่ง ยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าเราสามารถสร้างความปลอดภัย สร้างอาชีพ สร้างความเชื่อมั่นได้ คนอื่นๆ ก็จะออกมา ล่าสุดแม่ของอาร์เคเคอีกคนมาถามว่า ถ้าลูกเข้ามอบตัวจะถูกจับไหม คิดว่านี่คือสัญญาณที่ดี"
กำนันยะฟาร์ บอกด้วยว่า เรื่องความปลอดภัย อาชีพ และการได้ประกันตัว เป็น 3 เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้คนออกมามอบตัว หากรัฐทำได้ ก็จะมีคนยอมมอบตัวอีกจำนวนมาก
----------------

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

2/16/2560

“โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา”จำเป็นต้องสร้างจริงหรือ!!

"Ibrahim"

รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังผลักดันให้เกิด โครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ก่อสร้างใน อ.เทพา จ.สงขลา

โครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดประกอบด้วยโครงการ 2 ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ ส่วนของท่าเทียบเรือสำหรับการขนส่งถ่านหิน และส่วนของโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวน 2 โรงด้วยกัน

ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าชี้แจงให้เห็นความสำคัญและเหตุผลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา ต้องยอมรับเลยว่า
ย่อมไม่ราบรื่น และคงเป็นเช่นเดียวกับโครงการห่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคอื่นๆ หรือแม้กระทั่งท่าเทียบเรือขนถ่านถ่านหินที่ จ.กระบี่ ที่มีผู้เห็นด้วย และเห็นต่างได้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งมีให้เห็นมาโดยตลอด

ท่ามกลางความเห็นต่างของฝ่ายต่อต้าน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชน ผู้ที่ถูกกำหนดว่าเป็น ผู้ที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย ในพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดแค่ไหน!!

สิ่งที่ตามมาของโครงการที่เป็นเรื่องของ พลังงาน” ไม่ว่าเป็นเรื่องของไฟฟ้า หรือเรื่องของก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันที่เคยเป็นบทเรียนในอดีตจะมี ความจริง เกิดขึ้น 2 ด้านเสมอ

ด้านแรกคือ ความจริงจากเจ้าของโครงการ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือฝ่ายของรัฐบาล ซึ่งมักถูกกล่าวหาจากกลุ่มเห็นต่างว่า ความจริง ไม่ได้กล่าวถึงทั้งหมดเป็นแค่บางส่วนหรือ บิดเบือน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของโครงการ

ส่วน ความจริง ของกลุ่มเห็นต่างหรือฝ่ายต่อต้าน คือ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ รวมถึงบรรดานักวิชาการที่มีความรู้ในเรื่องของพลังงานที่มีความเห็นต่าง ซึ่ง ความจริง ของคนเหล่านี้จะ เห็นต่างโดยสิ้นเชิงกับ ความจริง ของเจ้าของโครงการ และรัฐบาล

แต่ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” ที่ อ.เทพานั้น พลังการต่อต้านจะมากกว่าที่อื่นๆ เพราะในอดีตประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เคยต่อต้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย หรือที่วันนี้เรียกกันสั้นๆ ว่า บริษัททีทีเอ็มมาแล้ว ถึงขนาดการใช้วาทกรรมว่า มึงสร้าง กูเผา รวมทั้งการต่อต้านโรงไฟฟ้าจะนะที่ผ่านมา

ผู้เขียนอยากจะให้เห็นภาพรวมของการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้กันดูว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ที่ อ.เทพานั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือรัฐบาลมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน!! ที่จะต้องดำเนินการก่อสร้าง...

ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ในปี พ.ศ. 2562

ข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งในความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ที่ จ.กระบี่ และที่ อ.เทพา จ.สงขลา คือ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ เพราะกำลังการผลิตสำรองในภาพรวมของทั้งประเทศในระยะ 10 ปีที่จะถึงนี้จะเหลือเกิน (ร้อยละ 30-40 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด) กว่ามาตรฐานในการวางแผนระบบไฟฟ้ามาก (ค่ามาตรฐานคือร้อยละ 15) ดังนั้น ข้อถกเถียงจึงมุ่งเป้ามาที่ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้เป็นสำคัญ


ทาง กฟผ. มีความเป็นห่วงว่า ระบบไฟฟ้าของภาคใต้จะไม่มั่นคงในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น บทความนี้จึงจะฉายภาพระบบไฟฟ้าของภาคใต้ ทั้งกำลังการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2562 (หรืออีก 4 ปีข้างหน้า) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับการถกเถียงกันในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป

ในปีพ.ศ. 2562 ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 3 โรงคือ โรงไฟฟ้าจะนะ 1 (710 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าจะนะ 2 (800 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าขนอม (930 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จแล้วใช้ทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมเดิมในปี พ.ศ. 2559) รวมทั้งหมดมีกำลังการผลิต 2,440 เมกะวัตต์ ถือเป็นกำลังหลักของกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้

ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งคือ เขื่อนรัชประภา (240 เมกะวัตต์) เขื่อนบางลาง (72 เมกะวัตต์) และเขื่อนบ้านสันติ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 313 เมกะวัตต์ ไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก

ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล 2 โรงคือ โรงไฟฟ้าน้ำมันเตากระบี่ (340 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สสุราษฎร์ธานี (234 เมกะวัตต์) รวมกัน 2 โรงเท่ากับ 574 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งมักจะเดินเครื่องเป็นโรงไฟฟ้าเสริม เพราะมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูง แต่ยังสามารถใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นได้

ภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ขายเข้าระบบแล้ว 221 เมกะวัตต์ (จากกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 249 เมกะวัตต์ เพราะบางส่วนจะใช้ในโรงงานของตนเอง) รวมกับที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วอีก 284 เมกะวัตต์ รวมเป็นการคาดการณ์กำลังการผลิตที่ขายเข้าระบบ 505 เมกะวัตต์ (ไม่ได้รวมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญารับซื้ออีก 197 เมกะวัตต์ ถ้ารวมด้วยกำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 702 เมกะวัตต์) (หมายเหตุ ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ณ เดือนกรกฎาคม 2558)

เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 4 แหล่งเข้าด้วยกัน ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตในระบบทั้งหมดในปีพ.ศ. 2562 เท่ากับ 3,832 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์จากภาคกลางที่ใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบันหนึ่งวงจร (ส่งไฟฟ้าได้ 650 เมกะวัตต์) และที่กำลังดำเนินการสร้างใหม่อีก 500 กิโลโวลท์ (ส่งไฟฟ้าได้ 650 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2562) และสายส่งเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย ซึ่งส่งไฟฟ้าได้อีก 300 เมกะวัตต์ รวมระบบสายส่งที่มาช่วยเสริมหนุนกำลังการผลิตในพื้นที่ได้อีก 1,600 เมกะวัตต์ (แต่ยังมิได้รวมเข้าไว้ในกำลังการผลิตของภาคใต้ เพราะถือเป็นส่วนเสริม)

ในด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีพ.ศ. 2557 เท่ากับ 2,468 เมกะวัตต์ โดยจังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้แก่ สงขลา (482 เมกะวัตต์) สุราษฎร์ธานี (370 เมกะวัตต์) ภูเก็ต (359 เมกะวัตต์) และนครศรีธรรมราช (331 เมกะวัตต์) ตามลำดับ โดย 4 จังหวัดนี้ ใช้ไฟฟ้ารวมกันเท่ากับ 62.5% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดทั้งภาค

จังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดคือ นราธิวาส (71 เมกะวัตต์) สตูล (56 เมกะวัตต์) และระนอง (48 เมกะวัตต์) ข้อมูลความต้องการไฟฟ้าสูงสุดนี้ได้จากฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ต่อมาจึงเป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 5.7% ตามแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 จะเท่ากับ 3,256 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีการปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป้าหมายในการอนุรักษ์พลังงานของภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 เท่ากับ 170 เมกะวัตต์ ฉะนั้น หากภาคใต้ดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมาย ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 ก็จะลดลงเหลือ 3,086 เมกะวัตต์

จากกำลังการผลิตทั้งหมดของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ 3,832 เมกะวัตต์ (ไม่รวมระบบสายส่ง) และความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ 3,256 เมกะวัตต์ (ไม่หักลดการอนุรักษ์พลังงาน) ในปีพ.ศ. 2562 กำลังการผลิตสำรองทั้งหมดของภาคใต้จะเท่ากับ 576 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับร้อยละ 17.7 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยไม่รวมการเสริมหนุนจากระบบสายส่ง

แต่หากเราหักลดการอนุรักษ์พลังงานตามแผนฯ ด้วย (ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเหลือ 3,086 เมกะวัตต์) ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตสำรองเป็น 746 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด แม้ว่า โดยทั่วไปในการวางแผนระบบไฟฟ้าของไทย เราจะถือว่า ระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงเมื่อมีกำลังการผลิตสำรองเกินกว่าร้อยละ 15

ผู้เขียนเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ หรือแม้แต่คนไทยทุกคนในภูมิภาคอื่นๆ คงไม่ขัดขวางในเรื่องของความจำเป็นของพลังงาน เพราะรู้ว่าความมั่นคงทางพลังงานเป็นความจำเป็น ทั้งในวันนี้ และในวันหน้า โดยเฉพาะกับพื้นที่ของภาคใต้ที่จะต้องมีความเสถียรของพลังงานรองรับการเจริญเติบโตของบ้านเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอนาคต

วันนี้ เราต้องการความมั่นคงในด้านพลังงาน เพื่อการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ.2558 - 2563 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในระยะ 5 ปี นับจากนี้ไป.

----------------

2/14/2560

กลุ่ม ผกร.เป็นมิจฉาชีพ โจรปล้นเงิน และเกี่ยวข้องธุรกิจผิดกฎหมายจริงหรือ!!

"Ibrahim"


นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนจำนวน 413 กระบอก จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2559 จากการเปิดเผยข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ได้สรุปสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้น่าสนใจเลยทีเดียว

เหตุรุนแรง 3 ปีงบประมาณล่าสุด พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2557 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 663 เหตุการณ์ ปีงบประมาณ 2558 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 264 เหตุการณ์ ลดลง 399 เหตุการณ์ และปี 2559 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 193 เหตุการณ์ ลดลง 71 เหตุการณ์ นัยความรุนแรงที่ลดลงตามลำดับ เป็นตัวบ่งชี้อะไรได้หลายอย่าง ที่สำคัญมีผลต่อสังคมจิตวิทยาของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการอยู่อย่างสงบสุข

แต่ในอีกด้านหนึ่งของความมืด ท่ามกลางความสงบเงียบ ปราศจากเหตุร้ายรายวันเสมือนหนึ่ง   ทุกอย่างกำลังก้าวข้ามเข้าสู่สภาวะปกติ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้นน้ำแห่งความชั่วร้ายกลับเคลื่อนไหวยัดเยียดความเจ็บปวดให้กับประชาชนอีกครั้ง แสดงตัวตนซัยตอนในร่างคนมุ่งทำการก่อเหตุ

ยะลา - วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ยามดึกสงัดผู้คนทั่วไปต่างหลับนอน พักผ่อน กลับมีคนร้าย       ไม่ทราบจำนวน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนหลายคนพร้อมอาวุธปืนครบมือบุกโรงโม่หินมนู ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 1 ต.ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา ทำการจี้บังคับเจ้าหน้าที่ รปภ.3 คน ของโรงโม่หินมัดมือไขว้หลังด้วยผ้าเทปกาวสีดำ จากนั้นกลุ่มคนร้ายได้แยกย้ายกันไปจุดไฟเผาอาคาร  รถยนต์ ของโรงโม่หินมนู และโรงโม่หินศิลาทองซึ่งอยู่ติดกันได้รับความเสียหาย

ปัตตานี - เวลา 08.50 น. วันเดียวกัน ได้มีคนร้าย 3 คน ขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน แบบ 4 ประตู สีบรอนซ์ ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ พร้อมอาวุธปืนครบมือกราดยิง นายสมาแอ ดอเลาะ นายก อบต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะขับรถยนต์กระบะออกจากบ้านพักเพื่อไปทำงานที่ อบต.ฯ บริเวณถนนสาย ปาโต๊ะ – บอมวง บ.ปาโต๊ะ ม.5 ต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.และขนาด 7.62 มม. ตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุจำนวนหลายสิบปลอก

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 12.00 น.เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าพบรถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน แบบ 4 ประตู ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายทั้งคัน จอดทิ้งไว้อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ ม.4    ต.ตาลีอายร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นรถยนต์กระบะคันเดียวที่กลุ่มคนร้ายใช้ก่อเหตุยิง นายก อบต.ปิยามุมัง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์

จากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในเวลาต่อมาหน่วยงานความมั่นคง ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุลอบยิงนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิต รวมถึงเหตุลอบวางเพลิงรถแม็คโคร รถบรรทุกสิบล้อ ภายในโรงโม่หินมนู และโรงโม่หินศิลาทอง เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่น่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เนื่องจากการข่าวสืบทราบว่า ทั้ง 2 กรณีนั้น มีที่มาที่ไปโดยกรณีของ นายสะมะแอ ดอเลาะ ซึ่งเป็นนายก อบต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พบว่าก่อนหน้านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ นายสะมะแอ    ได้เข้าไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมบอกว่า ตนกำลังถูกมือปืนมุ่งปองร้าย จึงต้องเปลี่ยนรถที่ใช้เป็นพาหนะตลอดเวลา นอกจากนี้ยังขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลคุ้มครองดูแลตน 

ส่วนกรณีของโรงโม่หินของ จ.ยะลา ทราบว่าน่าจะมาจากการขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์กันเองของคนในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีการยืมมือกลุ่มผู้ก่อความสงบมาใช้ในการก่อเหตุด้วยหรือไม่?

นราธิวาส – วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ เวลา 10.45 น. คนร้ายจำนวน 6 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืน M-16 ยิง นายปกรณ์ ลิปิการวงศ์ อาชีพรับซื้อเศษยางพารา เสียชีวิตขณะยืนอยู่หน้าบ้านตนเอง ณ บ้านเลขที่ 104 ถ.เทศบาล 8 ม.3 ต.ยี่งอ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ในคราวเดียวกัน นายอุสมาน สะหะบูดิง ซึ่งยืนอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุถูกลูกหลงกระสุนจากคนร้ายเสียชีวิตไปด้วย

คดีนี้คนร้ายก่อเหตุสะเทือนขวัญ คาดว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม ผกร. ซึ่งมีการเตรียมการ และวางแผนมาอย่างดี กลุ่มคนร้ายมีด้วยกัน 6 คน แยกกำลังออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรก มีจำนวน 4 คน ได้บุกใช้อาวุธปืน M-16 ยิงนายปกรณ์ฯ เสียชีวิต พร้อมทั้งได้ลอบวางเพลิงรถที่จอดอยู่ภายในร้านได้รับความเสียหายก่อนที่จะหลบหนีไป

ส่วนคนร้ายชุดที่ 2 จำนวน 2 คน ได้ทำหน้าที่คุมเชิงอยู่ที่ปากซอย ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยี่งอ เพื่อไม่ให้เข้ามาทำการช่วยเหลือนายปกรณ์ฯ และจับกุมกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุ จนกระทั่ง นายอุสมาน สะหะบูดิง ถูกกระสุนปืนลูกหลงของคนร้ายชุดที่ 2 เสียชีวิต ขณะนั่งรอซื้อรถ จยย.มือ 2

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 3 เหตุการณ์ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้ปะทุความรุนแรงขึ้นอีกระลอกเหตุยิงนายก อบต.ปิยามุมัง เสียชีวิต และเหตุลอบวางเพลิงรถแม็คโคร รถบรรทุกสิบล้อ ภายใน โรงโม่หินมนู และโรงโม่หินศิลาทอง ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงชี้ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อาจจะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลัง ก็จะต้องรอข้อมูลการสืบสวนต่อไป

ส่วนเหตุคนร้ายบุกยิงเถ้าแก่รับซื้อเศษยางพารา และหนุ่มรอซื้อรถ จยย.มือ 2 ดับ คาดว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม ผกร.ในพื้นที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมาพบว่าทุกครั้งหลังเกิดเหตุ ทุกคนจะพุ่งเป้าไปที่ปัญหาการก่อความไม่สงบ จนกระทั่งทำให้ลืมเรื่องอื่น ๆ เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการลักลอบสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน ส่งผลทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพความรุนแรงเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นทั้งหมด เป็นรูปแบบของการก่อความไม่สงบ สร้างความหวาดกลัวให้กับนักธุรกิจที่จะเข้ามาทำการค้าการลงทุน รวมถึงกระทบต่อการสร้างความปรองดองระหว่างคนในพื้นที่ สิ่งที่สำคัญเมื่อเป็นเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้ที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้

อย่างไรก็ตามใช่ว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะไม่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งผิดกฎหมายเลยทีเดียว ที่ผ่านมาพบว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุน หรืออยู่เบื้องหลังความรุนแรงทั้งที่เกิดขึ้น เช่นเหตุการณ์ในเรื่องส่วนตัว ปมความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ ตลอดจนปัญหาในเรื่องการเมืองท้องถิ่น

หรือแม้กระทั่งในหลายๆ เหตุการณ์ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับกลายเป็นมิจฉาชีพ เป็นโจรปล้นเงิน กระทำในสิ่งผิดกฎหมายซะเอง พฤติกรรมส่อให้เห็นว่าไร้อุดมการณ์ มุ่งกระทำการป่าเถื่อนสุดโต่ง
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเลี่ยงการใช้กำลัง ลดความรุนแรง สร้างความเข้าใจให้ต่อคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของชาวบ้านเป็นหลัก จนกระทั่งเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงตามลำดับ ในเมื่อผู้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดี ส่งผลให้การแก้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ควบคู่กับการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนตามมาตรการที่เข้มงวดเช่นเดิม.
----------------------
  



2/13/2560

มะรอโซ จันทราวดี “วีรบุรุษ”หรือ“อาชญากร”

"Ibrahim"


          วันที่ 13 กุมภาพันธ์เป็นวันครบรอบ 4 ปีการตายของ มะรอโซ จันทรวดี แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบพร้อมพวก 16 ศพ ซึ่งมีความเหิมเกริมวางแผนนำกำลังเข้าตีฐานทหารนาวิกโยธิน ก่อนโดนกับดัก ลวงพรางสวนกลับนำไปสู่ความสูญเสีย
          ย้อนรอยเหตุการณ์ กลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 50 กว่าคน บุกโจมตีฐานทหารนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ   ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่นำมาสู่การเสียชีวิต 16 คน เมื่อกลางดึกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เรียกความสนใจจากสังคมไทยให้คนสนใจปัญหาชายแดนใต้ได้มากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง
          ภายหลังเกิดเหตุการณ์กับการเสียชีวิตของมะรอโซ จันทรวดีกลับถูกยกย่องให้เป็น วีรบุรุษ จากกลุ่มขบวนการและสมาชิกแนวร่วมในทันที เรามาดูพฤติกรรมและการกระทำที่ผ่านมาของ มะรอโซ จันทรวดี ว่าสมควรให้เป็น วีรบุรุษหรือเป็นได้แค่ อาชญากรที่มุ่งเข่นฆ่าผู้คนอย่างไร้ซึ่งอุดมการณ์
          ข้อมูลจากแฟ้มคดีของฝ่ายความมั่นคง มะรอโซ จันทรวดี ถูกระบุว่าเป็นแกนนำก่อความไม่สงบคนสำคัญและเป็นหัวหน้าทีมในการปฏิบัติการครั้งนี้ เขาเป็นบุคคลตามหมายจับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) 18 หมาย และหมายจับตามพระกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 หมาย และมีค่าหัวถึง 2,000,000 บาท
          เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ อ.บาเจาะ สะท้อนให้เห็นระดับความสำคัญของ มะรอโซ จันทรวดี แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวอยู่ในอำเภอย่านนี้  เขาคือผู้นำ เบอร์ 1 ตัวจริงของกลุ่มขบวนการที่ทำการก่อเหตุสร้างสถานการณ์
          สถานการณ์ในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส นั้น จริงๆ แล้วช่วงหลายปีมานี้ ดีขึ้นมาก แต่ที่ยังมีเหตุการณ์อยู่ ก็เพราะนายมะรอโซ ยังไม่ถูกจับ บอกตรงๆ ว่าพื้นที่นี้ถ้าสิ้นนายมะรอโซ รับรองว่าสันติสุขแน่
          “มะรอโซเคยอยู่ในกลุ่มที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง แต่ก็หนีรอดไปได้ทุกครั้ง เขามีอิทธิพลในพื้นที่นี้มาก ชาวบ้านทุกคนหวาดกลัวมะรอโซ ไม่ว่าใครที่พูดถึง หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาต่อเจ้าหน้าที่ จะถูกจัดการอย่างเด็ดขาดทุกราย
          มะรอโซ" มีชื่อตามทะเบียนบ้าน เกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525 ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 162 หมู่ 7 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
          คดีล่าสุดที่เพิ่งถูกออกหมาย เพราะเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง คือ คดีสังหาร ครูชลธี เจริญชล ครูโรงเรียนบ้านตันหยง ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ ซึ่งถูกบุกยิงเสียชีวิตถึงในโรงอาหารต่อหน้านักเรียนนับร้อย เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม 2556 คดีใหญ่อีกคดีหนึ่งที่เขาถูกออกหมายจับโดยพนักงานสอบสวนกองปราบปราม คือ คดีพยายามลอบวางระเบิดหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขานราธิวาส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เวลา 08.05 น. และต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2553 ตำรวจกองปราบฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่งานสืบสวนคดีสำคัญ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และฝ่ายทหาร ได้เข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัยและเกิดการยิงปะทะกับคนร้าย ปรากฏว่า นายวาเหะ กะดิง และ นายอารอบี รือสะ ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ อ.บาเจาะ ถูกยิงเสียชีวิต พร้อมจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 3 คน ทั้งหมดให้การตรงกันว่า "มะรอโซ อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แต่หนีรอดไปได้"
          แหล่งข่าวระบุว่า เคยเข้าไปในหมู่บ้าน และไปนั่งในร้านน้ำชาที่มีชาวบ้านอยู่เต็มร้าน อยากจะทดสอบความรู้สึกของชาวบ้านที่มีต่อมะรอโซจึงทำทีเป็นพูดเสียงดังว่าใครพาไปหามะรอโซได้จะมีรางวัลให้ ปรากฏว่าชาวบ้านแตกฮือออกจากร้านไปหมดทุกคน นี่คือความน่ากลัวของเขาด้วยความที่หนีรอดจากการจับกุมได้ทุกครั้ง ทำให้นายมะรอโซ ค่อนข้างฮึกเหิม และปฏิบัติการความรุนแรงโดยไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่
          ในที่สุด "เหตุใหญ่" ที่ มะรอโซ จันทรวดีนำทีมปฏิบัติการก็เกิดขึ้น เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขานำกองกำลังติดอาวุธประมาณ 30 คน ที่รวบรวมจาก อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัน จ.ยะลา เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
           ความห้าวหาญของมะรอโซ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อเขาเดินอยู่แถวหน้า และเป็นคนผลักประตูฐานปฏิบัติการเพื่อเข้าโจมตีด้วยตัวเอง !
          ทว่าคราวนี้โชคไม่เข้าข้างเขาอีกแล้ว เพราะทหารในฐานรู้ข่าวมาก่อนว่าตกเป็นเป้าจะถูกโจมตี จึงเตรียมพร้อมรับมือเอาไว้อย่างเต็มพิกัด ทำให้เขาถูกยิงเสียชีวิตในเหตุปะทะในค่ำคืนนั้นเอง...
           ชายวัยกลางคน ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่บ้านยือลอ ใกล้ๆ กับฐานทหารที่ถูกโจมตี กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุนอนหลับไปแล้ว มาได้ยินเสียงปืนจึงตกใจตื่น ดูนาฬิกาเป็นช่วงใกล้เวลาตีหนึ่ง เสียงยิงปะทะดังประมาณ 30 นาที แต่ไม่กล้าออกไปดู ได้แต่หลบอยู่ในบ้าน คาดว่าเสียงปืนดังมาจากค่ายทหาร หลังสิ้นเสียงปืนได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์หลายคันขี่ออกไปทางโรงเรียนบ้านบือเระ (ปากทางเข้าฐานทหาร) คิดว่าคนร้ายที่ก่อเหตุโจมตีค่ายทหารน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 30 คน
            ส่วนผลตรวจสอบอาวุธปืน มะรอโซ จันทรวดีที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเคยใช้ทำการก่อเหตุมาแล้ว 35 คดี คดีสำคัญเช่น วันที่ 2 สิงหาคม 2550 ลอบยิง จ.อ.วิทยา ศรีอินทร์ เสียชีวิต, วันที่ 28 กันยายน 2550 ลอบยิง จ.ส.อ.จริน อัญชนะ จ.ส.อ.วิรัตน์ อินทรสุวรรณ เสียชีวิต, วันที่ 31 ตุลาคม เหตุลอบยิง ส.อ.วินัย สุวรรณทวี เสียชีวิต ยิงนางดาริน ส่องพานิช ได้รับบาดเจ็บ และลอบวางระเบิดรถยนต์เจ้าหน้าที่ทหาร บนถนนสาย 42 เจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บ 4 นาย
            นั้นคือพฤติกรรมของมะรอโซ จันทรวดีที่มีความโหดเหี้ยมฮึกเหิม และปฏิบัติการความรุนแรงโดยไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ หนีรอดเอื้อมมือของกฎหมายแทบทุกครั้ง ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ สุดท้ายเป็นแกนนำบุกเข้าตีฐานนาวิกโยธินต้องจบชีวิตลงกับพฤติกรรมที่เคยก่อส่อให้เห็นถึงการกระทำที่เป็นอาชญากรเข่นฆ่าผู้คน..โดยไม่เกรงกลัวต่อบาป แล้วอย่างนี้สมควรยกย่องเป็นวีรบุรุษหรือ!!...
----------------------


2/12/2560

วงจรปิดจับภาพชัด ยิงถล่มนายก อบต.ที่ยะหริ่งคาดปมขัดแย้งการเมือง


ปัตตานี - คืบหน้ายิงถล่มนายก อบต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล้องวงจรปิดจับภาพคนร้ายขณะก่อเหตุได้ชัดเจน จนท.พุ่งเป้าการเมือง เผยผู้ตายรู้ตัว

กรณีคนร้ายไม่ทราบชื่อและจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิงนายสมาแอ ดอเลาะ นายกอบต.ปิยามุมัง เสียชีวิตขณะกำลังขับรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว สีดำ ทะเบียนป้ายแดง จ-9349 กรุงเทพมหานคร เดินทางไปทำงาน เหตุเกิดบริเวณสามแยก บ.ปาโต๊ะ ม.5 ต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้ทำการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่สามารถบันทึกเหตุการณ์ที่คนร้ายปฏิบัติการอุกอาจในครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากกล้องวงจรปิดซึ่งติดตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้าริมถนน ห่างจากจุดเกิดเหตุเพียง 30 เมตร โดยภาพดังกล่าวจะเห็นว่า รถกระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ ไทรทัน 4 ประตู สีบรอนซ์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ได้ขับออกมาทางถนนดินแดงบ้านพังกับ ต.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แล้วเลี้ยวขวาจอดดูรถของผู้ตาย

ซึ่งช่วงนั้นผู้ตายได้จอดรถอยู่ก่อนแล้วเพื่อจะเลี้ยวขวาไปที่ทำงาน แต่ด้วยความเอะใจว่ามีรถจอดอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นรถของคนร้าย จากนั้นคนร้ายจึงได้ถอยรถมาจอดขวางหน้า ก่อนที่คนร้าย 3 คน ซึ่งอยู่ภายในรถได้ออกมาพร้อมอาวุธสงคราม และสวมหมวกไหมพรม ถล่มยิงทันทีท่ามกลางชาวบ้านที่อยู่ภายในร้านน้ำชา ก่อนจะรู้ว่าเหยื่อเสียชีวิต จากนั้นจึงวิ่งขึ้นรถหลบหนีกลับไปทางเดิม

เจ้าหน้าที่ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ทำการวิเคราะหฺถึงสาเหตุการสังหารในครั้งนี้ของคนร้าย โดยพุ่งเป้าไปในเรื่องความขัดแย้งส่วนตัวเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่น และอาจจะโยงไปถึงกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่ทำการก่อเหตุในครั้งนี้.
---------------------

2/10/2560

ทำไม!! เพจ:Suara Patani ชอบบิดเบือนความจริง

"Ibrahim"

จากกรณี เพจ: Suara Patani ได้ทำการโพสต์ภาพและข้อความเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเนื้อหาใจความกล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในสวนยาง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวสวนยางที่จะทำการกรีดยาง ซึ่งเนื้อหาใจความดังนี้
ชาวบ้านทุ่งยางแดงโมเดลโวย!!!ทหารเต็มพรึ่บในสวนยาง!!!
หลังจากผ่านพ้นช่วงท่วมไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่หวังจะได้สร้างรายได้ด้วยการกรีดยางอย่างขะมักเขม้น เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงน้ำท่วม แต่ความหวังของชาวบ้านก็ต้องสลาย เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปปฏิบัติการในบริเวณสวนยางของชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวและกลัวว่า จนท.ทหาร จะตื่นตระหนกตกใจเข้าใจผิดว่าชาวบ้านเป็นพวกกองกำลังของขบวนการฯ จนเกิดการจับกุมตัวชาวบ้านอย่างเช่นที่ผ่านมา..วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยมาจัดการด้วยครับ..

ความเป็นจริง
เพจ: Suara Patani ซึ่งเป็นเพจเฟสบุ๊คแนวร่วมสนับสนุนกลุ่มขบวนการ มีการปลุกระดมก่อให้เกิดความเกลียดชังในเรื่องของเชื้อชาติ และศาสนา สร้างความขัดแย้งทางความคิด ส่งผลให้พี่น้องในพื้นที่ จชต. เกิดความแตกแยก เกิดความหวาดระแวงในการดำเนินชีวิตต่อกันอย่างร้ายแรง

พฤติกรรมที่ผ่านมาเพจ: Suara Patani มุ่งบิดเบือน ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนโยบาย และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ไม่รู้ความจริงหลงเชื่อ       เกิดการเข้าใจผิด เกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ทำมาหากิน ทั้งที่ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่มีภารกิจหลักคือการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนโดยรวม

เอารูปที่ไหนมา
เมื่อดูรูปที่ เพจ: Suara Patani นำมาบิดเบือนมองแล้วเป็นรูปของกองร้อยทหารพรานที่ 4713 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 ได้ทำการโพสต์ภาพนิ่ง และเป็นคลิปวีดีโอทำการเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2554 เป็นรูปการฝึกของกองร้อยทหารพราน ไม่ได้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีตามที่เพจ: Suara Patani กล่าวอ้างแต่ประการใด

ทำไม!! เพจ: Suara Patani ต้องบิดเบือน
เป็นอันรู้กันว่า เพจ: Suara Patani จอมบิดเบือนกระทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโครงการหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการทุ่งยางแดงโมเดล หรือแม้กระทั่งภาพเจ้าหน้าที่รัฐให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ครั้งร้ายแรงที่ผ่านมา ยังถูกเพจ: Suara Patani กล่าวโจมตีกล่าวหาว่าเป็นการสร้างภาพ

ดูแล้วจุดประสงค์และเป้าหมายหลักของแอดมินเพจ: Suara Patani ที่พยายามบิดเบือนความจริงอยู่ทุกวี่ทุกวัน ยุแหย่ตะแคงรั่ว ตอกไข่ใส่ข่าวไร้ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่น่าละอายแก่ใจ ขาดซึ่งความรับผิดชอบ

แต่น่าแปลกใจยังมีผู้เห็นดีเห็นงามกับเพจ: Suara Patani เสพข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ ยินยอมให้ แอดมินจูงจมูกชี้นำทางความคิดอย่างโงหัวไม่ขึ้น

นอกจากนี้ยังไม่เคยมีสื่อมวลชนตัวดีที่ออกมาโจมตีบรรดาเพจผีที่ต่อต้านกลุ่มขบวนการและการกระทำอันป่าเถื่อนของนักรบอาร์เคเค ได้ออกมาทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลข่าวสารใดๆ เลย หรือจะรู้เห็นเป็นใจกับเพจเฟสบุ๊คของกลุ่มขบวนการมิทราบได้..กลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ตรงกันข้ามกับเพจบางเพจที่พูดความจริงต่อสังคมบุคคลเหล่านี้กลับอดรนทนไม่ได้ออกมาเต้นเรียกร้องโน่นนี่!!

ตอนที่ทหารพรานลุยช่วยน้ำท่วม หายไปไหน ไปรอรับความช่วยเหลือจากทหารพราน....อยู่รึ ?????