อดีตสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ได้มอบตัวต่อเจ้าหน้าที่และได้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เรียกร้องให้ “คนที่อยู่ข้างใน” ยุติการปฏิบัติการเพื่อแยกดินแดน เพราะสมาชิกระดับล่างถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ โดยแกนนำในขบวนการที่มีผลประโยชน์แอบแฝง
“ช่วงหลังก่อนเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ได้นั่งคิดทบทวนสิ่งที่ถูกปลูกฝังกับความจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องจริง พวกเราถูกเขาหลอก ก็อยากบอกกับคนที่อยู่ข้างใน หยุดได้แล้ว พวกเราถูกเขาหลอกมานานแล้ว ของจริงไม่ใช่แบบนั้น เขาหลอกเราทั้งหมดเลย เขามีเบื้องหลังที่มีผลประโยชน์เขาใช้เราเป็นเครื่องมือเท่านั้น” นายสาการียา แวกาจิ อายุ 33 ปี กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์แก่เบนานิวส์เมื่อวันอาทิตย์ผ่านมา
นายสาการียา ผู้ที่ระบุว่าตัวเองเป็น “ยูแว” หรือ ผู้ร่วมขบวนการ และเป็นผู้ที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นแกนนำ “อาร์เคเค” หรือ ชุดกองกำลังปฏิบัติการ ของขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่สามฝ่าย เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดยมีนายยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ เป็นผู้ประสานระหว่างครอบครัวนายสาการียาและทางการ
นายสาการียา ต้องหมายจับ ป.วิอาญา ที่ จส.381/2550 ลงวันที่ 26 กันยายน 2550 และหมายจับที่ จส. 122/2552 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2552 ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย วางเพลิงสถานที่ราชการ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่ทางราชการไม่สามารถออกใบอนุญาต
"ผมเคยร่วมขบวนการจริง เคยซุมเปาะ และเคยหนีไปอยู่บ้านภรรยา ต้องทิ้งให้ลูกอยู่กับพ่อแม่ ร้องไห้ทุกครั้งเมื่อเห็นลูกและภรรยาอยู่อย่างลำบากไม่มีเงินไม่มีโอกาสดีๆ เหมือนคนอื่น" นายสาการียา กล่าว
“ทำให้ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ อีกอย่างแม่ไม่สบายหนัก ลูกของแม่ทั้ง 8 คน ได้กลับไปหาแม่ แต่เราไม่ได้กลับ ร้องไห้เลย จะกลับไปหาแม่ไม่ได้กลัวเจ้าหน้าที่มาจับ ก็เลยสัญญากับตัวเองว่า ถ้ามีโอกาสจะขอมอบตัว พอดีกำนันมาขอคุย พ่อและแม่ให้มอบตัว ก็ตอบตกลง” นายสาการียา กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตัวเองเข้าร่วมขบวนการนั้น นายสาการียา กล่าวว่า เริ่มจากอุสตาสบางวิชา ในโรงเรียนที่ตนไปเรียน ปลุกระดมในห้องเรียนทุกวัน จนเชื่อสนิท และยอมร่วมขบวนการ และเข้าร่วมพิธี นอกนั้น คิดอย่างเดียวว่าต้องเอาปัตตานีคืน คนมลายูถูกเหยียดหยาม ถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตามที่ครูอุสตาสปลูกฝังมาในชั้นเรียน
โครงการพาคนกลับบ้าน
ในการมอบตัวของนายสาการียานั้น เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ได้จับกุมตัวและกักขังตัว แต่ให้โอกาสต่อสู้คดีทั้งสองคดี และนำตัวเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านที่มีผู้ร่วมโครงการกว่า 4,000 คนแล้ว
นายยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายขบวนการด้วย แต่ก็ได้พยายามติดต่อนายสาการียา เพื่อให้มอบตัวมาเป็นเวลานับสิบปี
"สาการียาเป็นตัวจริง เขามีคดีติดตัว 2 คดี ผมเป็นเบอร์หนึ่งที่เป็นเป้าหมายของพวกเขา พยายามขอเจรจาตลอด 10 กว่าปี อยู่ๆ แม่ของเขาป่วย เขาจึงขอออกมามอบตัว เพราะต้องการกลับมาอยู่กับครอบครัว" นายยะฟาร์ กล่าว
“วันมอบตัว กำนันก็เอาตำแหน่งประกัน สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีการจับกุม หรือถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย เวลาไปไหนก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่คนไหนจับระหว่างทาง” นายสาการียา กล่าว
“แรกๆ ตอนที่ออกมา ก็ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะทำตามที่พูดทำตามที่เราขอ แต่เพราะแม่ไม่สบายจึงคิดว่าเป็นไงเป็นกันออกมาแล้ว พอมาวันนี้ ได้เห็นแล้วเจ้าหน้าที่ เขาทำตามที่พูดทำตามที่เราขอทุกอย่าง จากที่กังวลกลัวจะถูกจับ และกลัวว่าจะถูกซ้อมทรมาน พอออกมา มอบตัวเจ้าหน้าที่พาเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน กำนันประกันตัวก็ไม่ถูกจับ และไม่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานอย่างที่กังวลในตอนแรก” นายสาการียา กล่าวเพิ่มเติม
“ตอนที่หลบไปอยู่ที่บ้านภรรยา ลูกๆ ทั้ง 2 คนอยู่กับแม่ที่บาละ เราจะปลูกผักแล้วให้ภรรยาไปขาย เงินที่ได้มาก็พอกินไปวันๆ ไม่สามารถทำให้ครอบครัวสบายหรืออยู่ดีเหมือนคนอื่น แถมต้องหลบๆ เจ้าหน้าที่ด้วยความเป็นอยู่ลำบากมาก หากเทียบกับคนทั่วไป” นายสาการียา กล่าว
นายสาการียา กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ได้อยู่กับครอบครัว กรีดยางตอนเช้า สายๆไปตัดผมแถวอำเภอ ก็พอมีรายได้สามารถดูแลครอบครัวให้อยู่ดีกินดีกว่าตอนที่หลบหนี
รัฐให้ความมั่นใจ
พ.อ.ชลัช ศรีวิเชียร ผบ.ฉก.ทพ.47 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางการได้ดูแลเรื่องทั้งหมดที่กำนันขอให้แก่ผู้มอบตัว ทั้งเรื่องความปลอดภัย อาชีพ และการสร้างบ้านให้มั่นคง
“คิดว่าโครงการพาคนกลับบ้านดีมาก เป็นประโยชน์มาก เท่าที่เห็นคนที่เข้าร่วมโครงการ ทหารจะดูแลเป็นพิเศษ ที่สำคัญไม่ต้องติดคุก คือ สิ่งที่คนในขบวนการกลัวที่สุด เป็นคำถามแรกเขาจะถามคือ จะถูกจับไหม” นายยะฟาร์ กล่าว
ด้าน พ.อ.ชลัช กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่สำคัญเราสร้างความมั่นใจให้เขา โดยการบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะช่วยดูเรื่องกฎหมาย ดูเรื่องการต่อสู้ทางคดีให้กับเขา ก็ขอให้มั่นใจ ญาติพี่น้องของใคร ที่ยังมีอย่างลักษณะสาการียา แวกาจิ ขอให้มั่นใจในเจ้าหน้าที่”
นอกจากนี้ พ.อ.ชลัช กล่าวอีกว่า ทางการมีความประสงค์ที่จะเชิญ นูวา ปาเนาะ สมาชิกขบวนการในอำเภอกาบัง และสมาชิกขบวนการคนอื่นๆ ในตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา ให้มอบตัวและหันมาร่วมโครงการ
“อยากให้ทุกคน มีความมั่นใจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้ทำแบบนี้กับคนที่เข้าร่วมโครงการ พื้นที่อำเภอยะหา เป็นจุดกำหนดโครงการนี้ จนถึงตอนนี้ มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 200-300 คน ถือว่าได้ผลมาก จากทั้งหมดสามจังหวัดมีผู้เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 4 พันกว่าคน” พ.อ.ชลัช กล่าว
โครงการพาคนกลับบ้าน เริ่มเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 โดยเป็นอีกโครงการหนึ่งที่หนุนเสริมขบวนการพูดคุยกระบวนการสันติภาพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วัตถุประสงค์แรกเริ่มของโครงการ คือ ต้องการประชาสัมพันธ์ถึงแนวคิด ที่จะให้ผู้มีความเห็นต่างกับรัฐที่ยังคงหลบหนีอยู่ คือ หนึ่งกลุ่มที่มีหมาย ป.วิ อาญา สองผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีโอกาสกลับบ้าน เพื่อกลับมาประกอบศาสนกิจทางศาสนาในช่วงเดือนรอมฏอน ห้วงกลางเดือนหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่มา:http://www.benarnews.org/thai/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น