11/13/2557

‘ดอกไม้ที่หายไป’กับการเปลี่ยนแปลง ณ ทุ่งยางแดง

แบมะ ฟาตอนี

ไฟใต้ได้ลุกโชนมาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนค่ายปิเหล็ง กองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อต้นปี 47 ซึ่งเป็น จุดเริ่มต้นสร้างโจรใต้ เหตุการณ์ยังคงไม่มีทีท่าจะสงบลงสักที ยังคงมีการก่อเหตุมุ่งประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเป้าหมายอ่อนแอ

          พื้นที่อำเภอทุ่งยางแดงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการก่อเหตุของผู้ก่อความไม่สงบ เป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการค่อนข้างรุนแรง มีการก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน มีการลอบวางระเบิด ลอบวางเพลิงโรงเรียน สถานที่ราชการ จนเป็นที่มาของการเข้าไปแก้ปัญหาอย่างจริงๆ จัง ของหน่วยงานภาครัฐ กับโครงการต้นแบบทุ่งยางแดงโมเดล

          หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 ซึ่งในขณะนั้นเหตุการณ์กำลังปะทุ ความรุนแรงได้ขยายตัวเป็นวงกว้าง กลุ่มขบวนการมีการปฏิบัติการทุกรูปแบบเพื่อทำการกดดันเจ้าหน้าที่ รวมทั้งประชาชนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง โดยเฉพาะการกระทำต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก และสตรี ที่ไม่มีทางต่อสู้



          และ...แล้วสิ่งที่ทุกคนไม่ได้คาดคิด ดอกไม้ดอกแรก ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยก็ถูกเด็ดลง โดยฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 4 กันยายน 2550 สถานที่เกิดเหตุ บ้านปาแตปูเต๊ะ หมู่ที่ 2 ตำบลปากู อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

          คุณนิภาพร นาคทอง พัฒนาการอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี คือ ดอกไม้ดอกแรก เธอถูกคนร้าย 2 คน ประกบยิงด้วยอาวุธปืนสั้น ขนาด 9 มม. ขณะขับรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ สีบรอนซ์ รุ่น แอล 200 สีเขียว ป้ายทะเบียน ม-1137 ปัตตานี ซึ่งเป็นรถยนต์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ใช้ในการปฏิบัติงานในเขตพื้นที่รับผิดชอบ หลังทำการก่อเหตุคนร้ายได้ชิงรถยนต์คันดังกล่าวไปด้วย และภายหลังจากนั้นได้มีการแจ้งเตือนจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง ว่าคนร้ายอาจจะนำรถยนต์คันดังกล่าวไปประกอบระเบิดใช้ในการก่อเหตุในพื้นที่

          อย่ากลัว ถ้ากลัวก็ไม่ต้องทำงาน นี่คือคำพูดที่คุณนิภาพร นาคทอง จะบอกกับผู้ที่ใกล้ชิดและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ นับตั้งแต่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ต้นปี 47 และเหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้น แต่ด้วยพื้นฐานของความคิดว่าตนเอง คือ นักพัฒนา ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ยากให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้กระทั่งเวลาส่วนตัวเธอได้ทุ่มเทให้กับงานที่รับผิดชอบ และไม่เคยมีเรื่องบาดหมาง ไม่ได้มีพิษมีภัยกับใคร เป็นแค่ผู้หญิงตัวเล็กๆ ธรรมดาๆ คนหนึ่ง

          นักพัฒนา คือ นักบุญ คือ ผู้ให้ แต่ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับมาเข่นฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ทั้งๆ ที่นักพัฒนาอย่างคุณนิภาพร นาคทอง คอยช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจจะเป็นญาติพี่น้องของผู้ก่อเหตุเอง แต่ยังกระทำกันได้อย่างเลือดเย็น ไร้ความปราณี

          คุณนิภาพร นาคทอง เป็นข้าราชการที่เสียสละ อุทิศตนในการปฏิบัติงานโดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากและภัยอันตราย เธอเป็นต้นแบบของข้าราชการที่ดี ดั่งคำที่เธอได้เคยเอ๋ยกับผู้คนรอบข้างอยู่เนืองๆ ว่า อย่ากลัว ถ้ากลัวก็ไม่ต้องทำงาน นับได้ว่าเป็นการสูญเสียบุคลากรที่ทรงคุณค่าของประเทศชาติ ถึงแม้ว่า 7 ปีแล้วกับการจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แต่ประชาชนในพื้นที่ที่เคยได้รับการช่วยเหลือดูแลจากเธอ รวมทั้งผู้ใกล้ชิดยังไม่เคยลืมถึงคุณงามความดีที่เธอได้สร้างเอาไว้...หลับเถอะ..หลับให้สบาย..คนอยู่ข้างหลังจะจารึก..ดอกไม้ดอกนี้..ไว้ในความทรงจำตลอดไป..

          ความสูญเสียบุคลากรเจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์คงไม่สูญเปล่า หน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคงในพื้นที่ ได้นำแนวทางการแก้ปัญหาภายใต้ชื่อ ทุ่งยางแดงโมเดล ซึ่งหลายภาคส่วนเชื่อว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลตัวเอง หมู่บ้าน ชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในการเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อนำไปสู่สันติสุข…

หลายพื้นที่ได้มีการขับเคลื่อนให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการฝึกทบทวน ชรบ., อรบ. รวมพลังให้เกิดความรัก ความสามัคคี นำไปสู่การปฏิบัติงานร่วมกัน สนธิกำลังกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้การดูแลคุ้มครองประชาชน รวมทั้งครู นักเรียน ให้มีความปลอดภัยสูงสุด หลายพื้นที่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ออกมาเดินขบวนต่อต้าน และปฏิเสธความรุนแรงที่เกิดจากการกระทำของ ผกร. ซึ่งเป็นภาพที่น่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง คงอีกไม่นาน เมื่อแนวทางการแก้ปัญหาทุ่งยางแดงโมเดลผลิดอก ดอกผล คู่ขนานไปกับการพูดคุยสันติสุข ความมืดมิดที่ประชาชนโดนปิดหูปิดตาคงหมดไป แสงสว่างแห่งสันติภาพ..สันติสุขจะเกิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้อย่างแน่แท้...


-------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น