‘อิมรอน’
เช้าของวันพฤหัสบดีที่
5 ก.พ. ผู้เขียนยังไม่ทันได้ตื่นนอนลุกจากเตียง มีเสียงไลน์ดังขึ้นถี่ๆ รบกวนให้จำใจต้องตื่น
คิดในใจสงสัยจะเกิดเหตุร้ายขึ้นแต่เช้ามืดเลยรีบแหกขี้ตาดูข้อความ กลับพบภาพและข้อความข่าวจากการโพสต์เจ้าหน้าที่ตรวจพบการก่อกวนเชิงสัญลักษณ์ด้วยการแขวนป้ายผ้า
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสิ้น 19 จุด
ในแต่ละจังหวัดโดนกันถ้วนหน้าไม่ยอมน้อยหน้าซึ่งกันและกัน
ซึ่งการปฏิบัติการก่อกวนดังกล่าวของแนวร่วมโจรใต้ฟาตอนีแน่นอนย่อมมีการวางแผนมาอย่างดิบดีเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งในเชิงจิตสังคมวิทยา
สรุปตามข่าวมีการแขวนป้ายผ้าของกลุ่ม
ผกร. ในลักษณะการก่อกวนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น
11 อำเภอ 19 จุดด้วยกัน โดยพื้นที่จังหวัดยะลามีแขวนป้ายผ้า จำนวน 4 อำเภอ 9 จุด,
นราธิวาส จำนวน 2 อำเภอ 4 จุด และจังหวัดปัตตานีมีเหตุก่อกวน จำนวน 5 อำเภอ 6 จุด
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่ามีการใช้ป้ายผ้าสีขาวทั้งหมดซึ่งมีขนาด 1
เมตร x 2 เมตร เขียนด้วยข้อความภาษาอังกฤษ
“People
are in suffering because of losing human rights due to siamese colonization” แปลข้อความเป็นไทยว่า “ประชาชนต้องมีความเจ็บปวดเพราะการสูญเสียสิทธิมนุษยชนจากการครอบงำของอาณานิคมสยาม”
โดยในพื้นที่จังหวัดยะลา
และจังหวัดนราธิวาส จะมีการเขียนข้อความด้วย “สีแดง” ส่วนในจังหวัดปัตตานีจะมีการเขียนข้อความด้วย
“สีแดง” และ “สีดำ” ลักษณะการติดตั้ง มีการใช้เชือกฟางซึ่งสามารถนำไปผูกติดตามสถานที่ต่างๆ
ที่ประชาชนสัญจรผ่านไป-มา สามารถมองเห็นได้ได้โดยง่ายและชัดเจน
อีกทั้งยังพบว่าในบริเวณพื้นที่แขวนป้ายผ้าในแต่ละจุด จะไม่มีการติดตั้งกล้อง CCTV
จากการปฏิบัติการเชิงรุกของเจ้าหน้าที่รัฐในห้วงที่ผ่านมาได้สร้างความสูญเสียให้กับกลุ่มขบวนการหลายราย
และในส่วนที่สามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุรุนแรง
ผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อนำตัวมาทำการซักถามขยายผล
ได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึก และสามารถเชื่อมโยงไปยังสมาชิกรายอื่นๆ ที่เคยลงมือก่อเหตุ
เป็นการสลายโครงสร้างการจัดตั้งสมาชิกแนวร่วมไปได้บางส่วน ส่งผลให้สถานภาพและขีดความสามารถของกลุ่มขบวนการในปัจจุบันลดน้อยถอยลง
และเสียมวลชนในการสนับสนุนไปเป็นจำนวนมาก
ผู้ก่อเหตุรุนแรงจำเป็นต้องลงมือทำการก่อเหตุ
เพื่อแสดงศักยภาพของขบวนการ รวมถึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่มวลสมาชิกแนวร่วมให้มีความฮึกเหิม
ซึ่งจากการสูญเสียของ ผกร. หลายรายในห้วงที่ผ่านมา และจากความได้เปรียบจากนโยบายในการมีส่วนร่วมของกำลังภาคประชาชน
ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้นเนื่องจากมีมวลชนสนับสนุน สามารถแก้ปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วนนำมาซึ่งความร่วมมือในด้านต่างๆ
ดีขึ้นตามลำดับ จากการเพลี่ยงพล้ำเสียมวลชนของ ผกร. ไปจำนวนไม่น้อย ในระยะนี้ ผกร.
จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการก่อกวนเชิงสัญลักษณ์
หรือการปฏิบัติต่อเป้าหมายอ่อนแอมากกว่าการปฏิบัติทางทหาร
เนื่องจากสามารถปฏิบัติได้โดยง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ป้องกันได้ยากมาก
การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมซึ่งเป็นแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในห้วงที่ผ่านมาพบว่า
มีการขับเคลื่อนในหลากหลายรูปแบบ เช่นการใช้เว็บเพจเผยแพร่บทความเพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
หรือเผยแพร่ความสำเร็จของ ผกร. ในการต่อสู้
รวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวปาตานีรวมถึงกระบวนการยุติธรรมต่อชาวมลายู
เช่นกรณีศาลพิพากษายกฟ้องคดีคนร้ายยิงบุตรชาย 3 คน ของนายเจ๊ะมุ มะมัน เสียชีวิต
ซึ่งการก่อกวนด้วยการแขวนป้ายผ้าที่เกิดขึ้น อาจเนื่องมาจากมีความต้องการให้สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมของกลุ่มขบวนการในห้วงปัจจุบัน
การก่อกวนเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวของ ผกร. หากพิจารณาให้ถ้วนถี่และวิเคราะห์จากข้อมูลรอบด้านพบว่าน่าจะเป็นการกระทำของเยาวชนแนวร่วมรุ่นใหม่
เพื่อทำการทดสอบกำลังใจ โดยเฉพาะการก่อกวนเชิงสัญลักษณ์ รวมถึงการปฏิบัติต่อเป้าหมายอ่อนแอและกำลังภาคประชาชน
เพื่อสื่อให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนปาตานี ตลอดจนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนตามแนวทางการต่อสู้ด้านการเมืองของกลุ่มขบวนการ
ความน่าจะเป็นในการปฏิบัติของกลุ่ม
ผกร. ยังคงมีการปฏิบัติลักษณะดังกล่าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างความฮึกเหิม
สร้างขวัญกำลังใจอีกทั้งมีความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบการก่อเหตุไปสู่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย
ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ด้วย
เป็นการลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยต่อเวทีการพูดคุยดังกล่าว
การแขวนป้ายผ้าเขียนด้วยข้อความภาษาอังกฤษ
“People are in suffering because of losing human rights due to
siamese colonization” ของกลุ่ม ผกร.
บางคนอาจจะไม่ทันสังเกตหรือรู้สึกรู้สาอะไร
หรืออาจจะเป็นความชินชาที่มีการแขวนป้ายผ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับผู้เขียนแล้วกลับมองว่าการแขวนป้ายผ้าข้อความภาษาอังกฤษทั่ว
3 จชต. เมื่อ 5 ก.พ.58
นั้นไม่ปกติ ต้องมีนัยอะไรบางอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นอย่างแน่นอน
การแขวนป้ายผ้าข้อความแทบทุกครั้งที่ผ่านมาจะเป็นภาษามาเลย์
ภาษามลายูถิ่น และภาษาไทยบ้างประปราย แต่ในครั้งนี้กลับเป็นข้อความภาษาอังกฤษ
หรือโจรใต้ฟาตอนีอินเทรนต้อนรับการเข้าสู่เขตเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนในปีนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้
การตั้งข้อสังเกตของผู้เขียนต่อการแขวนป้ายผ้าข้อความภาษาอังกฤษมันมีเหตุและผล
น่าจะเกิดจากการวางแผนอันแยบยลของโจรใต้หัวใส ฉลาดแกมโกง
ซึ่งสมมติฐานดังกล่าวก็ได้รับการเฉลยเมื่อผู้เขียนได้ไปค้นหาข่าวกลับพบว่าว่าในระหว่างวันที่
3
- 5 ก.พ.58 นางเจนิเฟอร์ ฟอนลอน
เจ้าหน้าที่จากแผนกการเมืองของสถานทูต สหรัฐ และคณะฯ
ซึ่งรับผิดชอบการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. ของไทยมีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่
เมื่อ 3 ก.พ.58 นางเจนิเฟอร์ ฟอนลอน
เจ้าหน้าที่จากแผนกการเมืองของสถานทูต สหรัฐ และคณะฯ
พบปะกับตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และนายรอมฎอน
ปันจอร์ จากกลุ่ม Deep South Watch ที่อาคารเรือนรับรอง
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี
เมื่อ 4 ก.พ.58 คณะนางเจนิเฟอร์ฯ
ได้เข้าพบนายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต. โดยมีนางจันทร์เจ้า จันทร์ศิริ เจ้าหน้าที่แผนกการเมืองฯ สหรัฐ
สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเป็นตัวแทนพาเข้าพบ รองเลขาธิการ
ศอ.บต. ซึ่งสอดคล้องกับการแขวนป้ายผ้าข้อความที่เป็นภาษาอังกฤษของแนวร่วมโจรใต้ที่ต้องการสื่อไปยังต่างประเทศ
ความพยายามในการชี้นำองค์กรสิทธิมนุษยชนจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงที่ผ่านมา
ตั้งแต่ห้วงปลาย ม.ค.58 จนถึงปัจจุบัน มีองค์กรภาคประชาสังคมในอาเซียน
รวมถึงเจ้าหน้าที่จากสถานทูตของ สหรัฐ
ลงพื้นที่สำรวจสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและให้ความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสื่อที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชน
ซึ่งหากพิจารณาถึงข้อความในป้ายผ้าที่ใช้ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ
พิจารณาได้ว่ากลุ่มขบวนการมีความตั้งใจที่ต้องการสื่อเพื่อให้ข้อความดังกล่าวเผยแพร่เรื่องราวเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ประชาคมโลก
อาจมุ่งหวังทั้งในแง่การสนับสนุนงบประมาณรวมถึงแสวงประโยชน์สนับสนุนตามแนวทางในการต่อสู้
รัฐบาลไทยส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาไฟใต้ภายใต้ความขัดแย้งทางความคิด
การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทุกคนจะต้องปฏิบัติอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเหมือนกับชาวไทยทุกคน
อีกทั้งไม่ได้มีการครอบงำพี่น้องประชาชนมลายูปาตานีใดๆ เลย เพราะที่นี่คือผืนแผ่นดินไทยเป็นของพวกเราปวงชนชาวไทย
ทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยมีสิทธิเท่าเทียมกันตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ไม่มีใครกลืนกินวัฒนธรรมใคร เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความหลากหลายของพหุสังคม ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา
ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ เลย ทุกคนต่างยอมรับในวิถีชีวิตความต่างทางวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่สำคัญคือประชาชนชาวไทยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา
โจรใต้ฟาตอนีเคยถามใจพี่น้องประชาชนปาตานีเจ้าของพื้นที่ตัวจริงดูหรือยัง...ว่าใคร? กันแน่ที่ทำลายวัฒนธรรม ทำลายการอยู่ร่วมกันทางพหุสังคม ครอบงำทางความคิดของพี่น้องมลายูปาตานีมาโดยตลอด สร้างความแตกแยกในชุมชน ทำลายศาสนาของตัวเองด้วยการฆ่าผู้บริสุทธิ์, ฆ่าผู้หญิง, ฆ่าเด็ก แล้วมีการบิดเบือนกุขึ้นมาหลอกผู้คน...ว่าได้บุญ ไม่เป็นบาป
ซึ่งไม่มีแน่นอนในหลักคำสอนของทุกศาสนา ประชาชนปาตานีไม่เห็นด้วย
ไม่คล้อยตามกับแนวความคิดสุดขั้ว ชั่วสุดโต่งของกลุ่มขบวนการต่อไปอีกแล้ว....
----------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น