‘อิมรอน’
เหตุการณ์คนร้ายบุกเข้ายิงนายเจ๊ะมุ
มะมัน พร้อมครอบครัวขณะกลับจากมัสยิดทำให้ลูกชายเสียชีวิต 3 คน คือ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ 6 ปี, ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ 9 ปี และ ด.ช.มูยาเฮด มะมัน
อายุ 11 ปี ต้องสังเวยชีวิตให้กับคมกระสุน เมื่อค่ำคืนวันที่
3 กุมภาพันธ์ 2557
ทำให้เกิดการประณามที่พุ่งเป้าความสงสัยมายังเจ้าหน้าที่พร้อมเรียกร้องให้นำคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว
ต่อมาเมื่อวันที่
3 มีนาคม 2557 ครบรอบหนึ่งเดือนของการเกิดเหตุ
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้จำนวน
2 ราย คือ
อส.ทพ.มะมิง บินมามะ อายุ 22 ปี และ อส.ทพ.ซากือระ เจ๊ะแซ
อายุ 25 ปี บุคคลทั้งสองสังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับที่ จ.77 และ 78/2557 ลงวันที่ 1 มี.ค.57
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
และผู้ต้องหาได้ให้การยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุทำไปเพื่อเป็นการล้างแค้นจากเรื่องส่วนตัว
(เนื่องจากปักใจเชื่อว่านายเจ๊ะมุฯ เป็นผู้ลงมือฆ่าพี่ชายของตนเองเสียชีวิต
และพี่สะใภ้ขณะกำลังตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน) และยังให้การต่อไปอีกว่าการกระทำในครั้งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
กับหน่วยงานภาครัฐที่ตนเองสังกัดเป็นทหารพรานอยู่
ภายหลังถูกจับกุมทหารพรานทั้งสองถูกปลดออกจากราชการ
จึงกลายเป็น“อดีตทหารพราน”และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
จึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสตลอดมา จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.58 หรือราว 11
เดือนหลังถูกจับกุมศาลจึงมีคำพิพากษา“ยกฟ้อง”
เหตุผลที่ศาลยกฟ้อง
คือ “ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าบุคคลทั้งสองเป็นคนฆ่า มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น
ส่วนภรรยาของผู้เสียหาย คือ น.ส.พาดีละ แมยู
ก็ไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้ก่อเหตุได้”
นั่นคือกระบวนการยุติธรรมในการนำผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษ
แต่เป็นเพราะมูลเหตุศาลมีอันต้องยกฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองสืบเนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานถึงแม้ผู้ต้องหาจะให้คำรับสารภาพก็ตามที
และด้วยเหตุนี้เองได้ส่งแรงกระเพื่อมขึ้นระลอกใหม่ของกลุ่มองค์กรแนวร่วม
โดยมีกลุ่มนักศึกษา PerMAS
เป็นตัวตั้งตัวตีมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้งประกาศให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันเชิงสัญลักษณ์“วันมนุษยธรรมปาตานี”
อดีตสองทหารพรานฆ่า
3 ศพ‘ครอบครัวมะมัน’มหากาพย์ฆาตกรรมต่อเนื่องไทยพุทธในเวลาต่อมา
กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้อาศัยสถานการณ์ดังกล่าวแอบอ้างสร้างความชอบธรรมในการเข่นฆ่าผู้คนอย่างโหดเหี้ยมด้วยการสั่งสมาชิกแนวร่วมฆ่าแล้วจุดไฟเผาชาวไทยพุทธ
ยิงพระและประชาชนที่มารอตักบาตรในยามเช้า แล้วมีการวางใบปลิวเป็นการแก้แค้นให้กับครอบครัวเจ๊ะมุฯ รวม 6 ชีวิตต้องสังเวยกับความชั่วร้ายของโจรใต้ฟาตอนีในครั้งนั้น ผู้เขียนขอรื้อฟื้นความทรงจำให้กับผู้อ่านถึงแม้จะหดหู่ใจต่อการกระทำดังกล่าวแต่เพื่อเป็นข้อมูลย้ำเตือนช่วยกันตัดสินว่าการที่กลุ่ม
PerMAS ออกมาประกาศให้วันที่
3 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น ‘วันมนุษยธรรมปาตานี’ มันสมควรแล้วหรือ?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่
9 ก.พ.57 ถัดจากวันเกิดเหตุกับครอบครัวมะมันได้หกวัน
นางเบญจพร เกื้อทุ่ง ซึ่งมีสามีเป็นตำรวจถูกคนร้ายลอบยิงและจุดไฟเผากลางตลาดนัด
เหตุเกิดในพื้นที่ ต.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี คนร้ายทิ้งข้อความไว้ว่า “นี่คือรางวัลของ 3
พี่น้องที่พวกมึงฆ่าและพวกกูจะฆ่าพวกมึงต่อไป ตราบใดที่พวกมึงยังอยู่ในแผ่นดินกู”
อีกวันวันต่อมา
นางสาวศยามล แซ่ลิ้ม พนักงานธนาคารกรุงเทพ สาขาปัตตานี ถูกดักยิงบนถนนสายหลักในอำเภอเดียวกัน
ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อกลับบ้าน ร่างของเธอถูกเผาพร้อมกับมีใบปลิวทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า“ถึง ผบ.ทบ.นี่ไม่ใช่ศพสุดท้ายสำหรับ 3 พี่น้อง”
และที่หนักที่สุดคือเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้กราดยิงชาวไทยพุทธขณะกำลังตักบาตร ส่งผลให้พระสงฆ์มรณภาพทันที
และมีประชาชนเสียชีวิตรวม 4 รายด้วยกัน และได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 ราย เหตุเกิดในพื้นที่สามแยกบ้านใหม่
ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี จากเหตุดังกล่าวได้สร้างความหวาดระแวงระหว่างชาวไทยพุทธ-มุสลิม
และระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่อีกทั้งยังมีการปล่อยใบปลิวพร้อมข่าวลือที่เตือนให้คนมุสลิมระวังเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมจะทำร้ายคนมุสลิมกระจายไปทั่ว
ทำให้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและความหวาดระแวงปกคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนั้น
การกราดยิงพระและพุทธศาสนิกชนที่มาตักบาตรจนกระทั่งมีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหลายรายลักษณะการก่อเหตุมีความคล้ายคลึงกับสองเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น
มีหลักฐานชี้ชัดว่าได้มีการราดน้ำมันเตรียมจุดไฟเผาพระสงฆ์และชาวบ้านที่เสียชีวิตเช่นกัน
แต่ถูกยิงตอบโต้ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจึงต้องถอยหนีไปก่อน
การฆาตกรรมในลักษณะนี้จึงมิได้เป็นเพียงการหมายเอาชีวิต
แต่ต้องการสร้างให้เกิดความสะพรึงกลัวอีกด้วย
การปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อเหตุในการสร้างความแตกแยกและโยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่
น่าจะเป็นสูตรสำเร็จที่นำมาใช้ได้ผลแทบทุกครั้ง
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ยิงครอบครัวนายเจ๊ะมุฯ
ซึ่งขบวนการแนวร่วมได้มีการโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่
เนื่องจากเป้าหมายเป็นคนมุสลิม
และคนร้ายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธสงครามอีกทั้งการก่อเหตุอย่างโหดเหี้ยมราวกับต้องการฆ่าล้างครอบครัวซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก
ย้อนรอยอดีตเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเห็นว่ามีหลายๆ
ครั้งด้วยกันที่การก่อเหตุมีลักษณะโหดเหี้ยมเช่นนี้
โดยในระยะเริ่มแรกจะพบเห็นบ่อยมากที่สุด คือการฆ่าเชือดคอ
หรือฆ่าแล้วราดน้ำมันจุดไฟเผา และที่น่าสลดใจมากที่สุดคือเหตุการณ์ที่วัดพรหมประสิทธิ์
อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ทำให้มีพระมรณภาพ 1 รูป
พร้อมเด็กวัด 2 คนเสียชีวิต และอีกหลายๆ หลายเหตุการณ์
ซึ่งล้วนเป็นฝีมือของกลุ่มก่อเหตุรุนแรงอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องสงสัย
เพราะคนร้ายทิ้งใบปลิวระบุการกระทำเกือบทุกครั้ง
ซึ่งต่อมาได้รับการเปิดเผยจากผู้ที่อยู่ในขบวนและออกมารายงานตัวต่อทางการว่า
“ความโหดเหี้ยมคือแผนการที่ต้องการสร้างให้เกิดความหวาดกลัว
และกดดันให้ประชาชนอยู่ภายใต้อำนาจ และต้องการสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชน
จึงจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางโดยไม่เลือกเป้าหมายไม่ว่าไทยพุทธและมุสลิม”
นอกจากนี้ผู้ลงมือปฏิบัติเองก็ไม่อาจละเว้นเมื่อเป็นคำสั่งเพราะคนเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้กฎของการซุมเปาะห์
ในการเข้าร่วมกับขบวนการ
นอกจากกฎของการซุมเปาะห์แล้ว
ผู้ที่ออกมารายงานตัวยังได้เปิดเผยอีกว่า ผู้ก่อเหตุหรือที่ว่า“นักรบญิฮาด” ยังได้รับการบ่มเพาะอุดมการณ์ปลูกฝังความรู้ที่ผิดๆ
ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม และนำเรื่องการ “ญิฮาด”มาแปลความหมายว่าเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน
ซึ่งหมายรวมถึงการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์
รวมทั้งข้าราชการทั้งไทยพุทธและมุสลิมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ทรยศ
เรื่องนี้สอดคล้องกับเอกสารการปลุกระดม“เบอร์ญิฮาดดิปัตตานี”
หรือการ “การต่อสู้ในทางศาสนาที่ปัตตานี”
ที่ค้นพบจากตัวผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเมื่อปี
2547 ซึ่งเป็นเอกสารการปลุกจิตสำนึกการต่อสู้
โดยนำหลักศาสนามาบิดเบือน แก้ไข เพิ่มเติมข้อความเพื่อให้เกิดการก่อเหตุที่รุนแรง
โหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม แม้กระทั่งบิดามารดา เอกสารฉบับนี้ยังระบุว่าสามารถฆ่าได้
ดังข้อความที่ปรากฏในวรรคหนึ่งมีใจความสรุปได้ว่า “อย่าได้เอาบิดามารดามาเป็นผู้นำ
ถ้าเขาหันเหออกจากความศรัทธา เพราะการเป็นบิดามารดาเป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น แต่ในนามธรรมนั้นผู้ที่หันเหและทรยศนั้นไม่ได้เป็นคนของกลุ่มเราอีกต่อไป
ศัตรูที่ยิ่งใหญ่ของผู้ศรัทธาคือผู้ทรยศ และจงฆ่าพวกเขาเสีย”
นี่คือคำตอบว่าทำไมกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงได้กระทำการอันโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ นับเป็นการบิดเบือนที่อันตรายต่อสังคม
และเป็นการทำลายศาสนาอย่างไม่น่าให้อภัย แม้ว่าสำนักจุฬาราชมนตรี
ได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จในเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่กลุ่มก่อเหตุยังคงนำมาใช้ ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่โหดร้าย
อย่างไม่คาดคิดเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่ตกเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ
ถูกเจ้าหน้าที่กดดันจากการติดตามจับกุมอย่างหนัก อย่างเช่นการยึดเทือกเขาบูโด
ซึ่งทำให้กลุ่มก่อเหตุไม่สามารถใช้เป็นที่หลบซ่อนต่อไปได้อีก และกรณีการขยายผลปิดล้อมเทือกเขาตะเว
ค้นพบค่ายพักและที่ซ่อนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากทำให้กลุ่มก่อเหตุต้องเสียฐานที่มั่นแหล่งสำคัญๆ
เกือบจนหมดสิ้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนที่หลบซ่อนตัวเข้ามาอยู่ปะปนกับประชาชนในหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่ยืนยันถึงเรื่องดังกล่าวอีกประการหนึ่งคือ
ใบปลิวที่มีข้อความเตือนคนมุสลิมให้ระวังจากเจ้าหน้าที่
ที่มีพฤติกรรมจะทำร้ายมุสลิม
ซึ่งระบุในตอนท้ายว่าพร้อมที่ช่วยเหลือปกป้องคนมุสลิมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้เพื่อที่กลุ่มก่อเหตุที่สูญเสียฐานที่มั่นจากเทือกเขา
จะได้กลับเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านเป็นที่หลบซ่อนตัว
โดยประชาชนที่หลงเชื่อข่าวลือคอยอำนวยความสะดวกและให้ที่หลบซ่อน
และยังสอดคล้องกับความพยายามในการก่อเหตุที่รุนแรงเพื่อโหมไฟแห่งความแตกแยก
ความหวาดระแวง อันเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกลุ่มขบวนการในการใช้โล่ประชาชนเป็นที่กำบังในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ…นี่คือจุดยืนของ “นักรบฟาตอนี” ที่กลุ่มขบวนการยกย่องนักหนาแต่เอาเข้าจริงๆ “เป็นแค่นักรบขี้ขลาดตาขาว
ใช้ยาเสพติดในการย้อมใจตนเองในการก่อเหตุ คอยแว้งกัดทีเผลอต่อเจ้าหน้าที่
ไม่กล้าสู้ซึ่งๆ หน้า.....”
-------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น