9/01/2557

มาเลย์ กลัวก่อการร้ายไอซิส เลยหันมายอมพูดคุยเรื่องดับไฟใต้กับไทย

"ความเปราะบางของสถานการณ์ที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มนิยมไอซิส อาจกดดันให้มาเลเซียจำเป็นต้องร่วมมือทางการข่าวและการทหารกับไทยมากขึ้นเพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของกลุ่มหัวรุนแรงนี้ และน่าจะทำให้ฝ่ายไทยมีแต้มต่อมากกว่าเดิมในการเจรจาเรื่องกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ของไทย"

จับตา คสช.รุกพูดคุยดับไฟใต้ กระแส "ไอซิส" กดดันมาเลย์เข้าทางไทย? 
          เริ่มมีความคืบหน้าเป็นระยะสำหรับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเรียกสั้นๆ ว่า "พูดคุยดับไฟใต้" ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
          คนใจร้อนอาจจะวิจารณ์ว่าทำไมเรื่องนี้ คสช.ดำเนินการช้าเหลือเกิน แต่ถ้าจะตอบแทนคนใน คสช. ก็ต้องบอกว่า งานนี้เป็นงานด้านความมั่นคงระดับประเทศ ความสำคัญถึงขั้นมี "ดินแดนปลายด้ามขวาน" เป็นเดิมพัน ฉะนั้น คสช.จึงต้องรอบคอบเป็นพิเศษ จะให้โฉ่งฉ่างแบบจัดระเบียบรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์คงไม่ได้
สาระสำคัญ ณ ขณะนี้ นอกจาก "แผนงาน" ที่นำเสนอโครงสร้างองค์กรผู้รับผิดชอบกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข 3 ระดับ รอการอนุมัติจาก นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ได้นำเสนอไปแล้ว ยังมีประเด็นน่าสนใจและท้าทายอยู่อีก 2 ประเด็น กล่าวคือ
          1.ข้อเสนอของทางการไทยที่ต้องการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย (facilitator) จาก ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของสำนักข่าวกรองมาเลเซีย เป็นคนจากฝ่ายทหารแทน
          2.ท่าทีของฝ่ายมาเลเซีย ทั้งต่อข้อเสนอของไทย และต่อกระบวนการพูดคุยในภาพรวม
สองประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก โดยการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกนั้น ฝ่ายไทยให้เหตุผลว่าขณะนี้กองทัพและคนของกองทัพเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยมากขึ้น หากผู้อำนวยความสะดวกเป็นฝ่ายทหาร ก็จะทำให้การประสานงานง่ายกว่าเดิม
          ข่าวว่ากองทัพไทยกับกองทัพมาเลเซียค่อนข้างสนิทแนบแน่นและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผิดกับสำนักข่าวกรอง และสันติบาลของมาเลเซียที่อิงกับการเมือง จึงมีลูกล่อลูกชนเยอะกว่า และมีท่าทีเคลื่อนไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองมากกว่า
          ที่สำคัญ สันติบาลของมาเลเซียรู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบและขบวนการแบ่งแยกดินแดนจากฝั่งไทยที่หลบหนีข้ามไปฝังตัวในฝั่งมาเลเซียเยอะมาก บางพื้นที่เชื่อกันว่าหน่วยข่าวของทางการหน่วยนี้ให้ความคุ้มครองคนของขบวนการด้วยซ้ำไป!
          อย่างไรก็ดี จากจุดแข็งของสันติบาล และสำนักข่าวกรองมาเลเซียดังกล่าว หากมองในมิติการเมืองแล้วย่อมเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลมาเลเซียจะยอมเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก เพราะเท่ากับเป็นการลดบทบาทของ 2 หน่วยงานที่ทรงอิทธิพลในมาเลย์ และยังเสมือนหนึ่งเป็นการลดอำนาจต่อรองของตัวเองลงด้วย
แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะหมดหวังเสียทีเดียว เพราะสถานการณ์ด้านความมั่นคงในมาเลเซีย (รวมถึงอินโดนีเซีย) กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังจากการถือกำเนิดของ "กลุ่มไอซิส" หรือ "กลุ่มรัฐอิสลาม" (Islamic State) และเปิดปฏิบัติการยึดพื้นที่ต่างๆ ในอิรักและซีเรีย เพื่อตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ที่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตกาล
แนวคิดการตั้งรัฐอิสลามกระจายมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ 2 ประเทศอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีรายงานหลายต่อหลายครั้งว่าวัยรุ่นมุสลิมจาก 2 ประเทศนี้เดินทางไปร่วมรบในซีเรีย อิรัก และอาจรวมถึงลิเบีย
          ขณะเดียวกันก็มีข่าวเป็นระยะว่า มีการจับกุมบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ตั้งขบวนการเคลื่อนไหวคล้ายๆ กับไอซิส โดยเฉพาะในมาเลเซีย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการก่อวินาศกรรม เพราะเชื่อกันว่ากลุ่มเหล่านี้บางกลุ่มนิยมใช้ยุทธวิธีก่อการร้าย
          ความเปราะบางของสถานการณ์ที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มนิยมไอซิส อาจกดดันให้มาเลเซียจำเป็นต้องร่วมมือทางการข่าวและการทหารกับไทยมากขึ้นเพื่อหยุดยั้งการขยายตัวของกลุ่มหัวรุนแรงนี้ และน่าจะทำให้ฝ่ายไทยมีแต้มต่อมากกว่าเดิมในการเจรจาเรื่องกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ของไทย
          หากแนวโน้มเป็นเช่นนั้น ข้อเสนออาจไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก แต่ยังโยงไปถึงการล้มข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่คาอยู่ด้วย โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในยุคของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (ปี 2556) ได้ตอบเอกสาร 5 ข้อเรียกร้องไปว่า รับทราบและพร้อมพูดคุยในรายละเอียดต่อไป
          แต่ท่าทีของ คสช. หรือพูดตรงๆ ก็คือฝ่ายทหาร อยากให้ล้ม 5 ข้อเรียกร้อง เพราะมีการระบุถึง "เขตปกครองพิเศษ" ซึ่งสวนทางกับจุดยืนของ คสช.ที่ส่งสัญญาณออกมาตั้งแต่หลังการยึดอำนาจ
"การพูดคุยสมัย พล.ท.ภราดร จากการประสานงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีบทสรุปง่ายๆ เตรียมไว้ให้จบด้วยเขตปกครองพิเศษ แล้วให้คณะพูดคุยไปคุยกัน โดยทำให้ดูเหมือนว่าข้อยุติเกิดจากการพูดคุย ทั้งๆ ที่มีธงไว้ตั้งแต่แรก ฝ่ายกองทัพจึงแสดงท่าทีชัดว่าไม่เห็นด้วย"
          "ฉะนั้นการพูดคุยรอบใหม่ เราควรเป็นฝ่ายกำหนดทิศทางบ้าง จุดเปลี่ยนอยู่ที่การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกเป็นทหาร และถ้าทหารของสองประเทศได้คุยกัน ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งอาจหมายถึงบีอาร์เอ็นก็จะเป็นฝ่ายตั้งรับบ้าง" แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงระบุ และว่าจากข้อมูลด้านการข่าว มีแนวโน้มว่ามาเลเซียอาจยอมตามข้อเสนอของไทย
ด้านการเคลื่อนไหวของฝ่ายบีอาร์เอ็นค่อนข้างเงียบเชียบเหมือนกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่เงียบมาตลอดสัปดาห์ ข่าวว่ามีการพูดคุยถกเถียงกันเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องการพูดคุยสันติสุขของฝ่ายไทย
และไม่ค่อยพึงพอใจกับข่าวล้มเลิก 5 ข้อเรียกร้องเดิม!

ที่มา http://www.isranews.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น