9/26/2557

‘ตัวอ่อน’ แห่งสันติภาพ


แบมะ ฟาตอนี
 เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเกิดถี่กระชั้นมากขึ้นเพียงใด นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนปาตานีผู้บริสุทธิ์ ความน่าเชื่อถือของ ขบวนการ BRN ในการแอบอ้างกระทำการเพื่อประชาชนชาวปาตานี จะลดน้อยถอยลงตามไปด้วยหรือไม่นั้น ประชาชนในพื้นที่และสมาชิกแนวร่วมหลายคนที่กลับใจหันหลังให้กับขบวนการเท่านั้นที่กล้ายืนยัน

แต่ในขณะที่ระดับแกนนำกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติประชาชาติมลายูปัตตานี (BRN) กำลังปูแนวทางพูดคุยสันติภาพ (peace dialogue) รอบใหม่กับรัฐบาลไทย โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ผลลัพธ์ที่ผ่านมาในการควบคุมกองกำลังฝ่ายทหารในพื้นที่ช่วยยืนยันอย่างชัดแจ้งอีกครั้งว่า จุดยืนและแนวทางด้านการเมืองของกลุ่มนักรบเยาวชนรุ่นใหม่ ได้พัฒนาไปไกลเกินกว่าที่จะยอมตามการร้องขอจากสมาชิกผู้สูงวัย ฮัสซัน ตอยิบ แห่ง BRN

ทั้งนี้ หนังสือวิจัย เรื่อง สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วาทกรรมที่มีนัยยะทางศาสนา เขียนขึ้นเมื่อปี 2549 โดย ปัญญศักย์ โสภณวสุ ผู้ทำวิจัยโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ที่ในบางช่วงบางตอนของหนังสือวิจัย ได้หยิบยกคำพูดของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ซึ่งกล่าวไว้เมื่อ วันที่ 29 มิถุนายน 2548 ความว่า...ผู้คนในยุคของเขาเป็นพวกชาตินิยม อันเป็นแก่นแกนสำคัญของขบวนการในทศวรรษ 1970 แต่คนหนุ่มสาวปัตตานีในทุกวันนี้ ดูเหมือนจะผูกพันเข้ากับการเมืองเชิงวัฒนธรรม ที่มีพื้นฐานทางศาสนามากยิ่งขึ้นทุกที และการลุกฮือขึ้นต่อต้านจากบรรดามุสลิมทั่วโลก ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้รับแนวความคิดเชิงศาสนาเพิ่มมากขึ้น และเราก็เห็นพวกอิสลามิสต์ (ศาสนานำการต่อสู้) ทำงานกับพวกเนชั่นแนลลิสต์ (ชาตินิยม) ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกว่าเดิม

พูดอีกอย่าง คือลัทธิแบ่งแยกดินแดนในปัตตานี ที่แข็งแกร่งมากขึ้นในทุกวันนี้ เป็นเพราะการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดเรื่องศาสนา กับการเมืองเข้าด้วยกัน

ความเป็นจริงนี้ได้รับการยืนยันในการประชุมคณะกรรมการอิสระ เพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 โดยมีการระบุถึง ใบปลิวข่มขู่ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่มีไปยังผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองและแนวทางการต่อสู้ของนักรบรุ่นใหม่ ภายใต้หลักการ 6 ไม่ -1 ต้อง

6 ไม่ -1 ต้อง แท้จริงคือแก่นแกนสำคัญของเบอร์ญิฮาด ดี ปัตตานี (Berjihad di Patani) โดยหนังสือคู่มือนี้ถูกพบจากร่างไร้วิญญาณของ มามะ มะตีเยาะ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นองเลือดกรณี กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547

เป็นหนังสือคู่มือที่พูดถึง แรงดลใจและมิติทางด้านจิตวิญญาณในการทำสงครามญิฮาด อุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีทางการเมือง ในการต่อสู้เน้นหนักในเรื่องการ แยกมิตรแยกศัตรู และกล่าวถึงการนำ ระบอบ คีลาฟะฮฺ มาใช้ในการปกครองภายหลังการประกาศเอกราช (merdeka) โดยผู้นำสูงสุดแห่งรัฐต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกจาก สภาผู้มีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้นำ โดยสมาชิกแห่งสภานี้ต้องมาจากปราชญ์ด้านศาสนาอิสลาม จากสาย อิหม่าม ซาฟีอียฺ

หลักการนักรบรุ่นใหม่ BRN 6 ไม่ -1 ต้อง
ไม่ เจรจาประนีประนอมกับรัฐไทย
ไม่ ยอมรับระบบรัฐสภา
ไม่ รับเขตปกครองพิเศษ
ไม่ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
ไม่ โยกย้ายหนีไปไหน
ไม่ มอบตัว
และต้อง ทำสงคราม ญิฮาด เพื่อปลดปล่อยรัฐปัตตานี จากการยึดครองของสยาม ไม่ว่ามันจะใช้เวลายาวนานสักเพียงใดก็ตาม

เนื้อหาในหนังสือที่ระบุนี้ คือผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่กั้นขวางนักรบรุ่นใหม่ กับบรรดานักต่อสู้อาวุโสในอดีต และยังหมายรวมถึงทางการไทยด้วย

นั่นคือคำประกาศยืนยัน 6 ไม่ -1 ต้อง ที่นักรบรุ่นใหม่ที่โดนปลูกฝังและครอบงำแนวความคิดแบบผิดๆ จากระดับแกนนำ พวกเขาเหล่านั้นถูกวางกรอบให้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อเปิดฉากสงครามรอบใหม่ กับฝ่ายความมั่นคงของไทย กลุ่มนักรบเยาวชนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการทำสงคราม ญิฮาด จากการแปลความหมายในเนื้อหาคู่มือการรบเบอร์ญิฮาด ดี ปัตตานี ที่ผิดพลาด จนนำไปสู่การกระทำการก่อเหตุแบบสุดโต่ง ไม่แยกแยะเป้าหมาย

กลุ่มขบวนการใช้การบิดเบือนหลักศาสนาอิสลามและประวัติศาสตร์ปลุกระดมบ่มเพาะสร้างกระแสสงครามญีฮาดเพื่อสร้างแนวร่วมขบวนการรุ่นใหม่ และแนวร่วมมวลชนโดยอ้างว่า เป็นหน้าที่ของคนมลายูทุกคนต้องต่อสู้เพื่อแยกรัฐปัตตานี เป็นเอกราชถ้าใครไม่ปฏิบัติจะเป็นบาป

อย่างไรก็ดี กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพได้เริ่มขึ้นแล้วในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หญิงคนแรกของรัฐบาลไทย ท่ามกลางความฉงนของหลายฝ่ายแต่ได้หยุดชะงักไปไม่มีการสานต่อเนื่องจากปัญหาภายในทางการเมืองของรัฐบาลไทยเอง แต่เมื่อปัญหาคลี่คลายรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. ได้สั่งเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่กับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติประชาชาติมลายูปัตตานี (BRN) และยังคงไม่ล้มเลิกข้อเรียกร้อง 5 ข้อ BRN   

แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ขบวนการ BRN เรียกร้องต่อทางการไทยในเวทีการพูดคุยสันติภาพในครั้งที่ผ่านมานั้น เสมือนการยื้อเวลาและชิงความได้เปรียบโดยการเล่นนอกบทด้วยการประกาศจุดยืนผ่านสื่อ หากประเมินท่าทีและการคาดหวังของประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN เพิ่งให้กำเนิด ตัวอ่อนแห่งสันติภาพ ในครรภ์ของมารดาที่อ่อนแอ ปัญหา ณ เวลานี้คือการเยียวยาผู้เป็นมารดาให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ ด้วยการฟื้นความเชื่อมั่น ความไว้วางใจระหว่างกัน ต้องลดการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ หันมาแก้ปัญหาพื้นฐานอันเป็นที่มาของความยากจน ของผู้คน และส่งเสริมการศึกษาอย่างเป็นระบบอันจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่ความเข้าใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ถาวรต่อไป

**********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น