11/25/2559

ว่าด้วยเรื่อง การปลุกผีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ของ ‘หะยีสุหลง’

"Ibrahim"

โรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับจดหมายลึกลับส่งถึงผู้อำนวยการ เขียนให้เข้าใจได้ว่ามาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ชี้แจงสาเหตุของความจำเป็นที่ต้องต่อสู้ด้วยอาวุธ เพื่อให้ได้มาซึ่ง พื้นที่การต่อสู้ด้วยสันติวิธี
จดหมายดังกล่าวถูกใส่ซองปิดผนึก ส่งทางไปรษณีย์ ต้นทางจากไปรษณีย์ปาลัส อ.มายอ จ.ปัตตานี จ่าหน้าด้วยลายมือ เขียนด้วยปากกาเป็นภาษาไทย ส่วนตัวเนื้อจดหมายพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์เป็นภาษาไทย อ้างถึงจุดเริ่มต้นการต่อสู้ของชาวปาตานี ซึ่งเป็นการต่อสู้แบบสันติวิธีผ่านข้อเรียกร้อง  7 ข้อของหะยีสุหลง ลองมาไล่เรียงชำแหละเป็นข้อๆ กันดูเมื่อเวลาได้เปลี่ยนผ่าน 60 กว่าปีกับข้อเรียกร้องดังกล่าว
          ข้อ 1 ผู้ปกครองใน 4 จังหวัด คือ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูปัตตานี นับถือศาสนาอิสลาม จึงสมควรให้มีผู้ปกครองในพื้นที่ และได้รับเลือกจากคนในพื้นที่ โดยให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม และแต่งตั้งข้าราชการในพื้นที่
          ข้อเรียกร้องข้อ 1 การกระจายอำนาจการการปกครองจากส่วนกลางลงไปสู่ท้องถิ่น ปกติมีอยู่แล้วซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในรูปแบบของ อบจ.,อบต.และเทศบาล ส่วนการกระจายอำนาจในรูปแบบอื่นๆสามารถกระทำได้เช่นกัน แต่จะต้องเป็นรูปแบบการปกครองพิเศษ ดั่งเช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เพราะฉะนั้นการเปิดช่องทางดังกล่าวสามารถกระทำได้ แต่จะต้องขึ้นอยู่กับการพูดคุยหาทางออกของบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย ในการหามาตรการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาร่วมกัน
          ข้อ 2 ให้ข้าราชการใน 4 จังหวัด เป็นคนในพื้นที่ ร้อยละ 80%
          ข้อเรียกร้องข้อ 2 ในปัจจุบัน ในพื้นที่ชนบทจะมีพี่น้องไทยมุสลิมอาศัยอยู่ 100% การอยู่ร่วมแบบสังคมพหุวัฒนธรรมจะมีแต่ในเขตชุมชนเมือง หัวเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น ส่วนข้าราชการที่เป็นพี่น้องมุสลิมลองไปไล่เรียงตัวดู ข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้กำกับสถานีตำรวจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดล้วนแล้วเป็นพี่น้องมุสลิม ครูบาอาจารย์ในพื้นที่ชนบทหลายๆ  แห่ง หลายโรงเรียนไม่หลงเหลือคนไทยพุทธอยู่เลย รวมถึงข้าราชการทหารที่เป็นคนไทยมุสลิมสามารถก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งคุมกองทัพของประเทศได้ อย่างเช่น พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
          ข้อ 3 ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ ควบคู่ไปกับภาษาไทย
          ข้อ 4 ให้มีการใช้ภาษามลายู ควบคู่กับภาษาไทยเป็นสื่อ ในการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา
          ข้อเรียกร้องข้อ 3 ข้อ 4 การเปิดกว้างในเรื่องภาษามลายู รัฐบาลสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องคงความเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ไว้ ในปัจจุบันข้าราชการส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นคนไทยมุสลิม การใช้ภาษาในการติดต่อราชการที่ได้สัมผัสมาแทบไม่ค่อยได้ยินภาษาไทยเลย นอกจากนั้นรัฐยังให้ความสำคัญในเรื่องของภาษาไม่ว่าสถานที่ราชการ ป้ายบอกทาง ชื่อถนนหนทางต่างๆ จะมีถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย จีน อังกฤษ และภาษามลายู มีสถานีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศภาคภาษามลายู รวมทั้งได้มีการอนุมัติงบประมาณในการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ออกอากาศเป็นภาษามลายูซึ่งได้มีการเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
          ข้อ 5 ให้มีศาลพิจารณาคดีตามกฎหมายอิสลาม เพื่อแยกขาดจากศาลยุติธรรมของทางราชการ โดยให้ดาโต๊ะยุติธรรม มีเสรีในการพิพากษาชี้ขาด
          ข้อเรียกร้องข้อ 5 ไม่ขอออกความเห็นเป็นเรื่องของกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประชาชนทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มีความเท่าเทียมกัน
          ข้อ 6 ภาษีและรายได้ที่จัดเก็บได้ในพื้นที่ 4 จังหวัด ให้ใช้ในพื้นที่ 4 จังหวัดเท่านั้น
          ข้อเรียกร้องข้อ 6 เวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา กับความจริงในปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการอนุมัติงบประมาณตามโครงการต่างๆ เยอะแยะมากมาย เม็ดเงินงบประมาณที่ลงมามากกว่าเงินภาษีที่จัดเก็บได้ในพื้นที่แห่งนี้หลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจเมืองต้นแบบ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โครงการปรับปรุงถนน 37 เส้นทางซึ่งหากเป็นจังหวัดอื่นๆ ยังคงต้องรองบประมาณกว่าจะดำเนินก่อสร้างได้
          ข้อ 7 ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีอำนาจในการออกกฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางศาสนา โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจตามข้อ 1
          ข้อเรียกร้องข้อ 7 บทบาทของผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน อำนาจในการออกกฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางศาสนา มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัดอยู่แล้วในการขับเคลื่อน โดยไม่แย้งกับ กฎ ข้อระเบียบของสำนักจุฬาราชมนตรีที่ดูแลพี่น้องชาวไทยมุสลิมในภาพรวมทั้งประเทศ
สำหรับข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง เวลาได้ผ่านมา 60 กว่าปีแล้ว หากเปรียบเทียบกับชีวิตของคนวัยทำงาน เปรียบได้กับข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หากเรามองด้วยใจเป็นกลางถึง   ข้อเรียกร้อง 7 ข้อในปัจจุบันนี้ บางข้อในอดีตอาจจะไม่มีหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมยิ่งกว่าภูมิภาคอื่นๆ เสียอีก
ส่วนเนื้อความในจดหมายอ้างว่าการต่อสู้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน โดยเหล่านักต่อสู้เพื่ออิสรภาพปาตานี ซึ่งมีบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรนำ จำเป็นต้องต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อให้ได้มาซึ่ง พื้นที่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีโดยบีอาร์เอ็นเน้นย้ำว่าจะไม่โจมตีเป้าหมายพลเรือน แต่สาเหตุที่ยังมีการโจมตีอยู่ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ส่วนการต่อสู้ด้วยอาวุธจะยุติลงเมื่อใด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยว่าจะเปิดพื้นที่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีให้เมื่อใด?
ในส่วนนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริง อ้างความชอบธรรมในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มา พื้นที่การต่อสู้ด้วยสันติวิธี ไม่โจมตีเป้าหมายพลเรือน
แล้วเสียงปืน เสียงระเบิดตูมๆ อย่างเช่นระเบิดคาร์บอมบ์น้ำหนัก 200 กิโลกรัม ที่บริเวณหน้าสหกรณ์รวมพลังในหมู่บ้านปิยา ม 3 ต ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ ปัตตานี เมื่อวันที่ 18 พ.ย.59 นี่หรือ? ไม่โจมตีเป้าหมายพลเรือน
หลายๆ เหตุการณ์ยังมีการโฆษณาชวนเชื่อบิดเบือนความจริงกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด เพราะกลุ่มขบวนการไม่เคยกล้าที่ประกาศรับผิดชอบใดๆ ต่อการกระทำ
อีกทั้งยังกล่าวอ้างการก่อเหตุจยุติลงเมื่อได้ ขึ้นอยู่กับรัฐไทยว่าจะเปิดพื้นที่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีให้เมื่อใด แล้วการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยของรัฐบาลในปัจจุบันกับผู้คิดต่างจากรัฐ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่การเปิดพื้นที่การพูดคุยหรอกหรือ?
การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขบวนการ เพื่อเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น โปรดใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูลข่าวสาร อย่าหลงกลตกเป็นเครื่องมือ แนวร่วมมุมกลับ  ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โปรดคิดแยกแยะ "ตั้งสติ" สอนใจ ก่อนโพสต์-ก่อนแชร์อะไร..? ควรคิดทบทวน-ไตร่ตรอง "ของแท้ของเทียม"
ขณะที่แม่ทัพนายกองอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ก็ยังไม่มีน้ำยาในการแก้ไขปัญหาการบิดเบือนเรื่องแบบนี้ นานๆ จะเห็นออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งก็ทำได้แค่เพียงการ PR มากกว่าจะสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่ ได้เข้าใจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างแท้จริง  การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขบวนการจึงเป็นโจทย์แรกๆ ที่รัฐจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น